ประเพณี “ลอยกระทง” ที่ยึดถือเป็นธรรมเนียนปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ช้านาน จะตรงกับวันเพ็ญ เดือนยี่เหนือ (เดือนพฤศจิกายน) หัวใจหลักของประเพณีการลอยกระทง โดยเฉพาะในแถบล้านนา จะยึดถือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ หรือ “วันยี่เป็ง” เป็นวันสำคัญ
ในวันนี้จะเป็นวันขอขมาต่อแม่น้ำคงคาและพระแม่คงคา ที่ได้กระทำสิ่งไม่ดีต่อแม่น้ำลำคลอง ในช่วงเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร และมีเทศน์มหาชาติฉบับล้านนา ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงกลางคืน มีการปล่อยโคมลอยขึ้นบนท้องฟ้า
ซึ่งชาวล้านนาถือว่า การลอยโคมนี้เป็นการปล่อยเคราะห์ ปล่อยโศก บ้างเชื่อว่า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสรวงสวรรค์ นอกเหนือจากการลอยกระทง ที่กระทำเพื่อขอขมาต่อแม่น้ำและเพื่อลอยเคราะห์ลอยโศกออกจากตัวเราเช่นกัน
ลอยโคม 10,000 ดวง ประดับฟ้ายามราตรี
สำหรับในปีนี้ประเพณีลอยกระทง จะตรงกับวันที่ 12 พ.ย.2551 ในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วไทย ก็ต่างเตรียมพร้อมจัดงานกันอย่างถ้วนหน้า และที่ “จังหวัดพะเยา” หนึ่งจังหวัดล้านนาตะวันออก จังหวัดเล็กๆอันเงียบสงบก็เฉกเช่นเดียวกัน ที่ได้เตรียมจัดงานประเพณีลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่ใด
แต่เนื่องจากปวงชนชาวไทย อยู่ในห้วงของการจัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 14 –19 พ.ย.2551นี้ ทางจังหวัดพะเยาจึงได้เลื่อนการจัดงานประเพณีลอยกระทงให้เร็วขึ้น เป็นวันที่ 7 - 9 พ.ย. 2551 แทน
เรืองวรรณ บัวนุช ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้กล่าวถึงการจัดงานประเพณีลอยกระทงของจังหวัดพะเยาในปีนี้ว่า ทางจังหวัดพะเยาใช้ชื่องานครั้งนี้ว่า “ ยี่เป็ง ลอยโคม ส่งเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สู่สถานวิมานฟ้า ราชขัติยนารีจักรีวงศ์ ”
และในช่วงการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ภาค 5 ครั้งที่ 25 กว๊านพะเยาเกมส์ ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 2551 เป็นต้นมา จังหวัดพะเยาได้ประดับตกแต่งโคมลอย เอกลักษณ์ของประเพณียี่เป็งลอยโคมกว๊านพะเยาทั่วทั้งเมือง
ซึ่งในปีนี้ จะเป็นโคมลอยสีขาว มีความวิจิตรงดงามอลังการยิ่ง ออกแบบโดย อ.เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์ ศิลปินชื่อดังแห่งล้านนา และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะองค์อุปถัมภ์วงการดนตรีคลาสสิคของประเทศไทย โดยทรงมีความสนพระทัยในกิจการดนตรี และมีพระกรุณาธิคุณต่อการพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านดนตรีของประเทศไทย
จังหวัดพะเยาได้มุ่งหวังที่จะให้จังหวัดพะเยากลายเป็น “พะเยา เมืองแห่งดนตรี วัฒนธรรมและสุขภาพ” เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านดนตรีคลาสสิคสู่สาธารณชนและพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยเน้นกลุ่มลูกค้าคุณภาพที่ชื่นชอบในดนตรีคลาสสิค ศิลปวัฒนธรรมล้านนา
ทั้งนี้ภายในวันงาน “ยี่เป็งลอยโคม” ของจังหวัดพะเยา จะมีการแสดงจินตนาการ นฤมิตรศิลป์ นาฏลีลาและม่านน้ำประกอบดนตรี ซิมโฟนีออเคสตร้า โดยวง Northern Symphony Orchestra พบการจัดแสดงพลุและดอกไม้ไฟเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บริเวณเวทีกลางกว๊านพะเยาทุกคืน
