xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ ยลอาคารอนุรักษ์ มรดกเก่าไม่มีวันตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ตึกกระทรวงกลาโหมดูสง่างาม
ขึ้นชื่อว่าอะไรเก่าๆ หลายคนก็คงนึกถึงสิ่งของในสภาพหักพัก ฝุ่นจับเขรอะ รอวันบุบสลายพังทลายไปตามกาลเวลา แต่ของเก่าบางอย่างยิ่งเก่าก็ยิ่งมีคุณค่า ใครๆก็อยากอนุรักษ์เอาไว้ให้อยู่ได้นานที่สุด

อย่าง "อาคารอนุรักษ์" หรืออาคารเก่าที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ก็มีคนเห็นความสำคัญเข้ามาบูรณะและอนุรักษ์อาคารเหล่านี้ไว้ โดยหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมก็คือ "สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์" ที่ได้มีการมอบรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นองค์ประธานการมอบรางวัลอย่างต่อเนื่องทุกปี
พระวิหารวัดราชประดิษฐ์ฯ
อาคารอนุรักษ์นั้นก็มีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ สำหรับในกรุงเทพฯนั้นก็มีอยู่หลายอาคารกระจายอยู่ทั่วกรุง เอาเป็นว่าวันนี้เรามาเดินชมอาคารอนุรักษ์กันในเกาะรัตนโกสินทร์กันก่อนดีกว่า เริ่มจาก "กระทรวงกลาโหม" ริมถนนสนามชัย โดดเด่นด้วยปืนใหญ่โบราณนับสิบกระบอกที่วางตั้งไว้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งด้านหน้าตึกกระทรวง

บริเวณที่เป็นกระทรวงกลาโหมปัจจุบันนั้น แต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งของวังที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นจิตรภักดี กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ และกรมหมื่นอินทราพิพิธ ซึ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ต่อมาวังได้ร้างลง และถูกใช้เป็นฉางเก็บข้าวหลวง ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างเป็น "โรงทหารหน้า" เป็นที่รวมทหารประจำการรักษาพระนคร อาวุธ สัตว์ พาหนะ และเสบียงอาหาร ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงกลาโหม" อย่างในปัจจุบัน

กระทรวงกลาโหมในปัจจุบันดูสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรปทาสีเหลืองนวล ด้านหน้าเป็นหน้าจั่วทรงโรมัน ตกแต่งด้วยปูนปั้น ที่มุขชั้นสองมีระเบียงกว้าง และเสาแบบโรมัน ด้านหน้าของเสาระเบียงใหญ่ประดับด้วยสัญลักษณ์ของสามเหล่าทัพ คือ กงจักร สมอ และปีกอยู่บนพื้นรูปสี่เหลี่ยมสีทอง
หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
เดินมาทางด้านหลังกระทรวงกลาโหม ไม่ไกลกันนัก เป็นที่ตั้งของ "วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม" พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระวิหารของวัดราชประดิษฐ์ฯ นั้นมีขนาดกะทัดรัด แต่ก็มีดีจนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นด้วยเช่นกัน โดยวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ตัวพระวิหารประดับด้วยหินอ่อนสีเทาจากประเทศจีน เครื่องบนเป็นไม้แกะสลักปิดทอง หน้าบันก็เป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก

เมื่อเข้ามาภายในพระวิหาร ก็ไม่ควรพลาดที่จะกราบ "พระพุทธสิหังคปฏิมากร" พระพุทธรูปปางสมาธิที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างจำลองขึ้นจากพระพุทธสิหิงค์ และไม่ควรพลาดชมจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของขรัวอินโข่ง ที่วาดเป็นรูปพระราชพิธีสิบสองเดือน อีกทั้งยังมีรูปจำลองเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปดูสุริยุปราคาอีกด้วย
ธนาคารนครหลวงไทย สาขาท่าพระจันทร์
ย้อนกลับมาที่ถนนหน้าพระลานกันบ้าง มาแวะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ “หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร” ซึ่งเป็นท้องพระโรงเก่าของวังท่าพระ ซึ่งเป็นวังที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างและพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตเป็นที่ประทับ อีกทั้งวังแห่งนี้ก็ยังเคยใช้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 3 เมื่อยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จนเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้พระราชทานวังท่าพระนี้ให้แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าของวังพระองค์สุดท้าย

