xs
xsm
sm
md
lg

ไปรัก “ปิล๊อก”เมืองเคียงหมอก ตำนานเหมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ้านอีต่องพื้นที่อดีตเหมืองปิล๊อก เรียบง่ายสงบงามท่ามกลางขุนเขา
“ทองผาภูมิ” เป็นหนึ่งในอำเภอที่ได้“ชื่อ”ว่ารุ่มรวยที่สุดในเมืองไทย(ย้ำว่าขอให้พิจารณาเฉพาะชื่อ) เพราะอำเภอใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรีแห่งนี้ มีสัญลักษณ์แห่งความรุ่มรวยอย่าง"ทอง" (ผาภูมิ)ประทับอยู่ในชื่ออำเภอนั่นเอง

กระนั้นหากพูดถึงอำเภอทองผาภูมิในด้านฐานะ ครั้งหนึ่งอำเภอนี้ก็เคยมั่งคั่งร่ำรวยติดอันดับอำเภอเศรษฐีของเมืองไทยเช่นกัน เพราะทองผาภูมิเคยเป็น“เมืองเหมือง”อันรุ่งโรจน์มาก่อนนั่นเอง ซึ่งสุดยอดแห่งเหมืองในทองผาภูมิคงจะเป็นเหมืองใดไปไม่ได้ นอกจาก(อดีต) “เหมืองปิล๊อก”อันลือลั่น
รอยอดีตเหมืองปิล๊อกที่ยังคงอยู่
ปิล๊อก เหมืองเก่าเล่าอดีต

ย้อนอดีตไปเมื่อหลาย 10 ปีก่อน มีผู้พบเห็นชาวพม่าเข้ามาลักลอบขุดแร่ในพื้นที่ตำบลปิล๊อกไปขายให้ทหารอังกฤษ คำเล่าลือนี้ทำให้กรมทรัพยากรธรณีสมัยนั้นนำคณะนายช่างมาสำรวจก็ถึงกับตะลึงอึ้งเมื่อพบว่าพื้นที่แถบนี้มีแร่ดีบุกและวุลแฟรมอยู่มากมาย

ต่อมา ปี พ.ศ. 2483 องค์การเหมืองแร่ กรมโลหะกิจ ได้เปิด“เหมืองปิล๊อก”ขึ้นเป็นแห่งแรกที่บ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก หลังจากนั้นก็ได้มีเหมืองแร่อื่นๆทยอยเปิดตามกันมาอีกมากมายทั้งเหมืองเล็กเหมืองใหญ่ราว 50-60 เหมือง เกิดเมืองเหมืองขึ้นมา โดยผู้คนพากันเรียกบรรดาเหมืองทั้งหลายในพื้นที่แถบนี้แบบเหมารวมว่า“เหมืองปิล๊อก”ไปด้วย
บ้านอีต่องวันนี้ที่เงียบเหงา
เหมืองปิล๊อกยุคนั้นเฟื่องฟูมากเพราะแร่ราคาดี ทำให้บรรดาชาวเหมืองและนักแสวงโชคมั่งคั่งกันถ้วนหน้า แถมเหมืองแร่ยังสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนรอบๆ ในขณะที่เรื่องราวในเมืองเหมืองนั้นเป็นดังนิยายเหมืองแร่อันเพริศแพร้ว มีทั้งรัก ชื่น ขื่น โศก บู๊ล้างผลาญ หวานหยดย้อย

นิยายเหมืองแร่แห่งปิล๊อกดำเนินเรื่องราวอยู่หลายสิบปี ก่อนประสบภาวะราคาแร่โลกตกต่ำในปี พ.ศ. 2528 บรรดาเหมืองแร่ทยอยปิดตัวลง ไม่เว้นแม้แต่เหมืองปิล๊อก ทิ้งไว้เพียงตำนานเมืองเหมืองอันรุ่งโรจน์และมนต์เสน่ห์แห่งปัจจุบันอันเรียบง่ายสงบงามให้ผู้สนใจออกดั้นด้นเดินทางไปค้นหา
เรือนพักริมฝายน้ำที่เหมืองสมศักดิ์
ป้าเกล็น เหมืองสมศักดิ์ รักแท้ไม่มีวันตาย

