โดย : ปิ่น บุตรี
“...ฤาจะเร่าร้อนเท่าแจ๊ซ...”
คืนนั้น "ซอยรมณีย์" ในย่านเก่าแห่งภูเก็ต คึกคัก คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มารอชมการบรรเลงเพลงแจ๊ซกันอย่างในจดใจจ่อ เนื่องจากเป็นคืนพิเศษที่ 1 เดือนมีครั้ง คือในทุกค่ำคืนวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ซอยรมณีย์จะปิดถนนให้คนดนตรีมา ร้อง เล่น เต้น บรรเลงเพลงสดๆกันอย่างเมามัน
ธีมหลักของงานคือดนตรีแจ๊ซอันเร่าร้อนและอ่อนหวาน ตามจังหวะ ท่วงทำนอง และอารมณ์ของนักดนตรีที่ร่ายเพลงบรรเลงออกมา ส่วนธีมหลักของผมคือไปนั่งดริงก์ ฟังแจ๊ซ เหล่าสาว และดู“ตึก”!!!
ตึกที่ซอยรมณีย์และในย่านเมืองเก่า สวยเฉียบ ด้วยสถาปัตยกรรม“ชิโน-โปรตุกีส” อันงดงามเป็นเอกลักษณ์ จนผมถูกเสน่ห์มัดใจให้กลับมาเดินเที่ยวอีกครั้งในสายวันรุ่งขึ้น
เมืองเก่าภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นย่านตึกชิโน-โปรตุกีสที่สวยที่สุดในเมืองไทย ตึกเก่าเหล่านี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7 เจริญรุ่งเรืองสุดขีดในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี(คอซิมบี้ ณ ระนอง) ก่อนที่จะเสื่อมสภาพและถูกแทนที่ด้วยอาคารรูปแบบใหม่ที่ดูแข็งทื่อ แปลกแยก ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนหลายคนทนไม่ได้ มองว่าถ้าไม่อนุรักษ์ปรับปรุง คุณค่าทางประวัติศาสตร์และเสน่ห์ของอาคารชิโน-โปรตุกีสที่สวยที่สุดในเมืองไทยอาจสูญหายไปจากเมืองไทย นั่นจึงเกิดโครงการอนุรักษ์อาคารในย่านเมืองเก่าขึ้นมาในราวปี 2540
มาถึงวันนี้ สภาพอาคารเก่าที่ภูเก็ตดูดีสวยงามขึ้นมาก จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของภูเก็ต
ย่านท่องเที่ยวเมืองเก่าในภูเก็ตครอบคลุมถนนหลายสายหลายช่วง ผมโชคดีที่มีคนให้หนังสือคู่มือชมเมืองเก่าภูเก็ตมา จึงใช้หนังสือเล่มนี้เป็นไกด์บุ๊กเดินลุยถั่วไปตามตึกรามบ้านเรือนเด่นๆบนถนนแต่ละสาย แบบไม่ได้เจาะจงไปตามทางที่หนังสือกำหนด หากแต่ไปตามเส้นทางที่สะดวกเดิน
เริ่มจากจุดออกสตาร์ทบนถนนถลาง ณ สวน 72 พรรษา ที่มีรูปปั้น พญามังกรทะเล“ฮ่ายเหล็งอ๋อง” ตั้งตระหง่าน ติดกันเป็นที่ตั้งของอาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ทาสีใหม่ ส้มอิฐ-ขาว-เขียว ดูสดใส จากจุดนี้หากเดินไปทางถนนมนตรีจะเจอกับตึกเก่าที่ทำการไปรษณีย์ชั้นเดียว แต่ดูเท่มาก ปัจจุบันเขาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรภูเก็ต
