ปัจจุบันรูปแบบการท่องเที่ยวบ้านเราได้ปรับเปลี่ยนไปหลายแนวทาง นอกเหนือจากการท่องเที่ยวตามประเพณีนิยมที่ทำกันมายาวนานที่ไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักคุ้นเคยกันดี ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่จำเพาะเจาะจงมากขึ้น
ทุกวันนี้เรามีชุมชนเล็กๆ มากมายที่เปิดตัวเองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนนี้กำลังเป็นจุดเปลี่ยนของโลกแห่งการท่องเที่ยว เป็นทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว
นิยามการท่องเที่ยวโดยชุมชน (จากหนังสือ เที่ยวให้รู้เปิดประตูสมอง) คือการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดกระบวนการ ทิศทาง และรูปแบบการท่องเที่ยวของตนเอง ชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรท่องเที่ยวนั้นๆ และมีส่วนได้ส่วนเสียที่เกิดจากการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวที่จัดโดยชุมชนนั้นมีจุดขายที่หลากหลาย ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต การอนุรักษ์ รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบเพื่อสร้างความยั่งยืนสู่คนรุ่นลูกหลานและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง
การท่องเที่ยวชุมชน ผลดี-ผลเสีย
อาจารย์ ธันยพร วณิชฤทธา นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ ได้กล่าวถึงข้อดีของการท่องเที่ยวชุมชนว่า ก่อนอื่นมันจะมี 2 คำ คือ การท่องเที่ยวโดยชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งแตกต่างกัน “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” จะจัดการเองโดยชุมชน แต่ “การท่องเที่ยวชุมชน” อาจจะอาศัยองค์ประกอบของชุมชนที่มีอยู่แล้วหรือศักยภาพเป็นตัวฐาน แล้วอาจจะเป็นผู้ประกอบการหรือรัฐเข้ามาให้เที่ยวในชุมชน
สำหรับประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับมีหลายทาง คือประโยชน์ในด้านการพัฒนาของชุมชนเอง โดยที่การท่องเที่ยวทำขึ้นเพื่อตอบสนองปัญหาหรือความต้องการของชุมชนบางอย่าง แต่ไม่ได้เพื่อความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น ประโยชน์ก็จะตอบกลับสู่ชุมชนนั้นๆ เช่น ต้องการแก้ปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม ชุมชนนั้นก็จะได้การจัดการสิ่งแวดล้อมโดยทางอ้อม ดังนั้นประโยชน์ก็คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายกับชุมชนในตอนแรกเพื่อประโยชน์ทางด้านการพัฒนา การจัดการมากกว่าประโยชน์ในเรื่องรายได้
แต่หากชุมชนนั้นไม่ได้รับทราบความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง ยังไม่รู้จักว่าตัวเองต้องการอะไร อาจจะเป็นข้อเสียเพราะเมื่อมีการท่องเที่ยว ความต้องการทางด้านเศรษฐกิจมันจะมาพร้อมๆ กัน คือพอคนมาเที่ยวก็ต้องเกิดการใช้จ่าย แต่ถ้าผู้จัดการท่องเที่ยวชุมชนไปเห็นถึงรายได้มากกว่าเป้าหมายในตอนแรก เช่น เป้าหมายในเรื่องของการอนุรักษ์ การดูแลสิ่งแวดล้อม แม้กระทั้งการแก้ปัญหาการยากจน ถ้าเรามุ่งเป้าหมายเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเดียวก็จะได้ข้อเสีย อาจมีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เข้าใจกัน เพราะลืมความต้องการของตัวเองไป
