xs
xsm
sm
md
lg

"สำนักพิพิธภัณฑ์ฯ" ม.เกษตร แหล่งภูมิปัญญาที่ไม่น่ามองข้าม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
บุษบกด้านหน้าสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันมาเยือน "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มหาวิทยาลัยย่านบางเขนที่ถือเป็นอีกแหล่งความรู้นอกห้องเรียน เพราะมีพิพิธภัณฑ์หลากหลายแนวในมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาและคนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาหาความรู้กันเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็น "สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ" ที่จำลองโลกใต้น้ำของสัตว์น้ำจืดมาให้ชม หรือ "พิพิธภัณฑ์มด" ของคณะวนศาสตร์ ที่มีมดสารพัดชนิดให้คนที่สนใจได้ศึกษากัน

และวันนี้ก็มีพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งจะมาแนะนำกัน ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์เดียว แต่เป็น "สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ที่มีพิพิธภัณฑ์หลากหลายทั้งที่จัดแสดงในอาคารและพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โดยมีอาจารย์อรไท ผลดี ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร ที่เพิ่งได้รับรางวัล "เพชรสยาม" ประจำปี 2551 ด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (อนุรักษ์ผ้าไทย) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มอบให้เพื่อประกาศเกียรติคุณบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และส่งเสริมผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ดูแลสำนักพิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้
ของใช้เกี่ยวกับการเกษตรต่างๆ
อากาศในช่วงนี้กำลังเย็นสบาย เมื่อได้มาเดินเล่นอยู่ใต้ต้นนนทรีที่ปลูกเรียงเป็นแถวตามทางเดินใน ม.เกษตรฯ ก็ทำให้ฉันก็รู้สึกเพลิดเพลินไม่น้อย ไม่นานนักก็เดินมาถึงสำนักพิพิธภัณฑ์ฯจนได้ สำหรับจุดสังเกตนั้นก็ดูง่ายๆ หากว่ามองไปแล้วเห็นบุษบกทรงไทยตั้งอยู่กลางสระน้ำก็แสดงว่ามาถึงสำนักพิพิธภัณฑ์ฯแล้ว

บุษบกที่ว่านี้ เป็นบุษบกมาลาประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ "สธ" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารแก่สำนักพิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้ด้วย บุษบกนี้มีขนาดสูงถึง 6 เมตร จึงนับเป็นบุษบกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยล่ะ
ชุดของชนเผ่าต่างๆภายในพิพิธภัณฑ์
ถัดเข้ามาทางด้านหลังบุษบก จะมองเห็นอาคารขนาดใหญ่หน้าตาไทยๆ นั่นคืออาคารโรงละคร จุดเด่นอยู่ตรงที่ซุ้มพญานาคหน้าทางเข้าโรงละครทั้งสองด้านที่ดูอ่อนช้อยงดงาม และตรงกลางระหว่างพญานาคนั้นมีตราประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ด้วย

สำหรับตัวพิพิธภัณฑ์ที่ฉันตั้งใจจะมาชมนั้นก็ตั้งอยู่ในอาคารนิทรรศการที่อยู่ข้างๆโรงละครนั่นเอง เริ่มจาก "พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาวัฒนธรรมการเกษตรของชนเผ่าไท" ที่เสนอองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับภูมิปัญญาวัฒนธรรมการเกษตรในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ชนเผ่าไท ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเก่าแก่ชนเผ่าหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาก่อนชาติอื่น และทำให้พบว่าดินแดนที่ชนเผ่าไทในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่นั้นเป็นแหล่งกำเนิดการเกษตรกรรมของโลก
ชุดในประเพณีแต่งงานของชาวล้านนา
การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ทำให้ฉันได้รู้ว่า ในแหล่งโบราณคดี เหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อเจียง เป็นแหล่งที่พบฟอสซิลของเมล็ดข้าวเจ้า อายุประมาณ 7 พันปี ถือว่าเก่าแก่มากทีเดียว และสำหรับในประเทศไทยเองก็พบหลักฐานเกี่ยวกับการเกษตรอันเก่าแก่เช่นกัน คือที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี พบเครื่องปั้นดินเผาเป็นภาชนะสามขา อายุ 4,000 ปี อีกทั้งยังมีภาพหลักฐานบนฝาผนังถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อาทิ ภาพสะท้อนการทำนาดำ จับปลาด้วยตุ้มที่ถ้ำผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ภาพอุปกรณ์การเกษตร เช่น ไถ ผาล วี ที่ถ้ำผายนต์ จังหวัดสกลนคร ฯลฯ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาเก่าแก่ของการเกษตรกรรมในประเทศไทย

สาธยายมากไปก็จะมึนกับข้อมูลเปล่าๆ ฉันอยากให้มาดูกันเองดีกว่า เพราะจะได้เห็นอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือในการทำนา เครื่องมือในการจับปลา ภาชนะสานจากไม้ไผ่ที่ไว้ใช้ใส่สิ่งของต่างๆ ที่หาดูไม่ง่ายแล้วในสมัยนี้
ชุดในประเพณีแต่งงานของชนเผ่าต่างๆ
ในบริเวณเดียวกันก็ยังมี "พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมผ้าเผ่าไทยเทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี" ซึ่งจัดแสดงชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชนเผ่าไทหลายๆเผ่า ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่มีความประณีต งดงามแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นไทเหนือ (ไทยวน) ไทพวน ไทโซ่ง (ไททรงดำหรือลาวโซ่ง) ไทครั่ง ไทภาคกลาง ไทลาว (เวียงจันทน์และหลวงพระบาง) ภูไท (ผู้ไทย) ไทอีสาน ไทลื้อ ไทปาเก้ (พาเก) และไทถิ่นใต้ เป็นต้น ซึ่งก็จะมีคำอธิบายเกี่ยวกับการแต่งตัวของแต่ละเผ่าไว้ให้อ่านกันด้วย

