xs
xsm
sm
md
lg

"วัดทองทั่ว"แหล่งเรียนรู้โบราณสถาน "เมืองเพนียด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดทองทั่ว แหล่งเรียนรู้สำคัญของเมืองเพนียด
จันทบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับพันปี ตั้งแต่ก่อนที่เราจะรู้จักกันในนามเมืองจันทบูร อดีตหัวเมืองชายทะเลตะวันออกสมัยอยุธยาที่พระเจ้าตากสินมหาราชรวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราชคืนแก่ปวงชนชาวไทย สันนิษฐานว่าจันทบุรีเคยเป็น"เมืองเพนียด"มาก่อน

เมืองเพนียด มีชื่อปรากฏในพงศาวดารแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ 12 คือปลายสมัยฟูนันได้ค้นพบเมืองโบราณเก่าแก่ที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากอินเดียมากกว่า 1,000 ปี ชาวบ้านเรียกว่า เมืองเพนียด หรือเมืองกาไว โดยเชื่อกันว่าชุมชนแรกที่เริ่มเข้ามาก่อตั้งคือ ชุมชนชอง ตั้งอยู่บริเวณที่ราบชายเขาสระบาป
พระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรญเพ็ชญ์ หรือ หลวงพ่อทอง
เมืองเพนียด มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลียมผืนผ้า กำแพงก่อด้วยศิลาแลงขนาดกว้าง 16 ม. ยาว 26 ม. สูง 3 ม. ภายในเมืองมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และยังเชื่อว่า สถานที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นเมืองคล้องช้างหรือขังช้าง ต่อมาได้ย้ายเมืองมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านหัววัง ต.พุงทะลาย เมืองเพนียดจึงถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้าง แต่เนื่องจากเมืองพุงทะลายมีทำเลที่ไม่เหมาะมีน้ำท่วมเป็นประจำ จึงมีการย้ายเมืองไปยังบ้านลุ่ม ริมแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมืองในปัจจุบัน

มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับเมืองเพนียดว่า เมืองเพนียดมีพระเจ้าพรหมทัต เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองนคร พระมเหสีคือ พระนางจงพิพัฒน์ มีพระราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือ เจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาส ต่อมาพระนางจงพิพัฒน์ทรงสิ้นพระชนม์ลง พระนางกาไวจึงได้ทำเสน่ห์ให้พระเจ้าพรหมทัตหลงใหลและอภิเษกกัน จนพระนางได้ตั้งครรภ์จึงได้อ้อนวอนขอสิ่งที่พระนางปรารถนา พระเจ้าพรหมทัตจึงพลั้งพระโอษฐ์ให้
ผู้เฒ่าผู้แก่ร้องรำเพลงโบราณในโบราณสถานเมืองเพนียด
เมื่อพระนางได้ประสูติพระไวยทัต พระราชโอรส พระนางกาไวก็ได้ทูลขอพระราชสมบุติให้แก่พระไวยทัตตามที่เคยรับปากไว้ จึงทำให้เจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาส ต้องอพยพไปสร้างเมืองใหม่ทางเหนือของเมืองเพนียดในดินแดนเขมร เรียกว่า เมืองสามสิบ

ครั้นต่อมาพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต พระไวยทัตขึ้นครองราชย์สมบัติโดยมีพระนางกาไวเป็นผู้สำเร็จราชการแทน เมื่อเจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาสทราบข่าวจึงยกทัพมาตีเพื่อเอาพระนครคืน พระไวยทัตสู้ไม่ไหวจึงถอยทัพร่นกลับแต่ก็ถูกตีแตก พระไวยทัตถูกฟันคอสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง ตรงบริเวณเกาะทัพแตก ซึ่งเพียนมาเป็นเกาะตะแบกในปัจจุบัน

เมื่อพระนางกาไวทราบข่าวพระไวยทัตสิ้นพระชนม์ จึงได้ขนทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองออกมาโปรยหว่าน เพื่อล่อให้ข้าศึกเก็บ แต่ครั้นจะหนีก็เห็นว่าไม่มีทางรอด จึงดื่มยาพิษชื่อว่า ยามหาไวย สิ้นพระชนม์ในห้องบรรทม และสถานที่ที่พระนางกาไวหว่านทรัพย์สินเงินทองนั้น เรียกว่า ทองทั่ว และเป็นสถานที่ตั้งของ "วัดทองทั่ว" ในปัจจุบัน
โบราณวัตถุบางส่วนถูกเก็บอยู่ที่วัดทองทั่ว
สำหรับ "วัดทองทั่ว" ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรื่องมาช้านานพร้อมกับตำนาน และโบราณสถานโบราณวัตถุที่มีอายุกว่าพันปี ตามประวัติบอกไว้ว่าวัดแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดเพนียด บริเวณใกล้วัดยังมีหลักฐานกำแพงเมืองปรากฏอยู่ มีหลักฐานเก่าให้เชื่อว่าเป็นวัดโบราณ อาทิ ใบเสมาของอุโบสถเก่าเป็นแบบใบเสมาคู่ ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย

