xs
xsm
sm
md
lg

งามได้ใจ “ชิโน-โปรตุกีส” ภูเก็ต เสน่ห์เมืองเก่าไม่มีวันตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เก่าขรึม อีกหนึ่งเสน่ห์ของชิโน-โปรตุกีส
“ภูเก็ต” ไข่มุกแห่งอันดามัน

หากพูดถึงการท่องเที่ยวในเมืองนี้ มายาคติเรื่องงบประมาณการท่องเที่ยวที่“สูงเกิน”สำหรับคนไทยๆธรรมดาทั่วไปคงจะผุดขึ้นมาในมโนภาพของใครหลายๆคน

นั่นถือเป็นปัญหาเรื่องราคาที่ทำให้หลายคนไม่กล้าไปเที่ยวภูเก็ต ด้วยเหตุนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานภูเก็ต จึงมีไอเดียพยายามผลักดันโครงการ “เที่ยวภูเก็ตไม่แพงอย่างที่คิด” เพื่อบอกให้คนไทยทั่วไปรู้ว่า ในภูเก็ตยังมีที่พัก โรงแรม ที่กิน ร้านอาหาร สปา-นวด สถานบันเทิง ราคาคนไทย(แน่นอนว่าย่อมไม่หรูเริ่ดเท่าราคาในระดับไฮท์เอนด์) ให้เลือกกิน เลือกพัก เลือกเที่ยว เลือกผ่อนคลาย สามารถตอบโจทย์ขอนักท่องเที่ยวไทยทั่วๆไปได้ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าต้องสืบค้นหาข้อมูลกันหน่อย ซึ่งผู้สนใจก็สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวแบบคนไทยได้ที่ ททท. สำนักงานภูเก็ต เจ้าของไอเดีย

นอกจากเรื่องราคาแล้ว ภูเก็ตยังติดภาพของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ยากจะลบเลือน ทำให้แหล่งท่องเที่ยวบนบกหลายๆแห่งกลายเป็นลูกเมียน้อยไป ทั้งๆที่ถือว่ามีดีพอตัวอยู่เหมือนกัน

เรื่องนี้ทำให้ทางจังหวัดภูเก็ตต้องใช้กลยุทธ์ ผนวกการเที่ยวบนบกเป็นกิจกรรมเสริมสอดแทรกร่วมกับกิจกรรมท่องเที่ยวหลักทางทะเล เพื่อให้คนทั่วไปรู้ว่า ภูเก็ตยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อย่าง วัดวาอาราม วิถีชีวิตวัฒนธรรม ธรรมชาติป่าเขาน้ำตก พิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะกับย่าน“เมืองเก่า”ภูเก็ตที่มีอาคารสไตล์“ชิโน-โปรตุกีส”อันโดดเด่นนั้น ถือว่ามาแรงไม่น้อยเลย
ตึกแถวบ้านพักอดีตนายเหมืองเก่า
เมืองเก่าภูเก็ต อดีตอันไฉไล

เมืองเก่าภูเก็ต เคยเป็นชุมชนเล็กๆที่มีชาวโปรตุเกสและฮอลันดาเข้ามาทำการซื้อขายแร่ดีบุกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2391-2411) หลวงพิทักษ์ทวีป(ทัด) เจ้าเมืองภูเก็ตเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ที่เรียกว่า “ทุ่งคา”มีแร่ดีบุกมากจึงย้ายตัวเมืองจากบ้านเก็ตโฮ่(อ.กระทู้ในปัจจุบัน)มาตั้งเมือง(ใหม่)ที่ “ทุ่งคา” ซึ่งก็คือพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน

เมืองภูเก็ต(ทุ่งคา)เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงที่ “พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี” (คอซิมบี้ ณ ระนอง)มาเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต (พ.ศ.2444-2456) มีการสร้างถนน วางผังเมืองใหม่ สร้างตึกรามบ้านเรือนขึ้นมาใหม่โดยนำลักษณะของสถาปัตยกรรม ”ชิโน-โปรตุกีส” ที่เฟื่องฟูมากในปีนังเข้ามาสร้างในภูเก็ต
ลวดลายประดับทรงเสน่ห์ของอาคารชิโน-โปรตุกีส
จากนั้นสถาปัตยกรรม”ชิโน-โปรตุกีส”ภูเก็ต ได้บ่มเพาะพัฒนาสั่งสมคุณค่าจากอดีตสู่ปัจจุบัน กลายเป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น ทรงคุณค่า จนได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสที่สวยที่สุดในเมืองไทย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักตามการใช้งาน คือ