ส่วนหนึ่งของวังท่าพระ ได้แก่ ท้องพระโรง ตำหนักกลาง และตำหนักพรรณราย ปัจจุบันกลายมาเป็นหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนของท้องพระโรงนั้นมีลักษณะเป็นทรงไทยเดิม แต่ตำหนักกลางและตำหนักพรรณรายนั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ชมงานศิลปะไป ก็อย่าลืมชมงานสถาปัตยกรรมเก่าแก่นี้ไปด้วย

เดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร มาแวะที่หัวมุมถนนใกล้ทางเข้าท่าเรือท่าช้าง นักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่ไปมาอยู่หน้า "ธนาคารนครหลวง สาขาท่าพระจันทร์" ชื่อบอกว่าอยู่ที่ท่าพระจันทร์แต่ตัวกลับตั้งอยู่ที่ท่าช้าง?!? มีจุดสังเกตได้ง่ายเพราะอาคารหลังนี้หน้าตาดีโดดเด่นกว่าตึกแถวในละแวกใกล้เคียง
หอพระไตรปิฏก วัดระฆังโฆษิตาราม
อาคารหลังที่ว่านี้เป็นอาคารพาณิชย์เก่าแก่ สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอาคาร 2 ชั้น เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค ด้านหน้าอาคารชั้นบนทำเป็นระเบียง 3 ระเบียง ระเบียงกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ผนังอาคารเซาะร่องเป็นแนว ชั้นล่างแต่งด้วยเสาดอริกและเสาแบบโครินเธียนในชั้นสอง ผู้อำนวยการก่อสร้างคือ เจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ (เล็ก) ส่วนสถาปนิกผู้ออกแบบนั้นไม่ปรากฏชื่อ และในปัจจุบัน ธนาคารนครหลวงก็ได้เช่าอาคารแห่งนี้เปิดเป็นที่ทำการ เป็นธนาคารที่สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ไหนๆ ก็มาถึงท่าช้างแล้ว ฉันขอพาออกนอกเส้นทางเกาะรัตนโกสินทร์ข้ามเรือข้ามฟากไปยังวัดระฆังโฆษิตาราม เพราะที่นี่เขามีอาคารอนุรักษ์อีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือที่ "หอพระไตรปิฎก" ของวัดระฆังฯ ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นหอไตรนั้น เดิมเคยเป็น "ตำหนักจันทน์" หรือพระตำหนักของรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่สมัยที่ยังทรงมีตำแหน่งเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกฝ่ายขวา แต่เมื่อพระองค์ต้องเสด็จไปตีเมืองโคราชจึงได้รื้อตำหนักนั้นมาถวายวัดระฆัง หรือวัดบางหว้าใหญ่ในขณะนั้น
หอศิลป์เจ้าฟ้า
หอไตรแห่งนี้เป็นตำหนักไม้แฝด 3 หลัง ซุ้มประตูตรงนอกชานซึ่งแกะสลักเป็นลายดอกไม้ ส่วนบานประตูของหอกลางแกะเป็นลวดลายนกวายุภักษ์และลายกนกเครือเถา หอพระไตรปิฏกนี้ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หากอยากรู้ว่าสวยงามอย่างไรก็ต้องลองไปชมกันดู

ข้ามกลับมาที่เกาะรัตนโกสินทร์กันอีกครั้ง ไปที่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์" หรือหอศิลป์เจ้าฟ้า เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งได้รางวัลอนุรักษ์ดีเด่นด้วยเช่นกัน โดยอาคารที่เป็นหอศิลป์ในปัจจุบันนั้น เดิมเคยเป็นโรงกษาปณ์สิทธิการ หรือโรงกษาปณ์เก่าที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงกษาปณ์สำหรับผลิตเงินเหรียญขึ้นใช้เองภายในประเทศ โดยอาคารของโรงกษาปณ์นี้เป็นศิลปะแบบตะวันตก สร้างตามแบบโรงงานเครื่องจักรที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ
บ้านพระอาทิตย์
จากหอศิลป์เจ้าฟ้า เดินเลี้ยวเข้ามาในถนนพระอาทิตย์ มาชมความงดงามของอาคารทรงเสน่ห์ อย่าง "บ้านพระอาทิตย์" กันบ้าง

อาคารหลังนี้อาจจะเชียร์กันออกนอกหน้าไปบ้างเพราะเป็นที่ตั้งของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการบ้านที่ฉันเขียนคอลัมน์อยู่นี่เอง ที่บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ในเขตของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ต่อมาที่ดินนี้ตกทอดมาสู่เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.หม่อมราชวงศ์ เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวังในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยอาคารที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้สร้างขึ้นมาใหม่เนื่องจากวังเดิมชำรุดทรุดโทรมไปมาก
ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศฯ
วังที่เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ได้สร้างขึ้นมาใหม่นั้น เป็นตึก 2 ชั้นยกพื้นสูงหลังคามุงกระเบื้องว่าว มียอดโดมทรงสูงโดดเด่น ประดับชายคาด้วยลวดลายไม้ฉลุสวยงาม บ้านพระอาทิตย์แห่งนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของสถาบันเกอเธ่ (สถาบันวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน) ก่อนที่จะมาเป็นที่ทำการของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการอย่างในปัจจุบัน

จากถนนพระอาทิตย์ เดินไปบางลำพูใกล้กันนิดเดียว แวะที่วัดบวรนิเวศวิหาร ชม "ตำหนักเพชร" ตำหนักที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ตรงกับสมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ตำหนักหลังนี้มีความสำคัญตรงที่ใช้เป็นสถานที่ประชุมมหาเถรสมาคม อีกทั้งยังเคยใช้เป็นที่ประชุมคณะธรรมยุติวินิจฉัยกรณีพิพาทระหว่างพระมหานิกายและธรรมยุติมาแล้วด้วย โดยเป็นพระตำหนักปั้นหยานั้นมีความโดดเด่นตรงที่รูปทรงของตึกนั้นเป็นแบบฝรั่ง แต่มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเป็นแบบไทยสอดแทรกอยู่ งดงามไม่น้อยเลยทีเดียว
กุฏิสุนทรภู่ในวัดเทพธิดาราม
เดินมาตามถนนพระสุเมรุหน้าวัดบวรฯ มาจนถึงสะพานผ่านฟ้า เดินข้ามถนนราชดำเนินมานิดเดียวก็ถึงวัดเทพธิดารามแล้ว ฉันพามาปิดท้ายเส้นทางชมอาคารอนุรักษ์ในเกาะรัตนโกสินทร์กันที่ "กุฏิสุนทรภู่" ในวัดเทพธิดาราม เนื่องจากสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เคยมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดารามแห่งนี้ ทางวัดจึงได้อนุรักษ์กุฏิที่ท่านเคยจำพรรษาไว้ โดยกุฎินี้เป็นเรือนไทยหมู่ชั้นเดียว ยกพื้นสูง ปูพื้นไม้กระดาน หลังคาทำจากกระเบื้องดินเผา เป็นอาคารเก่ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา ตัวกุฏิของสุนทรภู่นั้นอยู่เรือนหลังซ้ายของหมู่กุฏิ และได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก จัดแสดงสิ่งของร่วมสมัยสุนทรภู่ เช่น บาตรพระ จาน ชาม เชี่ยนหมาก ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น

ไม่เพียงแต่ในเกาะรัตนโกสินทร์เท่านั้นที่มีอาคารอนุรักษ์สวยๆงามๆ แต่ยังมีอาคารอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯที่มีความน่าสนใจและความงดงามไม่แพ้กัน ฉันจึงขออนุญาตยกยอดไปเขียนถึงต่อในตอนหน้าอีกหนึ่งตอนก็แล้วกัน


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

อาคารอนุรักษ์กทม. สุดยอดแห่ง ตึก-บ้าน-วัด-วัง


กำลังโหลดความคิดเห็น