บ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก

เย็นวันฟ้าทะมึน คนกลับจิตใจปลอดโปร่ง

เนื่องเพราะเย็นนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” มีนัดเดินทางขึ้นสู่ “เหมืองสมศักดิ์”ที่ รับรู้มานานในกิตติศัพท์ความง่ายงามของที่พักแบบบ้านเล็กในป่าใหญ่กับตำนานรักของ“ป้าเกล็น เสตะพันธุ”ผู้ดูแลที่พักแห่งนี้
ป้าเกล็นผู้มีรักแท้อันงดงาม
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเดินทางจากบ้านอีต่องสู่เหมืองสมศักดิ์นั้นสมบุกสมบันเอาเรื่อง เพราะเส้นทางเป็นลูกรัง ลาดชัน คดเคี้ยว ต้องนั่งรถโฟร์วีลขึ้นไป แต่เมื่อขึ้นไปถึงเราบอกได้คำเดียว“คุ้มสุดคุ้ม” เพราะทันทีที่ไปถึง ยังไม่ทันเข้าที่พัก เราก็ได้พบกับการต้อนรับอันแสนอบอุ่นของรีสอร์ทแห่งนี้ในทันที

คุณป้าเกล็น มายืนยิ้มคอยท่า ก่อนเชื้อเชิญให้พวกเราจิบชา กาแฟ พักเหนื่อย พร้อมด้วยเค้กโฮมเมดฝีมือคุณป้า วันนั้นมีทั้ง เค้กช็อกโกแลต เค้กส้ม เค้กแครอท-ท้อปปิ้งมะนาว และเค้กกล้วยน้ำว้า ให้เลือกหม่ำกันอย่างจุใจ
ธารน้ำตกในบริเวณที่พักเหมืองสมศักดิ์
“ผู้จัดการท่องเที่ยว” แม้ไม่ใช่ผู้นิยมเค้ก แต่เมื่อได้ลองลิ้มเค้กฝีมือป้าเกล็นบอกได้คำว่าอร่อยมักๆ อร่อยทุกรส ติดใจจนต้องขอเบิ้ลแล้วเบิ้ลอีก

อ้อ?!? เค้กที่นี่รสหวานกำลังดี แต่ที่หวานรื่นชื่นภิรมย์และโรแมนติกสุดๆก็เห็นจะเป็นเรื่องราวรักอมตะข้ามขอบฟ้าระหว่างคุณป้าเกล็นกับลุงสมศักดิ์ ที่วันนี้กลายเป็นตำนานบทหนึ่งของปิล๊อกไปแล้ว

ตำนานรักไม่มีวันตายบทนี้ เริ่มขึ้นเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เมื่อ สมศักดิ์ เสตะพันธุ เดินทางไปเรียนปริญญาโทด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ที่เมืองแคลคูรี ประเทศออสเตรเลีย

ที่นั่นคุณสมศักดิ์ได้พบรักกับสาวชาวออสซี่ คือ"เกล็นนิส เจอร์เมน ไวท์”(ป้าเกล็น) ก่อนทั้งคู่จูงมือเดินเข้าสู่ประตูวิวาห์ แล้วพากันเหินลัดฟ้ากลับมาก่อร่างสร้างครอบครัวที่เมืองไทย
สภาพหมู่บ้านอีต่องในปัจจุบัน
สมศักดิ์มาสานต่อกิจการงานเหมืองด้วยการเปิดเหมืองใหม่ที่ทองผาภูมิ ในชื่อ“เหมืองสมศักดิ์” ส่วนเกล็นเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในกรุงเทพฯ ควบคู่ไปกับการเป็นแม่บ้านอยู่ในเหมืองสมศักดิ์ดินแดนดงดิบอันห่างจากแสงสี โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากทั้งหลาย

ทั้งคู่มี“ความรัก”ส่องนำชีวิต ก่อนที่เมืองเหมืองในปิล๊อกจะเข้าสู่ยุคเสื่อมดังที่ได้เล่ามา ทำให้เหมืองสมศักดิ์ที่เคยรุ่งโรจน์ต้องปิดตัวลงใน ปี พ.ศ.2529 จากนั้น 2 ปีถัดมาลุงสมศักดิ์ป่วยหนักด้วยความตรอมใจ ก่อนเสียชีวิตในอีก 8 ปีต่อมา