จากพญามังกรผมเดินออกซ้ายผ่านถนนภูเก็ตไปถนนพังงา ตรงสี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ บรรยากาศเมืองเก่าช่วงนี้ต้อนรับด้วย“ธนาคารนครหลวงไทย”(สแตนดาร์ตชาร์เตอร์เดิม)กับซุ้มโค้งสวยงามสอดรับไปกับมุมถนน ฝั่งตรงข้ามเป็น “ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ” อันโดดเด่นไปด้วยหอนาฬิกาสูง
จากนั้นเดินชมตึกแถวเก่าที่มีการตกแต่งซุ้มหน้าต่างลวดลายปูนปั้นศิลปะนีโอคลาสสิคและอาร์ตเดโค ก่อนไปชม“โรงแรมออนออน” โรงแรมแห่งแรกในภูเก็ตที่ผมอยากมาพักมาก แต่ไม่เคยจองได้ซ้ากกะที
เลยโรงแรมเก่าแห่งแรกไปเป็น “ศาลเจ้าแสงธรรม” กับบรรยากาศแบบจีนๆ แล้วเส้นทางพาไปบรรจบกับถนนเยาวราช ที่ในคู่มือถ้าไปซ้ายทางวงเวียนสุริยเดชเข้าถนนระนอง ก็จะเจอตลาดสด ตึกเก่าการบินไทย และศาลเจ้าปุดจ้อ แต่ผมเลือกไปทางขวาแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนกระบี่ ถนนช่วงนี้มีกลุ่มตึกเก่า 2 ชั้น 3 ชั้นให้ชมกัน และมีดาวเด่นอย่าง “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” อดีตโรงเรียนภูเก็ตไทยหัว ปัจจุบันจัดแสดงภาพถ่ายเรื่องราวเมืองภูเก็ต อาคารหลังนี้มี 2 ชั้น งดงามไปทรวดทรงอันสมส่วน โค้งซุ้มประตู หน้าต่าง ลวดลายปูนปั้นประดับต่างๆ
จากไทยหัวผมลุยถั่วต่อไปยัง “อังมอเหลา” หรือคฤหาสน์ อันเป็นบ้านของคฤหบดี ที่มี“คฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา” อันใหญ่โต กว้างขวางและงดงามไปด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ลงตัว ทั้งรูปทรงอาคาร หลังคา เส้นสายลายประดับ และสีสัน
เลยอาคารหรูหลังนี้ไปเป็น“บ้านชินประชา” ที่ผู้สืบทอดรุ่นหลังๆได้อนุรักษ์ไว้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว และเครื่องเรือนแบบดั้งเดิม โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมกัน
