ผักตบชวาเข้าตานักวิจัยแคลิฟอร์เนีย เล็งแปรเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง จับมือ วว. ร่วมพัฒนาเทคนิคการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล เน้นใช้ของเหลือทิ้งทางเกษตรเป็นวัตถุดิบหลัก หวังอีก 3 ปี มีโรงงานต้นแบบในไทย ช่วยเพิ่มมูลค่าขยะเกษตร ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล และเกิดความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ หรือ ยูซีอาร์ (The University of California Riverside: UCR) ประเทศสหรัฐอเมริกา ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ในการทำวิจัยและพัฒนาการผลิตน้ำมันดีเซลเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล เมื่อวันที่ 25 พ.ค.52 ที่ผ่านมา ณ วว. คลองห้า จ.ปทุมธานี โดยมีนายสุรพล วัฒนวงศ์ รักษาการผู้ว่าการ วว. ร่วมลงนามกับ ศาสตราจารย์โจเซฟ เอ็ม นอร์เบค (Prof.Joseph M. Norbeck) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมของยูอาร์ซี ซึ่งลงนามแทนอธิการบดีของยูซีอาร์
นายสุรพล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลา 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนนักวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัย องค์ความรู้ ระหว่างนักวิจัยของทั้งสองสถาบัน รวมทั้งพัฒนางานวิจัยร่วมกันในการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล ซึ่งการค้นพบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยร่วมกันนี้ ก็จะดำเนินการจดสิทธิบัตรร่วมกัน ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือครั้งนี้เป็นอย่างมาก ช่วยให้ไทยมีเทคโนโลยีใหม่เป็นของตัวเอง ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเกิดความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต
ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศูนย์ต้นแบบระบบผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล ที่ วว. จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ 2552-2555 ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อให้เป็นศูนย์สำหรับเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากชีวมวล
ด้าน รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องยนต์สันดาปภายใน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการบริหารโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลของทางยูซีอาร์นั้นเป็นเทคโนโลยีไฮโดรแก๊สซิฟิเคชัน (hydrogasification) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากๆ โดยเป็นการนำชีวมวลที่เป็นของแข็ง มาทำให้เป็นก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และก๊าซไฮโดรเจน โดยต้องควบคุมให้มีอัตราส่วนที่เหมาะสม จากนั้นนำก๊าซสังเคราะห์ดังกล่าวเข้าสู่เตาปฏิกรณ์เพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ต่อไป ซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้ไม่ต่างจากน้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
เทคนิคในการทำน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ มีการใช้อยู่แล้วในบริษัทผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ แต่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ และการทำแก๊สซิฟิเคชันจากชีวมวล โดยปกติแล้วจะต้องใช้ชีวมวลที่แห้ง ปราศจากน้ำและความชื้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งของเทคนิคดังกล่าว แต่ไฮโดรแก๊สซิฟิเคชันนั้นสามารถใช้กับชีวมวลที่ไม่ต้องแห้งได้ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการทำให้ชีวมวลแห้งก่อนนำมาใช้ได้ และในประเทศไทยก็มีชีวมวลเหล่านี้เป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะ ผักตบชวา ซึ่งศาสตราจารย์นอร์เบคเห็นว่า เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วย จึงสนใจจะนำมาศึกษาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทำน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษทางน้ำได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังมีชีวมวลอื่นๆ อีกที่จะนำมาศึกษาด้วย เช่น ขี้เลื่อย ชานอ้อย ฟางข้าว กะลาปาล์ม ซังข้าวโพด และน้ำเสีย เป็นต้น รวมถึงสาหร่ายที่ วว. กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้
ส่วนเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชัน ที่มีการทำอยู่บ้างแล้วในประเทศไทยนั้นเป็นการเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นก๊าซสังเคราะห์ และใช้ในทันทีในรูปแบบของพลังงานความร้อน หรือใช้การผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งยังต้องใช้ชีวมวลที่แห้ง และพลังงานที่ได้ในรูปนี้ยังไม่สามารถเก็บสะสมไว้ได้ ในขณะที่หากเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจะสามารถเก็บพลังงานไว้ในรูปแบบดังกล่าวและสามารถขนย้ายไปยังที่ต่างๆได้
ทั้งนี้ ดร.สุทธิพร ชีวสาธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีพลังงาน วว. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ขณะนี้ วว. ได้ส่งนักวิจัยไปเรียนรู้เทคโนโลยีดังกล่าวที่ยูซีอาร์แล้วจำนวน 2 คน และทางยูซีอาร์ก็จะส่งนักวิจัยมาร่วมทำวิจัยและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้วยที่ประเทศไทย โดยจะมีการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลขนาดทดลองที่ วว. ในเร็วๆ นี้
หลังจากเสร็จสิ้นโครงการวิจัยร่วมกันนี้ เราจะได้ข้อมูลถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีนี้ในประเทศไทยว่าชีวมวลใดเหมาะสมมากที่สุด และข้อมูลความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีโรงงานต้นแบบเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย.