เอ่ยชื่อจังหวัด "ภูเก็ต" คงไม่มีใครไม่รู้จัก เกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นจังหวัดท่องเที่ยวทางทะเลชื่อดังของภาคใต้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไกลไปทั่วโลก จนได้รับสมญานามว่าเป็น "ไข่มุกแห่งอันดามัน" ที่มากไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันงดงาม และเพียบพร้อมไปด้วยประวัติศาสตร์ ประเพณีอันเก่าแก่และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ดังเช่น วัฒนธรรม"บาบ๋า"อันโดดเด่นงดงาม
พูดถึงวัฒนธรรมบาบ๋าหลายคนอาจจะสงสัยว่า บาบ๋า คืออะไร?? อะไรคือ บาบ๋า??
เรื่องนี้เราได้รับการไขข้อสงสัยเกี่ยวกับบาบ๋า โดยผศ. ปราณี สกุลพิพัฒน์ ผู้รอบรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของภูเก็ต และเธอเป็นบาบ๋าโดยกำเนิด ได้คลายความสงสัย พร้อมกับให้ความรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว "บาบ๋า" ก็คือ ลูกผสมที่เกิดจากพ่อเป็นชาวจีนกับแม่ที่เป็นคนท้องถิ่น การเรียกลูกผสมจีนกับคนพื้นเมืองนั้นในมาเลเซียก็ใช้เรียกว่าบาบ๋าเช่นเดียวกัน แต่มีส่วนที่แตกต่างคือชาวมาเลเซียจะเรียกลูกผสมผู้หญิงว่า ยอนย่า (Nyonya) ส่วนลูกผสมผู้ชายเรียกว่า บาบ๋า (Baba) แต่สำหรับชาวภูเก็ตจะเรียกรวมทั้งหญิงและชายที่เกิดจากพ่อจีนแม่ไทยว่า "บาบ๋า" ทั้งหมด
คำบอกกล่าวของอ.ปราณี สอดคล้องกับคำกล่าวของนพ.โกศล แตงอุทัย ที่กล่าวถึง บาบ๋า เพอรานากัน ในนิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน (Phuket Bulletin) ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551ไว้ว่า คำว่า "เพอรานากัน" นั้นเป็นภาษามาเลย์ แปลว่า "ผู้ที่เกิดในท้องถิ่น" หมายถึง ลูกครึ่งที่เกิดจากชาวจีนแต่งงานกับชาวท้องถิ่นที่เป็นมาเลย์หรืออินโดนิเซีย หากเป็นชายเรียกว่า "บาบ๋า"(Baba) เป็นหญิงเรียก "ยอนย้า" (Nyoya)”ในประเทศสิงคโปร์ มาเลยเซีย นิยมใช้ "เพอนารากัน" ในการเรียกกลุ่มชน ต่างกับในจังหวัดภูเก็ตที่เรานิยมเรียกคำว่า "บาบ๋า" หมายถึงกลุ่มชนและเรียกทั้งชายและหญิงว่า "บาบ๋า" ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามถือว่ามีที่มา คือ เป็นลูกครึ่งชาวจีนเช่นกัน การใช้คำว่า "เพอรานากัน" จึงเพื่อเป็นภาษาสากลไว้ติดต่อกับเพื่อนบ้านชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสำคัญ
ทั้งนี้นพ. โกศล ยังได้กล่าวถึงเอกลักษณ์ของบาบ๋าไว้อีกว่า มีหลายสิ่งที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของบาบ๋า เพอรานากัน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ภาษา สิ่งที่ก่อสร้าง เป็นต้น แต่ต่างแสดงถึงจิตวิญญาณของผู้รักความเจริญ ความก้าวหน้าและความสงบ เป็นลักษณะของสังคมที่ยึดถืออุดมคติแบบตะวันออก แต่ในปัจจุบันหากพูดในภาษานักการตลาดตะวันตก บาบ๋า เพอรานากัน เปรียบเสมือน แบรนด์ ชนิดหนึ่ง ที่ใช้ในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ดี ส่งเสริมรายได้เข้าจังหวัดและประเทศไทยเราอีกทางหนึ่ง เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการเชิดชูเอกลักษณ์อันงดงามของชาวภูเก็ตในอดีตอีกด้วย
