จริงอยู่ที่ว่าโลกเราประกอบด้วยน้ำถึง 97% แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็ม และมีน้ำจืดเพียงแค่ 3% อีกทั้ง 3 ใน 4 ของจำนวนนี้ ก็เป็นน้ำแข็งที่ขั้วโลก ซึ่งน้ำที่มนุษย์เราบริโภคได้จริงนั้น มีอยู่เพียงน้อยนิดของสัดส่วนน้ำทั้งโลก
ทว่าแหล่งทรัพยากรเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ กลับถูกมนุษย์ทำลายลงทุกขณะ ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกที่ปัจจุบันมีมากกว่า 6.5 พันล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ในช่วงประมาณปี ค.ศ.2050
นั่นหมายความว่า จะมีความต้องการน้ำจำนวนมหาศาล มากกว่าปริมาณน้ำที่จะจัดหาได้ในปัจจุบัน
ล่าสุดที่ประชุมสภาน้ำโลก (World Water Council : WWC) ชี้ว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีปัญหาน้ำอย่างรุนแรงนั้น คาดว่าจะสูงถึง 3.9 พันล้านคนในปี ค.ศ.2030 นับว่าเกือบครึ่งของประชากรทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ประสบปัญหาเหล่านี้จะอยู่ในจีน และเอเชียใต้
นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรีนพีซระบุถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางน้ำ 6 อันดับแรก คือ 1.ความลาดชันของพื้นที่ 2.โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษทางน้ำ 3.พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 4.ปริมาณการใช้สารเคมีเกษตร 5.ปริมาณสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และ 6.ความหนาแน่นประชากร
อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากกว่า 92.68% ของพื้นที่ทั้งหมด หากพิจารณารายภาคพบว่า ภาคตะวันออกมีสัดส่วนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมากที่สุดคือ 35.64% ของพื้นที่ทั้งหมด รองลงมาคือภาคกลาง 15.89% ส่วนจังหวัดที่มีเนื้อที่ความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำระดับสูงมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และสมุทรสาคร มีมากถึง 100% ของพื้นที่
ทั้งนี้ ประชากรไทยประมาณ 63 ล้านคน อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางน้ำระดับสูงถึง 4,440,049 คน ระดับปานกลางจำนวน 3,687,738 คน และระดับต่ำ จำนวน 1,178,816 คน โดยภาคกลางจะมีประชากรที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางน้ำระดับสูงมากที่สุด คือประมาณ 3 ล้านคน รองลงมาคือภาคเหนือ 626,839 คน ภาคตะวันออก จำนวน 363,668 คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 314,369 คน และภาคใต้ จำนวน 209,447 คน
สำหรับการป้องกันและแก้ปัญหา คือพยายามลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษทางน้ำ ปริมาณสารเคมีที่ใช้ในโรงงานและในการทำเกษตรกรรมให้จูงใจในการลดมลพิษ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด (Clean Production) รวมทั้งลดการทำลายแหล่งน้ำ อันเป็นสถานที่ก่อกำเนิดทรัพยากรที่สำคัญต่อชีวิต.