โดยเชื่อว่าวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง เนื่องจากพบใบสีมาคู่เก่าแก่รอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ ตามลักษณะใบสีมาจัดอยู่ในสมัยนิยมอยุธยา มีรูปเทวดาถือดอกบัว 2 ดอก แยกออกซ้ายขวา บางแห่งกล่าวว่าเป็นศิลปะศรีวิชัย ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรญเพ็ชญ์" หรือ "หลวงพ่อทอง" เป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่มากับพระอุโบสถ
หน้าวัดทองทั่วมีเจดีย์โบราณรูปทรงลังกา ลักษณะนิยมสมัยอยุธยา
ตามคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ เล่าว่า เมื่อพ.ศ.2471 ได้มีการบูรณะอุโบสถพร้อมพระประธาน ซึ่งพระประธานได้เอียงทรุดไปด้านหนึ่ง จึงได้เกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันดีดแล้วค้ำยันองค์พระให้ตั้งตรง แต่ส่วนฐานพระประธานกลับหลุดกะเทาะ ตรงปูนปั้นด้านหน้าฐานพระที่เรียกว่า ผ้าทิพย์ ก็ได้พบโกศงาช้างกลึงสวยงาม ภายในโกศมีกระดูก 2 ชิ้น มีผ้าดิ้นลายทองยกรูปดอกไม้พื้นสีออกม่วงห่อไว้

และได้พบแผ่นทองคำรูปใบโพธิ์เขียนจาตึกเป็นตัวหนังสือไว้ว่า พระอัฐิ พระเจ้าตาก พระยาจันทบุรีเป็นผู้นำมาไว้ แต่ต่อมาแผ่นทองนั้นก็ได้หายไป อีกทั้งจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าพระยาจันทบุรีนี้คือใคร และนำมาไว้ที่วัดแห่งนี้เมื่อใด สันนิษฐานว่าคงจะนำมาไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อถวายพระเพลิงพระศพเรียบร้อยแล้ว
ซากโบราณสถานเมืองเพนียด
นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุอีกมากมาย อาทิ ธรรมมาส สร้างในปีพ.ศ.2467 โดยขุนนราพิทักกรม มีลวดลายแกะสลักที่งดงามตามยุคสมัย ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเรียบร้อยแล้วและยังคงมีการใช้แสดงธรรมในวันพระ 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ

ตู้พระไตรปิฎกลายทอง อายุราว 200 กว่าปี เป็นตู้ลายรดน้ำลายทองเป็นลายกนกเปลวเพลิง ด้านข้างเป็นลายกนกเปลวเพลิงเล่าเรื่องรามเกียรติ์และสัตว์ป่าหิมพานต์ ที่บานประตูเป็นรูปเทวดาเปรียบเหมือนเป็นผู้รักษา มี 2 ชั้นใช้สำหรับเก็บพระไตรปิฎก
กระดูกที่สันนิษฐานว่าเป็นพระอัฐิพระเจ้าตาก
หีบคัมภีร์ขนาดใหญ่ อายุราว 300 กว่าปี มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู แกะสลักลานกนกใบเถาวัลย์เป็นรูปสัตว์ต่างๆ และลายเทพพนม และหีบพระธรรม อายุราว 200 ปี เป็นหีบสำหรับใส่หนังสือพระมาลัย ใช้สวดพระมาลัย เป็นทำนองที่ไพเราะ เป็นลายกนกเปลวเพลิงมีเทวดา 3 องค์ และรูปเล่าเรื่องรามเกียรติ์เป็นลายรดน้ำปิดทอง

ด้านนอกพระอุโบสถยังมีเจดีย์ 2 องค์ เป็นรูปทรงลังกา ลักษณะนิยมสมัยอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์ทั้ง 2 องค์น่าจะสร้างขึ้นในสมัยนั้นคู่มากับวัด แต่ก็มีชาวบ้านเล่ากันว่า เจดีย์องค์ที่อยู่หลังอุโบสถ ปัจจุบันคือองค์หน้าศาลาการเปรียญได้สร้างก่อนทั้ง 2 องค์ มีลายศิลปะผสมผสานกันอายุราว 200 ปี นับเป็นโบราณสถานของวัดชิ้นหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองมานับร้อยปี

อีกทั้งยังมีการค้นพบหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรบริเวณเมืองเพนียด เป็นจารึกศิลาแลง ขนาดกว้าง 49 ซม. สูง 47 ซม. หนา 16.5 ซม. จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ ชื่อว่า "จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล"

จารึกที่พบอีกหลักก็คือ "จารึกเพนียด" เป็นจารึกอักษรขอมโบราณ สันสกฤต และเขมร มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 ปัจจุบันก็เก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ เช่นกัน และยังพบ "จารึกเพนียดหลักที่ 52" จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ อายุราวเดียวกับจารึกเพนียดเช่นกัน
 โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบบริเวณเมืองเพนียดจัดเก็บไว้ที่วัดทองทั่ว
นอกจากนี้ยังมีการขุดพบโบราณวัตถุ ชิ้นส่วนเทวรูป และเศษถ้วยชามต่างๆ ภายในเมืองเพนียด ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บไว้ที่วัดทองทั่ว จากหลักฐานที่พบในเมืองเพนียดพอจะระบุได้ว่าเมืองเพนียดตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 คงจะร่วมอยู่ในวัฒนธรรมเขมร จนกระทั่งอาณาจักรเขมรถูกอยุธยาเข้ายึดครอง

และวัดทองทั่วแห่งนี้ กรมการศาสนาได้ออกหนังสือรับรองสภาพวัดว่าได้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2310 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2318 ในสมัยกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ศิลปะโครงสร้างเดิมเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงต่อเติมบางส่วนจนเป็นดังปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น