“นักท่องเที่ยวที่มาในวันงาน จะได้ร่วมปล่อยโคม 10,000ดวง นอกจากนี้ยังสามารถชมและจับจ่ายใช้สอย กาดโบราณฮิมกว๊าน โดยจ่ายด้วยเงินโบราณ ร่วมชมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและกินข้าวแลงฮิมกว๊าน ชมนิทรรศการแสงหนึ่งคือรุ้งงามอีกด้วย”ผู้ว่าฯกล่าว
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดพะเยา ยังสามารถใช้เวลาว่างใช้ช่วงกลางวัน ก่อนงานเริ่มเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้กับบริเวณได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ “กว๊านพะเยา” แหล่งทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ พายเรือเที่ยวชมวัดโบราณใต้น้ำกว๊านพะเยาที่ “วัดติโลกอาราม” รอชมพระอาทิตย์ตกสวยๆที่ริมกว๊าน หรือ จะแวะไปไหว้ “พระเจ้าตนหลวง” พระคู่บ้านคู่เมืองชาวพะเยา ที่ วัดศรีโคมคำ ก่อนมาลอยโคมก็ย่อมได้
โคมรูปสัตว์
วิมล ปิงเมืองเหล็ก อ.ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา กล่าวถึงด้านประเพณีและความเชื่อของการปล่อยโคมและความสำคัญของการลอยกระทงในล้านนาให้ฟังว่า หัวใจที่แท้จริงของประเพณีการลอยกระทงในล้านนา จะอยู่ที่ “การเทศน์มหาชาติ” การเทศน์ในวันยี่เป็ง ชาวล้านนาเชื่อกันว่า หากฟังครบให้วันเดียวจะได้พบพระศรีอริยะเมตไตรย
“ตามความเชื่อของชาวล้านนา การลอยกระทงนอกจากจะเป็นการขอขมาต่อแม่น้ำคงคา ยังเชื่อว่ากระทงที่ลอยจะไหลไปยังเมืองหงสาวดีประเทศพม่า เพื่อให้ไหลไปหาญาติพี่น้องชาวล้านนา ที่ถูกต้อนไปเมื่อครั้งสมัยโบราณอีกด้วย ในส่วนของการลอยโคมสมัยก่อนทางล้านนาจะมีการปล่อยโคมขนาดใหญ่มาก ใช้คนปล่อยโคมหลายคนด้วยกันและใช้เวลานานกว่าโคมจะลอยขึ้นฟ้า ในบางครั้งก็จะเป็นโคมรูปสัตว์ ที่เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ แต่ปัจจุบันโคมรูปสัตว์ได้เลือนหายไป ผมเคยเจอเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ที่เห็นการปล่อยโคมรูปสัตว์ คือ ที่เมืองเชียงตุงประเทศพม่า ส่วนในล้านนาปัจจุบันหาดูไม่ได้แล้ว”อ.วิมลเล่า
“เอื้องแก้ว” มิติแห่งกาลเวลา มิอาจกั้นความรัก ความภักดีต่อแผ่นดิน ของเธอและเขา
และด้วยความที่จังหวัดพะเยา มีการส่งเสริมผลักดันในเรื่องของการดนตรี เพื่อก้าวไปสู่ความเป็น “Vienna of south East Asia” ของการดนตรี มนต์เสน่ห์หนึ่งที่ทางจังหวัดเลือกที่จะนำมาสะกดคนดู นอกเหนือจากการลอยโคมนับ10,000 ดวง ก็คือเรื่องของการแสดงละครเพลง
อ.นุรักษ์ นนทรี นายกสมาคมซิมโฟนีภาคเหนือ กล่าวถึงละครโอเปร่าล้านนาครั้งแรกของไทย ที่จะจัดแสดงภายในงานประเพณี “ยี่เป็ง ลอยโคม” ณ จังหวัดพะเยา ว่า ในส่วนของฉากละครจะเป็นม่านน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางกว๊านพะเยา สามารถเปลี่ยนฉากได้อย่างรวดเร็ว
“สำหรับละครเทิดพระเกียรติมีชื่อเรื่องว่า “เอื้องแก้ว” มีเรื่องย่อ คือ นายแพทย์หนุ่มคนหนึ่งที่ได้เดินทางมาเมืองพะเย าและหลงย้อนยุคเข้าไปในยุคของขุนเจืองธรรมมิกราช ได้พบแม่หญิงชาวพะเยาคนหนึ่งชื่อ “เอื้องแก้ว “ และเกิดเรื่องราวต่างๆขึ้นมากมาย
เป็นการแสดงร้องเพลง พูด สดไม่ลิปซิงค์ เราใช้นักแสดงกว่า 400 ชีวิต ในการแสดงครั้งนี้ ละครเพลงล้านนาส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยเรื่องนี้ จะมีขึ้นทุกวันตั้งแต่วันที่ 7-9 พ.ย. 2551 เริ่มเวลา 2 ทุ่ม-4 ทุ่ม”อ.นุรักษ์กล่าว
วัน “ยี่เป็ง” ของชาวพะเยาปีนี้ แฝงไปด้วยมนต์ขลังไม่แพ้ที่อื่นใด หากใครอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ที่ได้ร่วมแต้มสีสัน ประดุจดาวพราวฟ้า ให้กว๊านพะเยา ด้วยการ ลอยโคม นับ10,000 ดวง อย่ารอช้าเตรียมตัวเดินทางขึ้นเหนือมุ่งตรงไป “พะเยา” ได้เลย