ตำนานเหมืองสมศักดิ์ปิดฉากลง แต่ตำนานรักอมตะกลับถูกเปิดขึ้นมาเมื่อป้าเกล็นนำพลังรักที่มีต่อสามี ดัดแปลงอดีตเหมืองให้เป็นที่พักราคาเยาในลักษณะบ้านเล็กในป่าใหญ่ในสไตล์เกสเฮาส์-โฮมสเตย์อันสงบงามและยอดเยี่ยมไปด้วยสภาพแวดล้อมทั้ง แมกไม้ สายธาร น้ำตก ที่เพียงแรกประสบพบเจอ เราก็เกิดอาการรักแรกพบเหมืองสมศักดิ์บ้านเล็กในป่าใหญ่ขึ้นในทันที
ชาวบ้านปิล๊อกส่วนหนึ่งยังคงยึดอาชีพร่อนแร่หาเลี้ยงชีพ
แต่รักแรกพบมีหรือจะสู้ตำนานรักไม่มีวันตายของป้าเกล็น-ลุงสมศักดิ์ได้ ซึ่งจากคำบอกเล่าความทรงจำอันสวยสดและความรักอันงดงามระหว่างคุณป้ากับสามีผ่านอาคันตุกะทั้งหลาย ทำให้เรื่องราวความรักแห่งเหมืองสมศักดิ์ถูกถ่ายทอดปากต่อปาก ก่อนถูกขยายนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ทำให้แต่ละปีมีคนเดินทางมาพักและฟังเรื่องราวความรักของป้าเกล็นอยู่ไม่ได้ขาด

"ความรักคือ สิ่งเดียวในชีวิตที่ไม่มีวันซื้อหาด้วยเงินได้ การได้รักเขา มันคือรางวัลที่มีค่า ตลอดชีวิตของเราทุกวันที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้ารู้สึกเหมือนเราได้รับของขวัญมีค่าในทุกๆ วัน" ป้าเกล็นกล่าวไว้ในบทความ“อยู่เพื่อรัก” หนังสือ ฅ.คน ฉบับปฐมฤกษ์

“ผู้จัดการท่องเที่ยว” หลังฟังคุณป้าเกล็นเล่าขานตำนานความรักแล้ว เรารู้สึกว่ารักแท้มันช่างงดงามกระไรปานนั้น แต่ในยุคนี้ พ.ศ.นี้ การจะหารักแท้ระหว่างคู่รักนั้นมันก็ช่างยากเย็นแสนเข็ญกระไรปานนั้นเช่นกัน

ทว่าถึงอย่างไร คืนนั้น“ผู้จัดการท่องเที่ยว”ก็เข้านอนด้วยใจเฝ้าฝันว่าสักวันชีวิตเราจะมีรักแท้ไม่มีวันตายเหมือนป้าเกล็น-ลุงสมศักดิ์บ้าง
โรงแยกก๊าซฝั่งพม่า(มองจากเนินเสาธง)
เที่ยวอีต่อง-มองมุมสูง

เช้าวันใหม่ ในบ้านเล็กกลางป่าใหญ่

ที่นี่อากาศเย็นสบายดีเป็นบ้า ดีจนทำให้เราไม่อยากลุกขึ้นจากเตียง แต่หากไม่ลุกเราก็จะพลาดโอกาสเดินชมแมกไม้สายธารยามเช้าของที่นี่ ที่มีสายน้ำไหลชิลล์ ใบไม้พร่างพราวไปด้วยหยาดน้ำค้าง น้ำตกเล็กๆไหลรินสร้างความชุ่มฉ่ำทางตาและทางใจแก่ผู้พบเห็น

