เมื่อถึงวันสงกรานต์ครั้งใด กิจกรรมอย่างหนึ่งที่จะมีขึ้นทุกครั้งก็คือการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองใน 3 พื้นที่ออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำ สักการบูชา ขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล
สำหรับพระพุทธสิหิงค์นั้น หลายๆคนคงเคยได้สักการะบูชา หรืออาจจะเคยได้มีโอกาสสรงน้ำท่าน แต่อาจไม่ทราบถึงความเป็นมาของท่านมาก่อน ซึ่งมีคำกล่าวกันว่า นอกจากพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลกแล้ว จะหาพระพุทธรูปโบราณที่มีอยู่ในประเทศไทยที่มีความงดงามเทียบกับพระพุทธสิหิงค์นั้นไม่มีเลย แสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้ย่อมต้องมีความงดงามเป็นอันมาก และความเป็นมาของท่านนั้นก็มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ตำนานของพระพุทธสิหิงค์นี้ มีผู้เรียบเรียงไว้หลายคน เช่น พระโพธิรังษี ปราชญ์เชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และหลวงวิจิตรวาทการ โดยได้เล่าประวัติไว้ว่า พระพุทธสิหิงค์นั้นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 700 โดยพระมหากษัตริย์ลังกา 3 พระองค์ พร้อมกับพระอรหันต์ในเกาะลังกา
เล่ากันว่า ในการสร้างนั้น ผู้สร้างตั้งใจจะให้พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่เหมือนองค์พระพุทธเจ้าจริงๆ จึงให้พญานาคที่เคยเห็นพระพุทธองค์แปลงกายมาเป็นแบบให้ ในขณะหล่อนั้น ช่างหล่อคนหนึ่งทำไม่ถูกพระทัยเจ้าองค์หนึ่ง จึงถูกหวดด้วยไม้ถูกนิ้วของช่างบาดเจ็บ ครั้นพอหล่อพระพุทธสิหิงค์เสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่านิ้วของพระพุทธสิหิงค์มีรอยชำรุดไปนิ้วหนึ่งเช่นกัน
พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ที่กรุงลังกาเป็นเวลาถึง 1,150 ปี และเมื่อถึงสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงได้ทราบถึงลักษณะที่งดงามของพระพุทธสิหิงค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยานครศรีธรรมราชแต่งทูตเชิญพระราชสาสน์ไปขอประทานมาจากพระเจ้ากรุงลังกา พระพุทธสิหิงค์จึงได้มาประดิษฐานที่กรุงสุโขทัยเป็นเวลา 70 ปี
หลังจากนั้นพระพุทธสิหิงค์ก็ได้ย้ายไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ ในอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองพิษณุโลก กรุงศรีอยุธยา เมืองกำแพงเพชร เมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ จนเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระพุทธสิหิงค์ได้มาประดิษฐานยังกรุงเทพเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2338 และได้ประดิษฐานอยู่ที่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาจนทุกวันนี้ หากจะนับเวลาตั้งแต่เมื่อครั้งที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากกรุงลงกามายังสุโขทัย จนมาประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลาถึง 698 ปี ทีเดียว
ในประเทศไทย มีพระพุทธรูปที่มีนามว่าพระพุทธสิหิงค์อยู่ 3 องค์ด้วยกัน คือ
พระพุทธสิหิงค์ ในพระพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ซึ่งก็คือองค์ที่กล่าวถึงข้างต้น
พระพุทธสิหิงค์ ในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง เป็นศิลปะเชียงแสนยุคแรก
พระพุทธสิหิงค์ ในหอพระสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร มีพระพักตร์กลม อมยิ้มเล็กน้อย หล่อด้วยสัมฤทธิ์
สำหรับธรรมเนียมปฏิบัติที่มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำบริเวณท้องสนามหลวงนั้น ได้เริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 ในสมัยที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี และธรรมเนียมประเพณีนั้นก็ได้ปฏิบัติกันต่อมาจนถึงทุกวันนี้
พระโพธิรังษี ปราชญ์เชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ว่า “พระพุทธสิหิงค์เสด็จประทับอยู่ในที่ใดๆ ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดังดวงประทีป เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่” ส่วนหลวงวิจิตรวาทการกล่าวไว้ว่า “อานุภาพแห่งพระพุทธสิหิงค์สามารถบำบัดความทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ที่หมดมานะ ท้อถอย เมื่อได้มาสักการะ ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งก็จะกลับสดชื่นและมีความเข้มแข็งขึ้น จิตที่หวาดกลัวก็กลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านก็จะมีวิริยะ ผู้หมดหวังก็จะมีกำลังใจขึ้นใหม่”