และความไม่พร้อมเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาก็ไม่มีการเตรียมตัวว่าต้องทำอย่างไร ต้องจัดสถานที่อย่างไรให้เหมาะสม หรืออาจจะเป็นภัยต่อนักท่องเที่ยวถ้าไม่มีการเตรียมตัว อาจจะมีกลุ่มคนที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรืออาจจะนำเรื่องของวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา ถ้าปราศจากการเตรียมพร้อมก็จะเป็นข้อเสียมากกว่า แต่ถ้ามีการเตรียมพร้อมข้อเสียก็จะมีน้อยลง ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะแก้ไปเรื่อยๆ การท่องเที่ยวมันจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่แล้ว
ส่วนประโยชน์ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับเมื่อไปท่องเที่ยวชุมชนก็คือ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง โดยที่ผู้จัดการเป็นคนที่เป็นเจ้าของโดยตรง การท่องเที่ยวชุมชนแตกต่างกับการท่องเที่ยวอื่นๆ ตรงที่ผู้จัดการเป็นเจ้าของเอง การท่องเที่ยวอื่นๆ ผู้จัดการอาจจะไม่ได้เป็นเจ้าของเองแต่อาศัยแหล่งท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวชุมชนนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับตัวตนหรือวัตถุประสงค์ สมมติต้องการนำเสนอในด้านของสิ่งแวดล้อมในเรื่องของต้นไม้ อาจจะพาไปดูพรุ ป่า น้ำ ก็จะนำเสนอสิ่งนั้น จะถูกนำเสนอจากคนที่เป็นเจ้าของหรือคนใน ก็จะได้รับประโยชน์ที่เป็นข้อเท็จจริงและจะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน อาจจะเป็นการปลูกฝังการอนุรักษ์หรืออะไรก็แล้วแต่ก็จะตอบโจทย์นั้นๆ ไปพร้อมๆ กัน
อาจารย์ธันยพร ยังแนะอีกด้วยว่า ชุมชนต้องตระหนักถึงเป้าหมายของตนเองเป็นสิ่งแรก ว่าเราอยากจะทำท่องเที่ยวเพื่ออะไร ไม่ใช่ตามเขา ถ้าตามเขา เขาทำแล้วดียังไง ทำตามเขาแล้วคนมาเยอะ พี่น้องเรารวย ก็ไม่ดี ต้องรู้ว่าทำไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อป้องกันการย้ายถิ่น ไม่อยากให้ลูกหลานไปทำงานข้างนอก แล้วมาวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างไรในด้านการท่องเที่ยว ลูกหลานจะได้มาทำงานสร้างเยาวชน มันก็จะมีประโยชน์แล้วเป็นไปตามเป้าหมาย เราต้องระมัดระวังว่าเราต้องการอะไร แล้วเราทำไปตามนั้นไหม
อีกเรื่องที่ควรต้องระมัดระวังก็คือเรื่องความชัดเจนของผู้ดำเนินการ คือเมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว ใครล่ะที่จะเป็นผู้ดำเนินการ ทุกคนควรต้องมีส่วนร่วม ขึ้นอยู่กับว่าจะมีส่วนร่วมในลักษณะใด เช่น ผู้นำชุมชนจะต้องมีกระบวนการวางโครงสร้างว่า กลุ่มเด็กจะมีหน้าที่อะไร กลุ่มผู้ดำเนินการต้องมีความชัดเจน แล้วเป็นไปอย่างประสานความร่วมมือสามัคคีกัน ถ้าต่างคนต่างทำก็อาจจะขัดแย้งกันได้
อาจารย์ธันยพร ยังได้ยกตัวอย่างชุมชนที่จัดการท่องเที่ยวชุมชนที่ชื่นชอบ คือบ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านแม่กำปองได้รับรางวัลและมีคนพูดถึงเยอะ แต่แม่กำปองมีความน่าสนใจตรงสภาพพื้นที่ ธรรมชาติของภาคเหนือ สวยงาม สดชื่น เย็นสบาย และที่สำคัญคือ เขามีระบบการจัดการที่เป็นตัวของตัวเองมีลักษณะเฉพาะ การทำงานของผู้นำ การทำงานของกลุ่ม ความเป็นธรรมชาติที่เป็นไลฟ์สไตล์ ชอบที่การเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนของเขามีสัดส่วนที่ชัดเจน