เราเดินชมบรรยากาศเพลินจนเกือบลืมหิว ถ้าป้าเกล็นไม่ให้ลูกน้องมาเรียกไปกินข้าวเช้า ที่มีข้าวต้มหมูร้อนๆและอเมริกันเบรกฟาสต์ที่ให้ความอร่อยทั้งคู่ เพราะป้าเกล็นใส่ใจในวัตถุดิบและรสชาติเป็นพิเศษ
ฐานตชด.ลอยฟ้าที่เนินช้างศึก
หลังอาหารเช้ามีพระจากสำนักสงฆ์แถวนั้นเดินขึ้นมาบิณฑบาตให้ผู้มาพักได้ใส่บาตรกันตามศรัทธา นับเป็นสิริมงคลยามเช้าก่อน “ผู้จัดการท่องเที่ยว”จะล่ำลา ป้าเกล็นและเหมืองสมศักดิ์ด้วยความประทับใจ ออกเดินทางในเส้นทางสมบุกสมบันกลับมายังบ้านอีต่องอีกครั้ง

บ้านอีต่องเป็นหมู่บ้านชายแดน เป็นที่ตั้งของเหมืองปิล๊อก อดีตเคยรุ่งโรจน์โชติช่วงจากธุรกิจเหมืองแร่ แต่เมื่อวันเวลาผันผ่าน ธุรกิจเหมืองแร่ปิดตัวลง บ้านอีต่องก็พลอยเงียบเหงาไปด้วย

แต่ในความเงียบเหงาเรียบง่ายของหมู่บ้าน มันก็มีเสน่ห์แอบแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สภาพบ้านเรือนไม้ ที่พักรูปร่างแปลกตา ย่านร้านตลาด โรงเรียน โรงหนังเก่าห้องแถวเรือนไม้ในยุครุ่งโรจน์ สายน้ำลำคลอง สายหมอกที่ลอยอ้อยอิ่งปกคลุมเหนือขุนเขา วัดเหมืองปิล๊อกบนเนินเขาที่มีเจดีย์สีทองเหลืองอร่าม และวิถีชีวิตผู้คนที่นอกจากคนไทยแล้ว ที่นี่มีคนพลัดถิ่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้ง พม่า มอญ ทวาย เนปาล
ทิวเขาฝั่งที่ถูกพลิกแผ่นดินทำเหมืองในอดีต(มองจากเนินช้างศึก)
ส่วนใหญ่คนพวกนี้คืออดีตคนงานเหมืองในยุครุ่งโรจน์ มาวันนี้เหมืองปิดตัวไปนานแล้ว แต่ชาวบ้านบางส่วนยังออกร่อนแร่ตามธารน้ำ นำแร่มาขายเป็นรายได้จุนเจือชีวิตที่ต้องปากกัดตีนถีบ เพราะในวันนี้ใต้ดินปิล๊อกยังมีสินแร่อยู่อีกมากมายถึงเกือบ 70 % เลยทีเดียว

ส่วนที่เป็นตำนานประจำบ้านอีต่องก็หนีไม่พ้นอดีตเหมืองปิล๊อก ที่ยังทิ้งร่องรอยความรุ่งโรจน์บางส่วนให้นักท่องเที่ยวเป็นขวัญตา

จากตัวหมู่บ้านอีต่องเราเดินทางขึ้นไปชมวิวยังเนินเสาธง หรือ “จุดประสานสัมพันธไมตรีนิจนิรันดร์ไทย-เมียร์มาร์” ที่มีเสาธงชาติของสองประเทศตั้งโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์
สายหมอกลอยปกคลุมขุนเขาแห่งเทือกเขาตะนาวศรี(มองจากเนินช้างศึก)
เนินเสาธง เป็นยอดเขากั้นพรมแดนไทย-พม่า ที่นี่จึงมีทั้งทหารไทย ตชด. และทหารพม่าประจำการอยู่ ซึ่งทหารพม่าบางคนเขาก็ยินดีให้นักท่องเที่ยวไทยไปถ่ายรูปคู่กับเขาได้ ในขณะที่ทิวทัศน์บนนี้ หลักๆก็เห็นจะเป็นโรงพักแยกก๊าซธรรมชาติทั้งในฝั่งไทยและฝั่งพม่า ส่วนถ้าวันไหนท้องฟ้าเปิดเป็นใจ ในฝั่งพม่าสามารถมองไปไกลเห็นถึงทะเลอันดามันเลยทีเดียว

