ปัจจุบันรูปแบบการท่องเที่ยวบ้านเราได้ปรับเปลี่ยนไปหลายแนวทาง นอกเหนือจากการท่องเที่ยวตามประเพณีนิยมที่ทำกันมายาวนานที่ไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักคุ้นเคยกันดี ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่จำเพาะเจาะจงมากขึ้น
ทุกวันนี้เรามีชุมชนเล็กๆมากมายที่เปิดตัวเองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนนี้กำลังเป็นจุดเปลี่ยนของโลกแห่งการท่องเที่ยว เป็นทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว
นิยามการท่องเที่ยวโดยชุมชนคือการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดกระบวนการทิศทาง และรูปแบบการท่องเที่ยวของตนเอง ชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรท่องเที่ยวนั้นๆ และมีส่วนได้ส่วนเสียที่เกิดจากการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวที่จัดโดยชุมชนนั้นมีจุดขายที่หลากหลาย ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต การอนุรักษ์ รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบเพื่อสร้างความยั่งยืนสู่คนรุ่นลูกหลานและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง
นักท่องเที่ยวที่เลือกไปเที่ยวชุมชนเหล่านั้นก็จะได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ชุมชนนั้นๆนำเสนอ เช่นได้รู้จักกรรมวิธีทอผ้า การทำเกลือการเลี้ยงต้อนรับแบบชนเผ่า หรือแม้แต่การใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับบริษัทเอ็กซ์พลอเรอร์ ชาแนล จำกัด จึงได้ออกหนังสือ “เที่ยวให้รู้ เปิดประตูสมอง” เพื่อเป็นหนึ่งในองค์ประกอบร่วมในการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวแนวนี้ที่คาดว่าจะเป็นเทรนด์ใหม่ในอนาคต
หนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมและคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ จำนวน 48 แห่งทั่วประเทศ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับภาคเหนือจะพบกับ 7 ชุมชนเพื่อการเรียนรู้ 3 ด้านที่หลากหลาย อาทิบ้านผานกกก จ.เชียงใหม่, โครงการหลวงปังค่า จ.พะเยา, บ้านดอนมูล จ.น่าน, หาดทะนง จ.อุทัยธานี, หมู่บ้านมะตูม จ.พิษณุโลก
ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก 3 ภูมิภาคที่อยู่ตรงกลางๆของประเทศมีชุมชนให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ถึง 16 แห่ง เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ ที่มีชุมชนเชียวชาญงานฝีมือหลายแห่ง อาทิ บ้านดอนไก่ดี จ.สมุทรสาคร, บ้านอรัญญิก จ.อยุธยา, บ้านหนองขาว จ.กาญจนบุรี, บ้านเปร็ดใน และบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด, บ้านคลองโคน จ.สมุทรสงคราม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 ชุมชนภาคอีสานมีถึง 10 แห่งที่ร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น เชียวชาญงานหัตถกรรมต่างๆ หลากหลายสาขา อาทิ บ้านปะอาว จ.อุบลราชธานี, บ้านโพน จ.กาฬสินธุ์, บ้านแพง จ.มหาสารคาม, บ้านกุดนาขาม และศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานฯ จ.สกลนคร, บ้านวังน้ำมอก จ.หนองคาย, อำเภอเรณู จ.นครพนม
และภาคใต้ พบกับ 8 ชุมชนที่โดดเด่นด้านวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติ อาทิ เกาะยาวน้อย จ.พังงา, บ้านม่วงกลวง จ.ระนอง, บ้านลีเล็ด จ.สุราษฎร์ธานี, บ้านบ่อเจ็ดลูก จ.สตูล, เกาะมะพร้าว จ.ภูเก็ต, เกาะยอ จ.สงขลา เป็นต้น
นอกจากนี้ในหนังสือยังแนะนำแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ตัวอย่างโปรแกรมท่องเที่ยว แหล่งที่กิน ที่พัก สินค้าที่น่าสนใจของชุมชนนั้นๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถหาซื้อหนังสือ “เที่ยวให้รู้ เปิดประตูสมอง” ได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปตั้งแต่เดือนตุลาคมศกนี้