ผมเคยมาเยือนที่บ้านหลังนี้ 2 หน เดินดูในส่วนจัดแสดงจนทั่ว พร้อมๆกับได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าของบ้าน แต่การมาเดินในครั้งนี้ บ้านชินประชาเปลี๊ยนไป๋ เพราะที่หน้าบ้านกำลังมีการก่อสร้างตึกแถวใหม่ในสไตล์เก่าคือชิโน-โปรตุกีส เพื่อเป็นอาคารพาณิชย์ ทำให้มองเห็นบ้านชินประชาไม่ถนัด แต่เมื่อสร้างเสร็จเท่าที่เห็นจะเปิดมุมมองบ้านเก่าเฉพาะทางด้านหน้า โดยมองผ่าน 2 ตึกใหม่เข้าไป ไม่สามารถมองเห็นบ้านชินประชาได้ถนัดถนี่ตาเหมือนแต่ก่อน ก็อย่างว่าแหละ เมื่อเวลายังไม่หยุดเดิน สรรพสิ่งต่างๆมันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
หลังเดินเที่ยวมาได้พักใหญ่ ขาเริ่มเมื่อย ท้องเริ่มหิว ผมจึงไปพักกินโลบะ(อาหารพื้นเมือง)เจ้าดังที่ร้านเยื้องๆกับ ”ศาลเจ้าแม่ย่านาง” และที่ตั้งของ“สมาคมเพอรานากัน”
เมื่อเติมพลังจนอิ่มแปล้ ผมย้อนกลับมาทางเก่าบนถนนดีบุก ก่อนไปเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าถนนสตูลแล้วเลี้ยวขวาที่แยกหน้าเข้าถนนดีบุก เพื่อใช้เวลาดื่มด่ำกับอาคารเก่าแถวนี้ เริ่มจาก “บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์” อีกหนึ่งอังมอเหลาอันสวยงาม สร้างโดยช่างจากปีนัง จากนั้นเดินไปชม “อาคารตึกแถวย่านบ้านพักอาศัยของอดีตนายเมืองเก่า” ที่มีให้ชมกันทั้ง 2 ฟากฝั่งถนน เป็นอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส ที่มีการทาสีภายนอกใหม่ดูงดงามมาก แต่เสียอย่างเดียว มีสายไฟห้อยระโยงรยางค์ดูรุงรังไปหน่อย จนผมอดนึกถึงคำพูดของเพื่อนชาวภูเก็ตคนหนึ่งไม่ได้
มันบอกว่า ที่ทางการไม่ยอมซ่อนสายไฟลงดิน คงกลัวเวลาถ่ายรูปออกมาแล้วไม่รู้ว่านี่คือเมืองไทย เพราะถ้าตึกแถวนี้ปราศจากสายไฟ บางทีคนเห็นภาพถ่ายอาจนึกว่าที่นี่เป็น มาเก๊า ปีนัง สิงคโปร์ หรือตึกแถวทางยุโรป
“เขาเก็บสายไฟไว้ให้รู้ว่านี่คือเมืองไทยน่ะ” เพื่อนคนนี้มันบอก
นับว่าหมอนี่ ตลกร้ายไม่เบา
เรื่องนี้เอาเป็นว่าอนาคตถ้าเขาซ่อนสายไฟลงดิน(จริง) ตามที่เคย(คิด)มีโครงการมานาน เราคงได้เห็นอาคารชิโน-โปรตุกีส โฉมใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิมเป็นแน่แท้ ส่วนตอนนี้ก็ดูของเดิมในอารมณ์ไทยๆไปก่อน ซึ่งบนถนนดีบุกยังมีอาคารเก่าให้ชมกันอีกเพียบ เพียงแต่ว่าใครที่มาเดินคงต้องสอดส่ายสายตาชื่นชมกันเอาเอง ส่วนผมเมื่อชมจนเมื่อยขา(อีกครั้ง)ก็ไปแวะพักที่ “วัดมงคลนิมิตร” หรือ“วัดกลาง” อันร่มรื่น ในนี้ยังมีอาคารเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีสให้ชมกันอีกอย่างหอสมุดและกุฏิ ที่สวยงามไม่เบา