“อาคารสาธารณะ” อาทิ อาคารราชการ สมาคม โรงเรียน ส่วนใหญ่สร้างในสมัยที่พระยารัษฎาฯ มีลักษณะเด่น เป็นอาคารก่ออิฐ ถือปูน ผนังหนา มีลวดลายตกแต่งปูนปั้นสวยงามอิทธิพลศิลปะยุคยุคนีโอคลาสสิคและโรมัน
คฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา
“อาคารตึกแถว” ที่มีลักษณะพิเศษคือมีช่องทางเดินสาธารณะด้านหน้า หรือ“อาเขต”(Arcade)หรือ“หง่อกากี่”(ภาษาจีน) เชื่อมยาวตลอดถึงกันใช้หลบฝนบังแดดได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ลวดลายปูนปั้นประดับนั้นก็ถือเป็นเอกอุเพราะผสมทั้งศิลปะ จีน ยุโรป อินเดีย และไทย เข้าๆไว้ด้วยกัน นับเป็นเอกลักษณ์อันทรงคุณค่ายิ่ง

“คฤหาสน์” หรือ “อังมอเหลา” (ภาษาจีน แปลว่าตึกแบบฝรั่ง)ที่ส่วนใหญ่เป็นเรือนปูน 2 ชั้น รูปทรงสมส่วน หลังคามุงกระเบื้องแบบดั้งเดิม มีลวดลายปูนปั้นประดับตกอย่างสวยงาม
ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ กับตึกสวย ณ มุมถนน
เที่ยวเรทโทร ตามทางชิโน-โปรตุกีส

สำหรับกิจกรรมชมเมืองเก่าภูเก็ตที่น่าสนใจยิ่งในสายตาของ“ตะลอนเที่ยว” ก็คือการเดินทอดน่องสัมผัส ชื่นชมในความงาม เพราะถึงแม้เมืองเก่าจะมีระยะทางรวมทั้งหมด 4.6 กม.(เชื่อมโยงถึงกัน) แต่ถ้าใครไม่ต้องการเดินทั้งหมด สามารถเลือกเดินชมเป็นช่วงๆถนนได้ โดยช่วงเวลาที่เหมาะต่อการเดินเที่ยวชม คือช่วงเช้าและเย็นที่แดดไม่ร้อนเกิน ซึ่งที่นี่ได้มีผู้เชี่ยวชาญมาลงพื้นที่เก็บข้อมูลและแบ่งเส้นทางการเดินชมเมืองเก่าออกเป็น 6 ช่วงด้วยกัน

