xs
xsm
sm
md
lg

ล่องเมืองลุง แลนก ชมบัว ดูควายน้ำ ที่"ทะเลน้อย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝูงนกโผบิน รับแสงอาทิตย์ยามเช้า

"พัทลุง"
เมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย ที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขา ทะเลสาบ วัฒนธรรม และศิลปะ ฯลฯ เป็นเมืองแห่งหนังตะลุงและมโนราห์ ทั้งยังพรั่งพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีประวัติศาสตร์และสถานที่อันทรงคุณค่า

ด้วยความหลากหลายเหล่านี้ ทริปนี้ "ตะลอนเที่ยว" จึงล่องใต้ไปตามมนต์เสน่ห์แห่งพัทลุงหรือเมืองลุงเพื่อยลแง่งามความน่าสนใจของเมืองนี้
ล่องเรือชมบัว แลนก ในทะเลน้อย
เมืองพัทลุง เป็นเมืองที่ค่อนข้างสงบ ผู้คนอยู่กันด้วยมิตรไมตรี เพราะจากการที่ "ตะลอนเที่ยว" สัมผัสมายังไม่ประสบเหตุการณ์แบบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าปลอดภัยหายห่วง พวกเราจึงเริ่มตะลอนถิ่นลุงฯกันที่ "อุทยานนกน้ำทะเลน้อย" ทะเสสาบน้ำจืดที่กว้างสุดลูกหูลูกตา ด้วยพื้นที่ประมาณ 450 ตารางกิโลเมตร และเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งแรกของประเทศ เพื่อที่จะรักษาระบบนิเวศโดยรอบให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้นนั้นเอง
ทุ่งบัวสาย ที่มีกระจายให้เห็นทั่วไปทะเลน้อย
ทิวทัศน์ที่แห่งนี้ช่างกระตุ้นประสาทตาให้เบิกกว้างขึ้น ด้วยความอุดมสมบูรณ์ที่ธรรมชาติรังสรรค์ไว้ ทั้งทะเสสาบ ดอกบัวสาย สาหร่ายข้าว นกนานาชนิด ฯลฯ ที่มีให้พบเห็นทั่วบริเวณชายฝั่ง พร้อมแสงแรกของดวงอาทิตย์ที่กำลังเคลื่อนตัวจากปลายฟ้ามาหยอกล้อกับผืนน้ำ โดยทะเลน้อยแห่งนี้มีความลึกประมาณ 1.5 เมตร ตั้งอยู่ในตำบลนางตุง และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน มีนกน้ำประจำถิ่นและนกอพยพมาอยู่มากกว่า 187 ชนิด ซึ่งระหว่างเดือนตุลาคม-เมษายนเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับสัมผัสธรรมชาติเป็นที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ดอกบัวสายสีชมพูบานสะพรั่งเต็มผืนน้ำ ประกอบกับนกน้ำจำนวนมากที่พบได้อย่างหนาตา
วิถีประมงพื้นบ้าน
ที่นี่มีเรือหางยาวของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนเป็นเรือสำหรับท่องเที่ยวขนาดกะทัดรัด 6-8 ที่นั่ง ในราคา 400 บาท/ชั่วโมง พร้อมกัปตันใจดีผู้ที่พร้อมจะพานักท่องเที่ยวล่องเลียบไปตามลำน้ำสายนี้ ซึ่งในเรือมีหมวกสำหรับกันแดดไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย

เห็นโอกาสมาเยือนเช่นนี้ "ตะลอนเที่ยว" และเพื่อนๆก็ไม่รอช้า รีบก้าวขึ้นเรืออย่างสมัครพรักพร้อม เรือหางยาวเริ่มเคลื่อนตัวออกจากชายฝั่งโดยไม้ถ่อเพื่อกลับลำ และไม่นานเสียงของเครื่องยนต์ที่ติดตั้งไว้กับเรือก็ดังขึ้น โดยมีเจ้าหางเรือยาวๆ เป็นตัวกำหนดทิศทาง พวกเรานั่งกินลมพลางเหลียวซ้ายแลขวาไปพลางซักครู่ก็ได้พบกับฝูงนกนานาชนิด อาทิ นกนางนวล นกเป็ดน้ำ ฯลฯ ที่กำลังหาอาหารมื้อเช้า และบินว่อนกันเต็มท้องฟ้า ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็กำลังหาปลาเพื่อไปเป็นอาหารเช่นกัน ลุงคนขับเรือบอกว่าที่นี่เป็นแหล่งชุมชุนของปลาน้ำจืดหลายชนิด ชาวบ้านสามารถหาปลาได้อย่างอิสระ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่พบที่ดักปลาของชาวบ้านติดตั้งอยู่ทั่วบริเวณ
นกน้ำโบกบินตามใจตน
ไม่นานเจ้าเรือหางยาวก็พาเข้ามาอยู่ใน "ดงบัวสาย" ดอกบัวสีชมพูที่แข่งกันบานสะพรั่งเต็มผืนน้ำ และในช่วงสายๆ บัวสายพันธ์นี้ก็จะเริ่มหุบลง และจะบานเต็มที่ในเช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวัฏจักรของมัน ซึ่งก็ดูแล้วสมชื่อบัวสายจริงๆ ยิ่งไปกว่าความสวยงาม บัวสายยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย หรือหากอดใจรอไม่ไหวจะกินสดๆ กันตรงนั้นเลยก็ได้ เพราะกัปตันใจดีชิมให้ "ตะลอนเที่ยว" ดูเป็นตัวอย่างแล้ว รับรองไม่มีเสียชีวิต ชัวร์

สายน้ำพลิ้วเป็นคลื่นเล็กๆ หลังจากพาหนะลำน้อยแล่นผ่าน ไม่ไกลตานัก ลุงกัปตันชี้ให้พวกเราดูต้นกกที่ชาวบ้านนำมาปลูกไว้เมื่อหลายปีก่อนขึ้นกระจายเป็นหย่อมๆ หากมองลงไปในน้ำก็จะพบสาหร่ายข้าวซึ่งมีดอกเป็นสีเหลืองโผล่พ้นขึ้นมาปริ่มน้ำ เรือหางยาวขับผ่าดงกระจูดหนู พืชน้ำที่ขึ้นหนาแน่นเป็นกลุ่มใหญ่ ไปจนถึงบริเวณแหลมดิน จุดดูนกน้ำและนกชายเลน เข้าไปในคลองนางเรียมที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาระหว่างทะเลน้อยกับหมู่บ้านที่ตั้งริมทะเล
นกน้ำ พักเพื่อเตรียมตัวหาอาหาร
แสงแดดยามสายทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนได้ใช้บริการหมวกที่ถูกเตรียมไว้ เรือหางยาวขับเคลื่อนไปถึงจุดที่อาศัย ของ "ควายน้ำ" สิ่งที่แปลกไปจากควายที่อื่นก็คือ ที่นี่ชาวบ้านจะเลี้ยงความกันบนพื้นดินขนาดย่อมที่มีน้ำล้อมรอบ มีหญ้าปลูกไว้สำหรับกินอย่างเพียงพอ ซึ่งชาวบ้านจะเปิดคอกปล่อยเจ้าทุยออกลุยน้ำไปหาอาหารในช่วงเช้าและเย็น โดยเจ้าของจะคอยดูแลพวกเขาอยู่บนเรือ พร้อมใช้ไม้ถ่อบังคับทิศทางเรือ ต้อนให้บรรดาเจ้าทุยลุยน้ำไปหากินอย่างเป็นระเบียบจนหลายคนเรียกขานเจ้าทุยเหล่านี้ว่าเป็น "ควายน้ำ" ไปโดยปริยาย
ฝูงควายเดินแหวกทะเลน้อยในยามเช้า โดยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
ผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า เรือหางยาวก็แล่นกลับสู่ฝั่ง ภาพฝูงนกนานาพันธุ์ยังมีให้เห็นทั่วบริเวณ ซึ่งรอบอุทยานนกน้ำทะเลน้อยยังมีสะพานให้เดินชมวิว และมีของที่ระลึกจำหน่าย อาทิผลิตภัณฑ์จากต้นกระจูด เป็นต้น