อีกแห่งคือบ้านผาหมอน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นของชนเผ่าปกากะญอ ประทับใจในความตั้งใจในการพัฒนา เขาเป็นชนเผ่าแต่เขาเรียนรู้ มีความเป็นตัวของตัวเอง เขาโชคดีที่มีธรรมชาติที่สวยงาม เคยเป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใจเดียวกันด้วย สองสถานที่นี้ต่างกัน ถ้าเป็นบ้านผาหมอนถือว่าเพิ่งเริ่มเป็นบันไดขั้นต้นๆ แต่ถ้าเป็นบ้านแม่กำปองอาจจะอยู่ชั้นบนๆ แล้ว
รัฐจัดการ ผิดจริตท่องเที่ยวชุมชน
ด้าน รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และนักวิชาการอิสระ กล่าวถึงการท่องเที่ยวชุมชนว่า การท่องเที่ยวชุมชนในความคิดของตนหมายถึงการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือให้คนในท้องถิ่นนั้น ในชุมชนนั้น ดูแลของเขาเอง เป็นไกด์ เป็นผู้อธิบายเอง แล้วก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวอันนั้นมากระจายกันในท้องถิ่นเอง
“แต่ที่ผ่านๆ มา ผมยังไม่เห็นเป็นรูปแบบที่ชัดเจน บางแห่งเราเห็นในรูปแบบของการไปเที่ยวตลาดนัด เช่น ตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี อันนั้นเป็นการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งที่คนในท้องถิ่นนั้นได้เต็มที่ เอาสินค้าท้องถิ่นของคนในท้องถิ่นมาขายเขาก็มีความมั่นคงมากขึ้น แล้วก็มีหลายๆแห่งที่ทำแบบนี้ แต่ถ้าที่ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) หรือทางราชการไปจัดการมันจะเละ คือมันไม่ถูกจริตของคนในท้องถิ่นเขา
“พวกนี้มักจะใช้ความคิดเห็นของกลุ่มของตนเอง ของพวกราชการเอง ไปบังคับ ไปบีบเขา แต่ถ้าเป็นการท่องเที่ยวแบบท้องถิ่นที่เป็นชุมชน เขาจะดูแลของเขาเอง เขาจะอธิบายมรดกวัฒนธรรมของเขาเอง ถ้ามาจากข้างนอกก็จะเป็นแบบวิชาการ เช่น กรมศิลป์มาอธิบายประวัติศาสตร์นู่นนี่ มันก็ไม่เห็นคน คืออย่างน้อยการท่องเที่ยวท้องถิ่น หัวใจมันคือคนที่เข้าไปท่องเที่ยวท้องถิ่นมันไม่ได้เที่ยวเฉพาะโบราณสถาน หรือธรรมชาติแวดล้อม แต่มันเห็นคน แต่ถ้าการท่องเที่ยวแบบ ททท.หรือทางราชการ มันไม่เห็นคน เห็นแต่ของเห็นแต่สถานที่”
สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนนั้น รศ.ศรีศักร อธิบายว่า ถ้าเราทำให้ดี พยายามกระตุ้นให้การท่องเที่ยวแบบชุมชนหรือท้องถิ่นนี้เป็นผลพลอยได้จากการสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนในการทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านซึ่งเป็นคลังความรู้ที่ถ่ายทอดขึ้นเอง การท่องเที่ยวแบบท้องถิ่นก็จะเป็นผลตามมา หมายถึงท้องถิ่นเขาสามารถจัดการได้ แล้วทำให้เกิดความเข้าใจ ดังนั้น การท่องเที่ยวแบบท้องถิ่นหรือแบบชุมชนมันจะเสริมให้คนในท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและเป็นตัวของตัวเอง