ช่วงที่ 1 ถ.ภูเก็ต ถ.รัษฎา ถ.ระนอง : คือจุดที่เหมาะต่อการเดินชมเมืองเก่ามากที่สุด เริ่มที่ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพที่โดดเด่นด้วยหอนาฬิกาสูง แวะชมของเก่าและภาพถ่ายเก่าเมืองภูเก็ตที่พิพิธภัณฑ์โรงแรมถาวร ชมกลุ่มตึกแถวเก่าบนถนนรัษฎาแถวฝั่งเลขคู่-เลขคี่ ไปดูสีสันของวงเวียนสุริยเดชหรือวงเวียนน้ำพุ ไปไหว้พระขอพรที่ศาลเจ้าปุดจ้อ ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย เลี้ยวขวาเข้าสู่ ถ.ปฏิพัทธิ์ไปต่อยัง ถ.กระบี่
พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว
ช่วงที่ 2 ถ.กระบี่ ถ.สตูล : ชมสีสันแบบจีนที่ศาลเจ้าเจ่งอ๋อง ศาลเจ้าแม่ย่านาง(ฝั่งตรงข้ามมีร้านโลบะ(อาหารพื้นเมือง)อร่อย) ต่อด้วยการยลอังมอเหลา เริ่มจาก“บ้านชินประชา”ที่วันนี้มีตึกแถวใหม่สไตล์เก่าสร้างขนาบ 2 ฟากซ้าย-ขวา ถัดไปเป็น“คฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา” อันงดงามไปด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ก่อนไปชมเสน่ห์“พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” (ร.ร.ภูเก็ตไทยหัวเดิม) ที่ภายในจัดแสดงภาพเรื่องราวความเป็นภูเก็ตจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่ช่วงนี้ปิดปรับปรุง เราจึงชื่นชมได้เฉพาะความงามภายนอกอาคาร ที่โดดเด่นไปด้วย โค้งซุ้มประตู 3 ช่อง หน้าต่างกับกรอบและลวดลายประดับแบบโรมัน หน้าจั่วกลางบ้านลวดลายปูนปั้น ผสานรูปค้างคาวสัญลักษณ์สัตว์มงคลของชาวจีน
บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์
ช่วงที่ 3 ถ.ดีบุก ถ.เยาวราช ตรอกสุ่นอุทิศ : ชมเสน่ห์ของ “บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์” อังมอเหลาสวยงามจากช่างชาวจีนแห่งปีนัง เปลี่ยนอารมณ์ด้วยการชมอาคาร “ตึกแถวย่านบ้านพักอาศัยของอดีตนายเหมืองเก่า” ที่มีให้ชมกันทั้ง 2 ฟากฝั่งถนน ภายนอกทาสีใหม่สวยงาม ช่วงนี้ใครหิวให้ไปแวะที่ตรอกสุ่นอุทิศกินของกินพื้นเมือง อย่าง หมี่หุ้น-น้ำซุปน้ำอ้อยสูตรโบราณ,โอ๊วเอ๋ว-ของหวานแบบวุ้นสูตรดั้งเดิมและสูตรประยุกต์เอาใจวัยรุ่น-นักท่องเที่ยว,อาโป๊ว-แป้งทอดแผ่นบางกรอบนอกนุ่มใน ก่อนต่อไปยัง ถ.เยาวราช ดูอาคารเก่าบริษัทเกี้ยนหงวน ที่เป็นโค้งเลี้ยวหักมุมไปตามโค้งถนน
ซอยรมณีย์ ซอยสวย ย่านบันเทิงกลางเมืองเก่าภูเก็ต
ช่วงที่ 4 ถ.ถลาง ซอยรมณีย์ : ถ.ถลาง เป็นถนนสำคัญสายประวัติศาสตร์ มีอาคารตึกแถวที่มีรูปแบบดั้งเดิมเกาะกลุ่มกันมากที่สุดให้เลือกชมกันอย่างจุในอิ่มตาใน 2 ฟากฝั่งถนนเลขคู่-เลขคี่ อีกทั้งยังมีอาเขต(หงอกากี่)ยาวที่สุดในเมืองไทย ที่วันนี้มีข่าวดีว่าทางเทศบาลภูเก็ตได้ทำโครงการ “เมืองเก่าโฉมใหม่”ขึ้นด้วยการเก็บสายไฟลงใต้ดิน ทำให้อาคารเก่าแถวนี้ที่เคยรกรุงรังไปด้วยสายไฟดูสวยงามสะอาดตาขึ้นมาทันทีหากโครงการเสร็จ(คาดว่าจะเสร็จราวสิ้นปีนี้) นอกจากนี้ทางเทศบาลยังรณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมใจกันเปิดอาเขตตลอดแนว ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ปิดเพราะถูกครอบครองโดยเจ้าของพื้นที่ ให้กลับมาเปิดโล่งเดินทะลุถึงกันได้ดังเช่นอดีต เพื่อให้ ถ.ถลาง เป็นถนนคนเดินอันทรงเสน่ห์
ใต้ร่มเงาหงอกากี่
“ตะลอนเที่ยว”ยังไม่ไปไหน เพราะช่วงกลางของ ถ.ถลาง มี“ซอยรมณีย์” มีการตกแต่ง ทาสี ปรับปรุงอาคาร และเก็บสายไฟซ่อนไว้ข้างๆตึกอย่างดี ดูแล้วสวยงามเป็นระเบียบ ช่วงกลางวันซอยรมณีย์อาจดูเงียบเหงา ผิดกับยามราตรีที่คึกคักไปด้วยนักท่องราตรี เสียงดนตรี แสงสีไฟ จากร้านเหล้าผับบาร์ในซอย เพราะนี่ถือย่านบันเทิงกลางเมืองที่ชาวภูเก็ตหลายคนอดห่วงไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีการควบคุมให้ดี ซอยรมณีย์อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อชุมชนและส่งผลต่อวิถีเอกลักษณ์ของเมืองเก่าภูเก็ต ถือเป็นดาบ 2 คมทางการท่องเที่ยวที่ทางชุมชนจะต้องบริหารจัดการและหาจุดลงตัวให้เหมาะสมที่สุด
ต่างสีแต่กลมกลืน
ช่วงที่ 5 ถ.พังงา ถ.ภูเก็ต : เริ่มจากมุม ถ.พังงา-ภูเก็ต ชมอาคารชาร์เตอร์แบงก์ที่สร้างสอดรรับกับโค้งถนน ซึ่งในอนาคตจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่จัดแสดงเรื่องราวในภูเก็ต จากนั้นไปต่อยัง“โรงแรมออนออน”โรงแรมแห่งแรกในภูเก็ตที่จับจองห้องพักยากมาก ก่อนปิดท้ายกันที่ “ศาลเจ้าแสงธรรม” ณ ช่วงปลายถนน ชมเสน่ห์ของศาลเจ้าเก่าแก่ สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 ที่ยังคงไปด้วยบรรยากาศแบบจีนอันขรึมขลัง