จากนั้นก็มาถึงช่วงท้ายของทริป ซึ่งผมออกเดินจากวัดกลางแดนธรรมเข้าสู่แดนบันเทิง ณ “ซอยรมณีย์” ที่มีการตกแต่ง ทาสี ปรับปรุง อาคารอย่างดี แถมยังมีการเก็บสายไฟซ่อนไว้ข้างๆตึก ทำให้มองแล้ว ไม่เกิดทัศนอุจาดกวนสายตาแต่อย่างใด
ซอยรมณีย์ ในอดีตเป็นย่านเริงรมย์ของชาวเหมือง ปัจจุบันเป็นย่านเริงรมย์ของวัยรุ่น นักท่องเที่ยว ซึ่งพอตกเย็นบรรยากาศที่นี่จากบรรยากาศเงียบเหงาในยามกลางวันจะเปลี่ยนเป็นคึกคักขึ้นมาทันที
จากซอยรมณีย์ ผมเดินตุปัดตุเป๋มานั่งพักในช่องทางเดินที่หน้าบ้าน(ตึก)พักอาศัยหลังหนึ่ง ที่อยู่ริมซอยฝั่งตรงข้าม
บ้านหลังนี้ผมว่ามันแปลกแฮะ เพราะเขาไม่กั้นช่องทางเดินหน้าบ้านทางฝั่งซอย แต่เปิดโล่งให้เราเดินเข้าไป(แอบ)นั่งพักหลบแดดได้ ก่อนจะไปเจอโค้งปิดตันของบ้านข้างๆ
สำหรับช่องทางเดินหน้าบ้านแบบนี้ นักวิชาการผู้รอบรู้ชาวภูเก็ตท่านหนึ่งบอกกับผมว่า คนจีนเขาเรียกว่า“หง่อกากี่” หรือที่ฝรั่งเรียก “Arcade” ส่วนคนไทยเรียก“อาเขต” เป็นช่องทางเดินมีหลังคาคลุมเพื่อให้อากาศถ่ายเท และให้ผู้ที่เดินใต้อาเขตใช้กันแดดกันฝนเวลาไปเดินไปในอาคารชิโน-โปรตุกีส
“อาคารชิโน-โปรตุกีส มีอาเขต เป็นองค์ประกอบสำคัญ มันเป็นสมบัติสาธารณะ ให้ใครต่อใครเดินผ่าน ฝนตกไม่เปียก แดดจ้าก็ไม่ร้อน ให้ร่มเงา แต่วันนี้อาคาร บ้านเรือน แทบทั้งหมด กั้นเขตเป็นของตัวเอง แบ่งเป็นพื้นที่ของใครของมัน ทำให้อาเขตในอาคารชิโน-โปรตุกีสได้หายไป กลายเป็นพื้นที่มี“อาณาเขต”แทน พร้อมๆกับน้ำใจที่หดหายไปด้วย”
นักวิชาการคนนั้นตัดพ้อ ซึ่งขณะที่ผมยืนหลบแดดอยู่ในอาเขตแล้วนึกถึงคำกล่าวของนักวิชาการท่านนี้แล้ว มันทำให้ผมอดตื่นเต้นไม่ได้ว่า
“นี่เรากำลังยืนอยู่บนพื้นที่ ที่หายืนไม่ได้ง่ายๆในเมืองๆไทยเชียวนะ จะบอกให้”
“...ฤาจะเร่าร้อนเท่าแจ๊ซ...”
คืนนั้น "ซอยรมณีย์" ในย่านเก่าแห่งภูเก็ต คึกคัก คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มารอชมการบรรเลงเพลงแจ๊ซกันอย่างในจดใจจ่อ เนื่องจากเป็นคืนพิเศษที่ 1 เดือนมีครั้ง คือในทุกค่ำคืนวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ซอยรมณีย์จะปิดถนนให้คนดนตรีมา ร้อง เล่น เต้น บรรเลงเพลงสดๆกันอย่างเมามัน
ธีมหลักของงานคือดนตรีแจ๊ซอันเร่าร้อนและอ่อนหวาน ตามจังหวะ ท่วงทำนอง และอารมณ์ของนักดนตรีที่ร่ายเพลงบรรเลงออกมา ส่วนธีมหลักของผมคือไปนั่งดริงก์ ฟังแจ๊ซ เหล่าสาว และดู“ตึก”!!!