“ส่วนนักท่องเที่ยวที่ได้เข้าไปท่องเที่ยวไปสัมผัสกับชุมชนนั้นๆ เขาก็จะได้ความรู้จากคนในท้องถิ่น กระชับผสานความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงความหลากหลาย เราต้องทำความเข้าใจว่านักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวในท้องถิ่น เขาต้องการรู้จักความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน แต่ท่องเที่ยวแบบ ททท. หรือของรัฐ เขาส่งคนไปโฮมสเตย์ ไปกินของท้องถิ่น ไปดูหิ่งห้อย มันไม่ได้เรื่อง มันไปทำลายความเป็นมนุษย์ของท้องถิ่นเขา ไม่ควรจะนำคนต่างถิ่นแปลกหน้าเข้าไปอยู่ในบ้านเขา สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น จะนำไปสู่การกลายเป็นซ่องในบ้านได้ถ้าไม่ระวังให้ดี แล้วมันจะทำให้คนในท้องถิ่นแตกแยกมุ่งที่จะหาผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวของตนเองอย่างเดียว”
รศ.ศรีศักรกล่าว ก่อนยกตัวอย่างการท่องเที่ยวชุมชนที่เป็นของชุมชน ทำโดยชุมชนอย่างแท้จริง คือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในรุ่นแรกๆ ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น ชาวบ้านเขาก็ได้จากคนที่มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์โดยตรง อีกแห่งคือบ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี ก็เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจช่วยกันอย่างสมานสามัคคี
“ผมไม่เชื่อรัฐบาลและไม่เชื่อ ททท. ผมเชื่อศักยภาพของภาคประชาชน การท่องเที่ยวที่ถูกต้อง ต้องเป็นการกระทำของประชาชน แล้วเราแค่เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้เขามากกว่าที่จะไปสอนหรือไปทำแทนเขา” รศ.ศรีศักรกล่าว
ด้านอาจารย์ธันยพร ได้กล่าวถึงอนาคตของการท่องเที่ยวชุมชนว่า “ในอนาคตการท่องเที่ยวชุมชนจะต้องเป็นที่นิยมสูงขึ้นแน่นอน โดยเรามองจากหลายๆ ด้าน เช่น ภาครัฐให้ความสำคัญมาก ด้านการท่องเที่ยวก็มีจัดการท่องเที่ยวชุมชนขึ้นมาเป็นหนึ่งกิจกรรมเลย ซึ่งเป็นการขับรับกับสภาวการณ์โลก เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ถามว่าชุมชนจะอยู่ได้ไหม ชุมชนก็ต้องดูแลพื้นที่ของตนองมากขึ้น ไม่ต้องการให้ใครมาเป็นคนทำการ เมื่อเขาเห็นตัวอย่างเขาอยากจะสามารถดูแลชุมชนตนเองได้ เขาก็อยากจะทำกันเพิ่มขึ้นซึ่งจะไม่ลดลง”
นอกจากนี้ อาจารย์ธันยพร ยังได้แนะนำถึงการปฏิบัติตัวของนักท่องเที่ยวทิ้งท้ายไว้ว่า นักท่องเที่ยวจะต้องรู้ก่อนว่าเราจะไปเที่ยวแบบไหน แล้วต้องดูว่าทางชุมชนนั้นเขาจัดการยังไง บางทีทางชุมชนอาจจะมีแผนการเที่ยวหรือตารางการเที่ยวไว้อยู่แล้ว เราก็ควรปฏิบัติตาม เพื่อให้เราได้เรียนรู้ในกระบวนการที่ชุมชนได้นำเสนอ ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นตัวตั้งอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งการท่องเที่ยวแบบนี้อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ความสะดวกสบายหรือต้องการการพักผ่อนแต่อย่างเดียวก็ได้ ดังนั้น ต้องเข้าใจความต้องการของตนเองและต้องทำความเข้าใจชุมชนที่จะไปเที่ยวก่อน ต้องสอบถามให้ละเอียดเพื่อให้เกิดความเข้าใจ มีการเตรียมตัวก่อนที่จะไป ซึ่งการท่องเที่ยวชุมชนมักจะเป็นการท่องเที่ยวควบคู่กับการเรียนรู้วิถีชีวิตอย่างแท้จริง
****************
เรื่อง-ทีมข่าวท่องเที่ยว