พูดถึงจุดชมวิวแล้ว ปิล๊อกมีจุดชมวิวระดับสุดยอดอยู่แห่งหนึ่ง นั่นก็คือจุดชมวิวเนินช้างศึกอันเป็นที่ตั้งของฐานตชด.เหนือเมฆ หรือฐานตชด.ลอยฟ้า เพราะเมื่อขึ้นไปยืนบนนั้นแล้วมองลงมาเบื้องล่างจะเห็นวิวทิวทัศน์ของขุนเขาแห่งเทือกเขาตะนาวศรีอันสวยงามกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ดุจดังทะเลภูเขาบนพื้นพิภพ บางช่วงมีเมฆหมอกขาวลอยอ้อยอิ่งยิ่งช่วยเสริมองค์ประกอบของทิวทัศน์ให้ชวนฝันมากขึ้น ส่วนถ้าเดินมาทางด้านหลังฐานตชด.มองลงไปก็จะเป็นทิวทัศน์หมู่บ้านโบอ่องที่ตั้งสงบอยู่ท่ามกลางขุนเขาแวดล้อม
น้ำตกจ๊อกกะดิ่น
เราสังเกตว่าภูเขาที่นี่ส่วนใหญ่มีสภาพโกร๋นเกรียน มีต้นไม้ขึ้นหร็อมแหร็ม เขาหลายลูกมีสภาพถูกขุดเจาะทำเหมืองอย่างชัดเจน ดูแล้วทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การจะได้สินแร่ทรัพย์ในดินมานั้นมันก็ต้องแลกด้วยการพลิกผืนดินอย่างใหญ่หลวง ส่งผลให้ภูเขาหลายลูกโกร๋นเกรียนมาจนทุกวันนี้

ยกทะเลมาไว้ในน้ำตก

ขากลับจากปิล๊อก เราไม่ลืมที่จะชมความงามของน้ำตกจ๊อกกะดิ่น ในอุทยานฯทองผาภูมิที่เป็นเส้นทางผ่านอยู่แล้ว

น้ำตกจ๊อกกะดิ่น อยู่ห่างที่ทำการอุทยานฯประมาณ 5 กม. ต้องนั่งรถโฟร์วีลเข้าไปก่อนเดินเท้าต่ออีกประมาณ 200 เมตร(เส้นทางนี้ทากเยอะมากต้องหาวิธีป้องกันหรือระวังให้ดี) น้ำตกจ๊อกกะดิ่น เป็นน้ำตกขนาดย่อมสูงประมาณ 30 เมตร มีชั้นเดียว แต่ว่ามีความพิเศษตรงที่มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นสีครามปนเขียว และที่สำคัญคือเป็นแอ่งน้ำพื้นทรายที่เหมาะแก่การเล่นน้ำไม่น้อยเลย

ด้วยสีสันเขียวปนครามที่ยามต้องแสงจะมองดูประหนึ่งหาดทรายชายทะเลเล็กๆใต้น้ำตก ทำให้ใครบางคนในทริปจินตนาการไปว่า ธรรมชาติช่างสรรค์สร้างบรรจงยกทะเลมาไว้ที่น้ำตกแห่งนี้ ซึ่งในสายตาของเราแล้ว ธรรมชาติที่สรรค์สร้างแต่งแต้มความงามแห่งทองผาภูมิ รวมถึงจุดท่องเที่ยวต่างๆในทองผาภูมินั้น จะว่าไปมันก็คือ“ขุมทอง”ทางการท่องเที่ยวดีๆนี่เอง ที่ทั้งเจ้าถิ่นและอาคันตุกะต้องช่วยกันดูแลรักษาขุมทองให้อยู่คู่กับทองผาภูมิไปตราบนานเท่านาน...
*****************************************

เหมืองปิล๊อก ตั้งอยู่ที่บ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี การเดินทางจากตัวเมืองกาญจน์ไปยัง อ.ทองผาภูมิ ใช้ระยะทางประมาณ 146 กม. ไปตามทางสายกาญจนบุรี-ทองผาภูมิ(ทางหลวงหมายเลข 323) ผ่าน อ.ไทรโยค ไปเรื่อยจนถึงสามแยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหมายเลข 3272 (หากเลี้ยวขวาจะไปอ.สังขละบุรี) หากไปด้วยรถโดยสารประจำทางในสถานีขนส่งเมืองกาญจน์ มีรถทองผาภูมิ-สังขละ วิ่งทุกๆ 40 นาที เวลา 6.00-18.20 น.