ช่วงที่ 6 ถ.เทพกระษัตรี ถ.มนตรี : ช่วงสุดท้ายของการเดินชมเมืองเก่า ช่วงนี้บน ถ.เทพกระษัตรี มีคฤหสาน์ตระกูลหงส์หยก และอาคารอนุภาษภูเก็ตการ เป็นจุดชวนชม จากนั้นต่อไปยังสี่แยก ถ.ถลาง แวะชมรูปปั้นพญามังกรทะเล“ฮ่ายเหล็งอ๋อง” ที่ตั้งโดดเด่นตระหง่านในสวน 72 พรรษา โดยติดกันนั้นเป็นอาคารททท. ตึกใหม่แต่สร้างให้กลมกลืนกับอาคารเก่า และเมื่อเลี้ยวขวาไปบน ถ.มนตรี ก็จะพบกับอาคารเก่าที่ทำการไปรษณีย์ที่แม้มีชั้นแต่ดูเท่มาก ปัจจุบันถูกจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรภูเก็ตอันควรค่าแก่การเข้าชม

และนั่นก็คือเสน่ห์สีสันเมืองเก่าภูเก็ตที่ขึ้นชื่อในเรื่องสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส ผสานกับวิถี วัฒนธรรมประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ตที่ควรค่าแก่การเที่ยวชมยิ่ง ซึ่งใครที่ไปภูเก็ตน่าจะหาเวลาไปเที่ยวแบบประหยัดด้วยการเดินชมเมืองเก่าแบบสบายๆ ออกกำลังกายไปในตัว เหนื่อยเมื่อไหร่ก็พัก หิวเมื่อไหร่ก็แวะหาร้านอาหารพื้นเมืองอร่อยๆแถวนั้นกิน หรือถ้าใครเหงาก็สามารถพูดคุยกับชาวบ้านแถวนั้นได้อย่างสบาย เพราะส่วนใหญ่ใจดีและยินดีพูดคุยอย่างเปี่ยมมิตรไมตรี

แล้วจะรู้ว่าเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสในเมืองเก่าภูเก็ตนอกจากจะไม่มีวันตายแล้ว ยังมีชีวิตชีวาซึ่งบรรยากาศแบบนี้หาไม่ได้ง่ายๆในเมืองไทย
*****************************************

การเที่ยวชมเมืองเก่าในภูเก็ต เพื่อให้ได้อรรถรสและความเข้าใจ ควรศึกษาข้อมูลหรือพกคู่มือเดินชมเมืองเก่าภูเก็ตติดตัว ซึ่งสามารถสอบถามความจำนงได้ที่ ททท. สำนักงานภูเก็ต โทร. 0-7621- 1036 , 0-7621-2213
กำลังโหลดความคิดเห็น