ด้านอ.ปราณี ได้กล่าวเสริมให้เราได้รู้จักกับบาบ๋ามากยิ่งขึ้นว่า ถึงแม้ว่าบาบ๋าจะเป็นลูกผสม แต่ว่าการเป็นลูกผสมของบาบ๋าก็มีข้อดีอยู่ที่ ว่าการเป็นลูกผสมจะได้ผิวขาวจากพ่อ แล้วได้ทรวดทรงองเอวที่ลงตัวของคนใต้จากแม่ เพราะฉะนั้นผู้หญิงบาบ๋าจึงสวย และนอกจากความขาวของผิวแล้ว ก็ยังได้ความขยัน ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน อยากเรียนหนังสือจากพ่อ เมื่อถามถึงว่าความเป็นบาบ๋าของชาวภูเก็ตในทุกวันนี้เป็นอย่างไร อ.ปราณี บอกว่า ทุกวันนี้บาบ๋าที่ภูเก็ตยังรวมกันอยู่เป็นอย่างดี มีเกิน 50% ของประชากรของจังหวัดภูเก็ต และบาบ๋าภูเก็ตมีการจดทะเบียนให้ถูกต้องเป็น "สมาคมไทยเพอรานากัน" (เป็นคำศัพท์ภาษามาลายู ซึ่งแปลว่าลูกผสมที่เกิดในท้องถิ่น )
"บาบ๋ารักผืนแผ่นดินประเทศไทย เพราะว่าเราได้รับการสอนจากขงจื้อว่า เราต้องมีความรู้สึกสำนึกในบุญคุณ แล้วถ้าเราดื่มน้ำจากแผ่นดินนั้นเพียงแก้วเดียว เราก็ถือว่าเป็นหนี้แผ่นดินบุญคุณนั้นแล้ว แล้วนี่กว่าจะโตป่านนี้แล้ว เราดื่มน้ำไปกี่แก้ว เรากินข้าวไปกี่ถ้วย ถ้าใครมีเชื้อสายเป็นจีน แล้วภูมิใจแล้วนับว่าตัวเองเป็นจีน ทุกคนเป็นบาบ๋าหมดค่ะ ทุกวันนี้มีเด็กเล็กๆ สืบเชื้อสายมา แล้วภูมิใจว่าเรามีบรรพบุรุษเป็นคนจีน เราเรียกว่าบาบ๋าหมด" อ. ปราณี บอกอย่างภาคภูมิใจ
นั่นคือความเป็นบาบ๋าของชาวภูเก็ตที่ยังดำรงเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ได้เป็นอย่างดี ชาวบาบ๋าเองนั้นก็มีวัฒนธรรมของตัวเองที่น่าสนใจอยู่มากมาย ซึ่งเรื่องนี้อ.ปราณี ได้เล่าให้เราฟังว่า "บาบ๋ามีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของบาบ๋าเองที่ยังคงไว้ เช่นประเพณีกินผัก แล้วบาบ๋าเรามีอะไรเก๋ๆ พุทธเราก็ทำ จีนเราก็ทำ เช่นเราไปไหว้พระหลวงพ่อวัดฉลองเวลา เราทุกร้อนเราก็บนบานถึงท่าน และเราก็มีศาลเจ้าต่องย่องสู(ศาลเจ้าอั้งยี่) เราไหว้หลวงพ่อแช่มด้วย เราไหว้ศาลเจ้าอั้งยี่ด้วย เราไหว้หมด เรานับถือศาลนาพุทธ เราไหว้ทั้งวัด เราไหว้ศาลเจ้าด้วย ตรุษจีนเราก็ทำ กินเจเราก็ทำ ปีใหม่เราก็ทำ คือว่าชีวิตมันสนุกนะคะ ตามประสาคนเมืองเล็ก"
"แล้วบาบ๋าก็มีวัฒนธรรมการแต่งกายของตัวเอง คือเราจะเอาผ้านุ่งที่แม่ชอบนุ่งมานุ่ง แล้วเราก็จะเอาเสื้อสวยๆ เป็นเสื้อลูกไม้มาใส่ ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุงใส่เสื้อลูกไม้ แล้วก็จะเข้ารูปเพราะว่าคนบาบ๋าส่วนใหญ่จะสะโพกผายเอวเล็ก ส่วนผู้ชายแต่งตัวแบบฝรั่ง ด้วยนิยมส่งลูกเรียนโรงเรียนฝรั่ง"