จาก อ.ทองผาภูมิ ตรงไปยังเส้นทางเขื่อนวชิราลงกรณ(เขื่อนเขาแหลม) แล้วเข้าไปทางบ้านไร่ 30 กม. จากบ้านไร่ไปอีกประมาณ 30 กม. (เส้นทาง 399 โค้ง) ก็จะถึงยังบ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก ส่วนจากบ้านอีต่อง จากบ้านอีต่องมีเส้นทางสู่เหมืองสมศักดิ์ระยะทางประมาณ 5 กม. เป็นถนนลูกรังสูงชันคดเคี้ยวต้องใช้รถโฟร์วีลเท่านั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30-40 นาที ส่วนผู้ที่นำรถไปเอง(ไม่ใช่รถโฟร์วีล)สามารถฝากรถได้ที่ สภ.อ.ทองผาภูมิ แล้วให้รถโฟร์วีลของทางเหมืองสมศักดิ์มารับตามเวลาที่นัดแนะ

สำหรับผู้สนใจพักที่เหมืองสมศักดิ์ บ้านเล็กในป่าใหญ่ หรือรีสอร์ทป้าเกล็นนั้น สามารถติดต่อได้ที่ 08-7019-1708,08-1325-9471 แต่ต้องฝากข้อความไว้เพราะบนนั้นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ หรือทางอีเมล์ : parglen.com@hotmail.com

ส่วนผู้ที่ต้องการเที่ยวอำเภอทองผาภูมิ ตำบลปิล๊อก บ้านอีต่อง และเมืองกาญจนบุรีสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200, 0-3451-2500

อนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวบางส่วนในเรื่องนี้บางที่มีภาษาแปลกๆนั้นต่างก็มีที่มาของความหมายอยู่ในตัว ดังนี้

“ปิล๊อก” มาจากคำว่า“ผีหลอก” มีที่มาที่ไปคือ ในอดีตที่เคยเป็นดินแดนอันน่ากลัว มีการล้มตายจากการเข่นฆ่า และไข้ป่าอย่างมาลาเรีย โดยเฉพาะช่วงการเปิดเหมืองนั้น ได้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจไทยกับกรรมกรพม่า เพราะฝ่ายไทยห้ามกรรมกรพม่านำแร่ไปขายให้อังกฤษ แต่กรรมกรพม่าฝ่าฝืน จึงเกิดการปะทะกันทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก แต่ต่อมาชาวพม่าพูดเพี้ยนไปเป็น "ปิล๊อก" ซึ่งกลายเป็นชื่อและชื่อตำบลในเวลาต่อมา

“อีต่อง” มาจากคำว่า "ณัตเอ่งต่อง" แปลว่า "ภูเขาแห่งเทพเจ้า" หรือ "เขาเทวดา" อันเป็นภูเขาที่ชาวพม่าพบแร่และลักลอบขุดแร่ไปขาย ก่อนเพี้ยนเป็น "อีต่อง" มาจนถึงวันนี้

"จ๊อกระดิ่น" หมายถึงน้ำที่ไหลลงจากหน้าผาสู่ลานหิน


รู้จักกาญจนบุรี
สถานที่ท่องเที่ยว
 
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
 
สีสันกาญจนบุรี 177 ปีปากแพรก ถนนสายชีวิต
ไหว้พระธาตุเมืองกาญจน์ที่ "วัดถ้ำเสือ-วัดถ้ำเขาน้อย"
ขึ้นห้างดูช้างที่ทองผาภูมิ/ปิ่น บุตรี
คำแสด "รีสอร์ทตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง"
รร.”ริเวอร์แคววิลเลจ” อิงธรรมชาติ ยืนยงคู่เมืองกาญจน์
กำลังโหลดความคิดเห็น