ตึกที่ซอยรมณีย์และในย่านเมืองเก่า สวยเฉียบ ด้วยสถาปัตยกรรม“ชิโน-โปรตุกีส” อันงดงามเป็นเอกลักษณ์ จนผมถูกเสน่ห์มัดใจให้กลับมาเดินเที่ยวอีกครั้งในสายวันรุ่งขึ้น
เมืองเก่าภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นย่านตึกชิโน-โปรตุกีสที่สวยที่สุดในเมืองไทย ตึกเก่าเหล่านี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7 เจริญรุ่งเรืองสุดขีดในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี(คอซิมบี้ ณ ระนอง) ก่อนที่จะเสื่อมสภาพและถูกแทนที่ด้วยอาคารรูปแบบใหม่ที่ดูแข็งทื่อ แปลกแยก ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนหลายคนทนไม่ได้ มองว่าถ้าไม่อนุรักษ์ปรับปรุง คุณค่าทางประวัติศาสตร์และเสน่ห์ของอาคารชิโน-โปรตุกีสที่สวยที่สุดในเมืองไทยอาจสูญหายไปจากเมืองไทย นั่นจึงเกิดโครงการอนุรักษ์อาคารในย่านเมืองเก่าขึ้นมาในราวปี 2540
มาถึงวันนี้ สภาพอาคารเก่าที่ภูเก็ตดูดีสวยงามขึ้นมาก จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของภูเก็ต
ย่านท่องเที่ยวเมืองเก่าในภูเก็ตครอบคลุมถนนหลายสายหลายช่วง ผมโชคดีที่มีคนให้หนังสือคู่มือชมเมืองเก่าภูเก็ตมา จึงใช้หนังสือเล่มนี้เป็นไกด์บุ๊กเดินลุยถั่วไปตามตึกรามบ้านเรือนเด่นๆบนถนนแต่ละสาย แบบไม่ได้เจาะจงไปตามทางที่หนังสือกำหนด หากแต่ไปตามเส้นทางที่สะดวกเดิน
เริ่มจากจุดออกสตาร์ทบนถนนถลาง ณ สวน 72 พรรษา ที่มีรูปปั้น พญามังกรทะเล“ฮ่ายเหล็งอ๋อง” ตั้งตระหง่าน ติดกันเป็นที่ตั้งของอาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ทาสีใหม่ ส้มอิฐ-ขาว-เขียว ดูสดใส จากจุดนี้หากเดินไปทางถนนมนตรีจะเจอกับตึกเก่าที่ทำการไปรษณีย์ชั้นเดียว แต่ดูเท่มาก ปัจจุบันเขาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรภูเก็ต
จากพญามังกรผมเดินออกซ้ายผ่านถนนภูเก็ตไปถนนพังงา ตรงสี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ บรรยากาศเมืองเก่าช่วงนี้ต้อนรับด้วย“ธนาคารนครหลวงไทย”(สแตนดาร์ตชาร์เตอร์เดิม)กับซุ้มโค้งสวยงามสอดรับไปกับมุมถนน ฝั่งตรงข้ามเป็น “ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ” อันโดดเด่นไปด้วยหอนาฬิกาสูง
จากนั้นเดินชมตึกแถวเก่าที่มีการตกแต่งซุ้มหน้าต่างลวดลายปูนปั้นศิลปะนีโอคลาสสิคและอาร์ตเดโค ก่อนไปชม“โรงแรมออนออน” โรงแรมแห่งแรกในภูเก็ตที่ผมอยากมาพักมาก แต่ไม่เคยจองได้ซ้ากกะที