หลังจากความคึกคักที่ได้จากคลื่นทะเลสาบน้ำจืด “ตะลอนเที่ยว” ก็ไปต่อกันที่ “วังเจ้าเมืองพัทลุง” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วังเก่า–วังใหม่” แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอลำปำ เดิมวังแห่งนี้เป็นที่ว่าราชการและเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุง เป็นอาคารทรงไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มอาคาร ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกันคือวังเก่าและวังใหม่
ชาวบ้าน เตรียมปล่อยควายสู่ผืนน้ำ
ในส่วนของ “วังเก่า” มีลักษณะเป็นเรือนไทยแฝดสามหลังติดกัน ยกใต้ถุนสูง ตั้งอยู่ติดกับถนนราเมศวร์อภัยบริรักษ์ ก่อสร้างในสมัยพระยาพัทลุง (น้อย จันทโรจนวงษ์) เป็นผู้ว่าราชการ ระหว่างปี พ.ศ.2409-2431 ต่อมาวังนี้ได้ตกทอดมาจนถึงนางประไพ มุตามะระ บุตรีของหลวงศรีวรฉัตร และในปี พ.ศ.2535 กรมศิลปากรก็ได้ขึ้นทะเบียนวังเก่านี้เป็นโบราณสถานของชาติไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนอาคารที่ตั้งอยู่ริมคลองลำห่า เรียกว่า “วังใหม่” หรือชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วังใหม่ชายคลอง มีลักษณะเป็นกลุ่มเรือนไทย 5 หลัง ยกพื้นสูง สร้างเมื่อ พ.ศ.2432 โดยพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิตพิพิธภักดี (เนตร จันทโรจนวงษ์) บุตรชายของพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจนวงษ์) ตอนดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองพัทลุง
วังเจ้าเมืองหลังเก่า
ปัจจุบันทายาทตระกูล "จันทโรจนวงษ์" ได้มอบวังใหม่นี้ให้เป็นโบราณสถานของชาติ ในความดูแลของกรมศิลปากร และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2526

และจุดหมายท้ายสุดของการตะลุยเมืองพัทลุงครั้งนี้คือ การไปนมัสการน้อมเคารพ “พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พระสี่มุมเมือง” เป็นพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ที่กรมรักษาดินแดน กองทัพบก กระทรวงกลาโหม จัดสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 4 องค์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเททองด้วยพระองค์เอง
วังเจ้าเมืองหลังใหม่
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกโดยพระมหาเถระผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนับว่าเป็นพิธีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศครั้งหนึ่ง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามพระพุทธปฏิมาทั้ง 4 องค์ ว่า "พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ" พร้อมทั้งโปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ สี่มุมเมืองของประเทศ จึงเป็นที่มาของชื่อ “พระสี่มุมเมือง” นั่นเอง

โดยในทิศตะวันตก ประดิษฐานไว้บนยอดเขาแก่นจันทร์ จ.ราชบุรี ทิศเหนือ ประดิษฐานไว้ข้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จ.ลำปาง ทิศตะวันออก ประดิษฐานไว้หน้าศาลากลางจังหวัด จ.สระบุรี และทิศใต้ ประดิษฐานไว้ที่ จ.พัทลุง ภายในศาลาจัตุรมุข บริเวณด้านหน้าระหว่างศาลากลางจังหวัดกับศาลจังหวัดพัทลุง เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน
“พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ” (องค์ซ้าย)
ซึ่งพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศนี้ นอกจากเป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้แล้ว ยังถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพัทลุง โดยมีความเชื่อกันว่าผู้ที่ได้กราบไหว้บูชาจะมีความเป็นสิริมงคลคลาดแคล้วจากภัยอันตรายทั้งปวง ได้ฟังดังนั้นพวกเราก็พากันกราบไหว้พร้อมอธิฐานขอพรกันอยู่นานสองนานจนอิ่มอกอิ่มใจอิ่มบุญกันยกคณะ ก็ถือเป็นการปิดท้ายทริปตะลอนเมืองลุงฯที่เบิกบานใจและก็สร้างความอิ่มเอมให้กับชีวิตได้ไม่น้อยทีเดียว
ศาลาจัตุรมุข ที่ประดิษฐานของ พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

“อุทยานนกน้ำทะเลน้อย”
อยู่ที่ ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน ช่วงที่เหมาะไปดูนกคือ ช่วงเดือนต.ค.-เม.ย. นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือไปชมนกได้จากท่าเรือทะเลน้อย และใกล้ที่ทำการอุทยาน ฯ มีเรือนพักไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย โดยอยู่ในความดูแลของอุทยานฯ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่
สถานีพัฒนาและส่งเสริมอนุรักษ์สัตว์ป่าทะเลน้อย โทร.0-7468-5599

“วังเจ้าเมืองพัทลุง” เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00–16.00 น. คนไทยเสียค่าเข้าชม 5 บาท ส่วนชาวต่างประเทศ 30 บาท

สำหรับผู้สนใจท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุง สามารถสอบถามรายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง โทร.0-7462-0276 หรือที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงาน พัทลุง โทร.0-7434-6514

กำลังโหลดความคิดเห็น