ผู้ที่ชอบเรื่องเกี่ยวกับผ้าคงต้องชอบแน่ๆ เพราะจะได้ชมผ้าทอของชนเผ่าต่างๆอย่างใกล้ชิด และเครื่องแต่งกายที่นำมาจัดแสดงให้ชมนั้นก็งดงามไปทุกแบบเสียจริง เช่น ชุดไทดำเมืองลา ชุดผู้ไท ชุดไทยสยาม ซึ่งก็มีทั้งชุดไทยจิตรลดา ไทยเรือนต้น ไทยอมรินทร์ จัดแสดงให้ชมกัน
แปลงนาสาธิตในอุทยานข้าวไทย
ส่วนพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดกันไปเมื่อไม่นานนี้ก็คือ "พิพิธภัณฑ์ผ้าเผ่าไทในประเพณีแต่งงาน" ที่จัดแสดงชุดแต่งงานของชนเผ่าไทต่างๆ เช่น ชุดแต่งงานของชาวล้านนา ชุดแต่งงานของชาวผู้ไทดำ ชุดแต่งงานของชาวไททรงดำ (ลาวโซ่ง) ชุดแต่งงานของชาวไทครั่ง ชุดแต่งงานชาวไทเขิน ชุดแต่งงานชาวไทลื้อ เป็นต้น โดยชุดในงานแต่งงานนั้นย่อมมีความสวยงามและพิเศษกว่าชุดที่ใส่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ฉันจึงรับรองได้ว่า ชุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะสร้างความประทับใจได้แน่ๆ

นอกจาก 3 พิพิธภัณฑ์นี้แล้ว บนชั้นสองก็ยังมีนิทรรศการ "ข้าวของพ่อ รวมพลังข้าวของแผ่นดิน" ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับข้าว ตั้งแต่ตำนานเกี่ยวกับข้าว เครื่องมือทำนายุคเก่า การดูแลข้าว พันธุ์ข้าวไทยชนิดต่างๆ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้าว ข้าวหอมมะลิ และที่เป็นจุดเด่นคือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเน้นความสำคัญของข้าวที่มีต่อชาวไทย
ชมนาข้าวกลางกรุงได้ที่ม.เกษตร
คราวนี้ออกมารับลมชมพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งกันบ้างที่ "อุทยานข้าวไทย" ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์นี่เอง อุทยานข้าวไทยนั้นเป็นแปลงนาสาธิตเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของต้นข้าว ซึ่งหากใครแวะเวียนมาดูบ่อยๆก็จะได้เห็นข้าวตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า ไปจนตั้งท้อง และออกรวงเป็นสีทอง เป็นเมล็ดข้าวให้เรากินในที่สุด ซึ่งฉันว่าเหมาะมากหากพ่อแม่หรือคุณครูจะพาเด็กๆ มาชม และถ่ายรูปกับหุ่นไล่กาที่ยืนเฝ้านาข้าวเหงาอยู่ตัวเดียว

นอกจากนั้นแล้ว พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งนี้ก็ยังมี "สวนวัฒนธรรมไทยธีระ สูตะบุตร" ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาพรรณไม้ทางวัฒนธรรมไทยโดยมีพรรณไม้อยู่ 9 กลุ่มด้วยกัน คือพรรณไม้ในพุทธประวัติ พรรณไม้ในโบราณคดี พรรณไม้ในตำนานเมืองและพงศาวดาร พรรณไม้ในจารึก พรรณไม้ในวรรณคดี พรรณไม้ทำเครื่องดนตรีไทย พรรณไม้ในเพลงไทย พรรณไม้ในพิธีกรรมและความเชื่อ และพรรณไม้ในศิลปะไทย
ต้นไม้ต่างๆในสวนวัฒนธรรมไทยธีระ สูตะบุตร
ส่วน "อุทยานพรรณไม้ในเพลงพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี" ก็เป็นสวนที่คัดเลือกต้นไม้ดอกไม้มาจากเพลงที่สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงประพันธ์ขึ้นซึ่งเป็นเพลงชมพรรณไม้ไทย เช่น ตับชมสวนขวัญ เพลงดอกไม้ไทร ดอกไม้ไพร ดอกไม้ร่วง เพลงเต่ากินผักบุ้ง 2 ชั้น เป็นต้น และสุดท้ายคือ "อุทยานพรรณพืชให้สีย้อมผ้าของชนเผ่าไท" ที่มีพรรณไม้ให้สีสำหรับย้อมผ้า เช่น ต้นส้มกบ ต้นทองกวาว ลูกตะโก ต้นมะเกลือ เป็นต้น งานนี้ใครชอบต้นไม้แปลกๆ หายากละก็ ได้เดินชมกันเพลินเลยเชียวแหละ

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

"สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร" ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ใกล้กับประตูงามวงศ์วาน 2 เปิดให้ชมฟรีในวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-2942-8711 ถึง 2
กำลังโหลดความคิดเห็น