เลยโรงแรมเก่าแห่งแรกไปเป็น “ศาลเจ้าแสงธรรม” กับบรรยากาศแบบจีนๆ แล้วเส้นทางพาไปบรรจบกับถนนเยาวราช ที่ในคู่มือถ้าไปซ้ายทางวงเวียนสุริยเดชเข้าถนนระนอง ก็จะเจอตลาดสด ตึกเก่าการบินไทย และศาลเจ้าปุดจ้อ แต่ผมเลือกไปทางขวาแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนกระบี่ ถนนช่วงนี้มีกลุ่มตึกเก่า 2 ชั้น 3 ชั้นให้ชมกัน และมีดาวเด่นอย่าง “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” อดีตโรงเรียนภูเก็ตไทยหัว ปัจจุบันจัดแสดงภาพถ่ายเรื่องราวเมืองภูเก็ต อาคารหลังนี้มี 2 ชั้น งดงามไปทรวดทรงอันสมส่วน โค้งซุ้มประตู หน้าต่าง ลวดลายปูนปั้นประดับต่างๆ
จากไทยหัวผมลุยถั่วต่อไปยัง “อังมอเหลา” หรือคฤหาสน์ อันเป็นบ้านของคฤหบดี ที่มี“คฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา” อันใหญ่โต กว้างขวางและงดงามไปด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ลงตัว ทั้งรูปทรงอาคาร หลังคา เส้นสายลายประดับ และสีสัน
เลยอาคารหรูหลังนี้ไปเป็น“บ้านชินประชา” ที่ผู้สืบทอดรุ่นหลังๆได้อนุรักษ์ไว้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว และเครื่องเรือนแบบดั้งเดิม โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมกัน
ผมเคยมาเยือนที่บ้านหลังนี้ 2 หน เดินดูในส่วนจัดแสดงจนทั่ว พร้อมๆกับได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าของบ้าน แต่การมาเดินในครั้งนี้ บ้านชินประชาเปลี๊ยนไป๋ เพราะที่หน้าบ้านกำลังมีการก่อสร้างตึกแถวใหม่ในสไตล์เก่าคือชิโน-โปรตุกีส เพื่อเป็นอาคารพาณิชย์ ทำให้มองเห็นบ้านชินประชาไม่ถนัด แต่เมื่อสร้างเสร็จเท่าที่เห็นจะเปิดมุมมองบ้านเก่าเฉพาะทางด้านหน้า โดยมองผ่าน 2 ตึกใหม่เข้าไป ไม่สามารถมองเห็นบ้านชินประชาได้ถนัดถนี่ตาเหมือนแต่ก่อน ก็อย่างว่าแหละ เมื่อเวลายังไม่หยุดเดิน สรรพสิ่งต่างๆมันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
หลังเดินเที่ยวมาได้พักใหญ่ ขาเริ่มเมื่อย ท้องเริ่มหิว ผมจึงไปพักกินโลบะ(อาหารพื้นเมือง)เจ้าดังที่ร้านเยื้องๆกับ ”ศาลเจ้าแม่ย่านาง” และที่ตั้งของ“สมาคมเพอรานากัน”
เมื่อเติมพลังจนอิ่มแปล้ ผมย้อนกลับมาทางเก่าบนถนนดีบุก ก่อนไปเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าถนนสตูลแล้วเลี้ยวขวาที่แยกหน้าเข้าถนนดีบุก เพื่อใช้เวลาดื่มด่ำกับอาคารเก่าแถวนี้ เริ่มจาก “บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์” อีกหนึ่งอังมอเหลาอันสวยงาม สร้างโดยช่างจากปีนัง จากนั้นเดินไปชม “อาคารตึกแถวย่านบ้านพักอาศัยของอดีตนายเมืองเก่า” ที่มีให้ชมกันทั้ง 2 ฟากฝั่งถนน เป็นอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส ที่มีการทาสีภายนอกใหม่ดูงดงามมาก แต่เสียอย่างเดียว มีสายไฟห้อยระโยงรยางค์ดูรุงรังไปหน่อย จนผมอดนึกถึงคำพูดของเพื่อนชาวภูเก็ตคนหนึ่งไม่ได้