อ.ปราณียังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า วัฒนธรรมอาหารการกินของบาบ๋าก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน อย่างมีน้ำพริก ที่เรียกว่า น้ำพริกภูเก็ต เป็นน้ำพริกกุ้งสด คือมีน้ำขลุกขลิก กินกับผักสด และมีหมูเต่าอิ๋ว ก็คือหมูพะโล้ที่ทำแบบแห้งๆ มีน้ำขลุกขลิกเช่นกัน แล้วก็มีผัดกาเป็ก เป็นหน่อไม้น้ำนำมาผัดกุ้ง แต่ไม่ได้มีตลอดทั้งปี มีเฉพาะบางฤดู แล้วบาบ๋าก็ชอบกินของที่เก๋ๆ บางอย่างเช่น แกงไก่ใส่มันฝรั่ง เป็นอาหารโบราณ เพราะเวลาไหว้บรรพบุรุษ เวลาไหว้ด้วยไก่ต้มมันไม่ค่อยแปลก บาบ๋าภูเก็ตต้องไหว้ด้วยแกงไก่ ใส่มันฝรั่ง มันเป็นอะไรที่เก๋ไก๋
ส่วนเรื่องของศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของบาบ๋าก็มีเช่นกัน ซึ่งที่เห็นเด่นเห็นจะเป็นศิลปวัฒนธรรมเรื่องการเย็บปักถักร้อย เพราะบาบ๋าจะชอบใส่เสื้อปักเป็นลายฉลุต่างๆ สมัยก่อนผู้หญิงจะปักเอง แต่สมัยนี้หาคนปักได้ยาก
เรื่องการละเล่นเฉพาะของบาบ๋าเอง จะเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษหยิบมา เช่น การแสดงหุ่นกระบอกเชิดที่ดึงเชิดจากด้านบน เรียกว่า ก่าเหล้ และคนบาบ๋าจะรับวัฒนธรรมฝรั่งมาเยอะ ฉะนั้นเรื่องดนตรีจะเป็นการเล่นดนตรีฝรั่ง
"เวลามาภูเก็ตอย่าเพียงแต่รู้จักแต่ทะเลป่าตอง ความเป็นภูเก็ตจริงๆ มันอยู่ในเมือง แล้วเมืองภูเก็ตน่าสนใจมาก ขอให้แวะมาถนนถลาง มาชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของคนบาบ๋า จะได้พาไปบ้านนู้น บ้านนี้ บ้านนั้น ความเป็นอยู่ของบาบ๋า ส่วนใหญ่จะอยู่บ้านตึกแถว แล้วตึกแถวจะมีลักษณะพิเศษคือบ้าน ยาวมาก บางหลังยาวจากถนนถลางไปถึงถนนพังงาถนนอีกสายหนึ่งเลย ถัดจากด้านหน้าที่เป็นส่วนที่อยู่อาศัยแล้ว ก็จะมีลานซักล้างรวมทั้งบ่อน้ำอยู่กลางบ้าน เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตจะน่าสนใจ อยากชวนให้ทุกคนมาเที่ยวชม"
"วัฒนธรรมบาบ๋านั้นมีมากหลายและมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตอนนี้ทางสมาคมไทยเพอรานากันได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์บาบ๋า ภูเก็ต โดยเอาตึกเก่าที่เป็นแลนด์มาร์คของภูเก็ตมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แล้วเราจะทำเรื่องวิถีชีวิตของชาวบาบ๋าทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จปีพ.ศ. 2553 ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงการจัดทำดำเนินการ" อ.ปราณี กล่าว พร้อมกับได้ทิ้งท้ายเชิญชวนให้ทุกคนไปสัมผัสและรู้จักกับบาบ๋า เมื่อมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวที่ภูเก็ต