มันบอกว่า ที่ทางการไม่ยอมซ่อนสายไฟลงดิน คงกลัวเวลาถ่ายรูปออกมาแล้วไม่รู้ว่านี่คือเมืองไทย เพราะถ้าตึกแถวนี้ปราศจากสายไฟ บางทีคนเห็นภาพถ่ายอาจนึกว่าที่นี่เป็น มาเก๊า ปีนัง สิงคโปร์ หรือตึกแถวทางยุโรป
“เขาเก็บสายไฟไว้ให้รู้ว่านี่คือเมืองไทยน่ะ” เพื่อนคนนี้มันบอก
นับว่าหมอนี่ ตลกร้ายไม่เบา
เรื่องนี้เอาเป็นว่าอนาคตถ้าเขาซ่อนสายไฟลงดิน(จริง) ตามที่เคย(คิด)มีโครงการมานาน เราคงได้เห็นอาคารชิโน-โปรตุกีส โฉมใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิมเป็นแน่แท้ ส่วนตอนนี้ก็ดูของเดิมในอารมณ์ไทยๆไปก่อน ซึ่งบนถนนดีบุกยังมีอาคารเก่าให้ชมกันอีกเพียบ เพียงแต่ว่าใครที่มาเดินคงต้องสอดส่ายสายตาชื่นชมกันเอาเอง ส่วนผมเมื่อชมจนเมื่อยขา(อีกครั้ง)ก็ไปแวะพักที่ “วัดมงคลนิมิตร” หรือ“วัดกลาง” อันร่มรื่น ในนี้ยังมีอาคารเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีสให้ชมกันอีกอย่างหอสมุดและกุฏิ ที่สวยงามไม่เบา
จากนั้นก็มาถึงช่วงท้ายของทริป ซึ่งผมออกเดินจากวัดกลางแดนธรรมเข้าสู่แดนบันเทิง ณ “ซอยรมณีย์” ที่มีการตกแต่ง ทาสี ปรับปรุง อาคารอย่างดี แถมยังมีการเก็บสายไฟซ่อนไว้ข้างๆตึก ทำให้มองแล้ว ไม่เกิดทัศนอุจาดกวนสายตาแต่อย่างใด
ซอยรมณีย์ ในอดีตเป็นย่านเริงรมย์ของชาวเหมือง ปัจจุบันเป็นย่านเริงรมย์ของวัยรุ่น นักท่องเที่ยว ซึ่งพอตกเย็นบรรยากาศที่นี่จากบรรยากาศเงียบเหงาในยามกลางวันจะเปลี่ยนเป็นคึกคักขึ้นมาทันที
จากซอยรมณีย์ ผมเดินตุปัดตุเป๋มานั่งพักในช่องทางเดินที่หน้าบ้าน(ตึก)พักอาศัยหลังหนึ่ง ที่อยู่ริมซอยฝั่งตรงข้าม
บ้านหลังนี้ผมว่ามันแปลกแฮะ เพราะเขาไม่กั้นช่องทางเดินหน้าบ้านทางฝั่งซอย แต่เปิดโล่งให้เราเดินเข้าไป(แอบ)นั่งพักหลบแดดได้ ก่อนจะไปเจอโค้งปิดตันของบ้านข้างๆ
สำหรับช่องทางเดินหน้าบ้านแบบนี้ นักวิชาการผู้รอบรู้ชาวภูเก็ตท่านหนึ่งบอกกับผมว่า คนจีนเขาเรียกว่า“หง่อกากี่” หรือที่ฝรั่งเรียก “Arcade” ส่วนคนไทยเรียก“อาเขต” เป็นช่องทางเดินมีหลังคาคลุมเพื่อให้อากาศถ่ายเท และให้ผู้ที่เดินใต้อาเขตใช้กันแดดกันฝนเวลาไปเดินไปในอาคารชิโน-โปรตุกีส
“อาคารชิโน-โปรตุกีส มีอาเขต เป็นองค์ประกอบสำคัญ มันเป็นสมบัติสาธารณะ ให้ใครต่อใครเดินผ่าน ฝนตกไม่เปียก แดดจ้าก็ไม่ร้อน ให้ร่มเงา แต่วันนี้อาคาร บ้านเรือน แทบทั้งหมด กั้นเขตเป็นของตัวเอง แบ่งเป็นพื้นที่ของใครของมัน ทำให้อาเขตในอาคารชิโน-โปรตุกีสได้หายไป กลายเป็นพื้นที่มี“อาณาเขต”แทน พร้อมๆกับน้ำใจที่หดหายไปด้วย”
นักวิชาการคนนั้นตัดพ้อ ซึ่งขณะที่ผมยืนหลบแดดอยู่ในอาเขตแล้วนึกถึงคำกล่าวของนักวิชาการท่านนี้แล้ว มันทำให้ผมอดตื่นเต้นไม่ได้ว่า
“นี่เรากำลังยืนอยู่บนพื้นที่ ที่หายืนไม่ได้ง่ายๆในเมืองๆไทยเชียวนะ จะบอกให้”