xs
xsm
sm
md
lg

มิติใหม่ในวังเก่า ณ "สวนสุนันทา"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ตำหนักสายสุทธานภดล
สิ่งหนึ่งในเมืองไทยที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็คือ "นวดแผนไทย" ฝรั่งที่ไหนมาก็มักจะถามหา Thai Massage คนไทยก็มักจะชี้ทางให้ไปวัดโพธิ์ ซึ่งถือเป็นแหล่งนวดแผนไทยที่ดังที่สุด แต่วันนี้ฉันมีสถานที่นวดไทยอีกแห่งจะมานำเสนอ ที่สำคัญคือคนนวดนั้นเป็นสาวชาววังด้วยอีกต่างหาก

สถานที่นวดไทยที่ว่านั้นก็คือที่ "ศูนย์สุขภาพแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา" และสาวชาววังที่บอกก็คือสาวชาววังสวนสุนันทานั่นเอง ซึ่งนี่ถือเป็นการเปิดมิติใหม่อีกสิ่งหนึ่งในสถาบันแห่งนี้
ภาพวาดสีน้ำรูปดอกไม้ต่างๆในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ
การได้มานวดไทยที่นี่นอกจากจะได้ความสบายตัวกลับไปแล้ว ก็ยังไม่ควรที่จะพลาดการเดินชมมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นมาอันเก่าแก่ และเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ เพราะบริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทานี้ถือเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ มีความสำคัญขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ได้ทรงใช้เงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินและสร้างวังสวนดุสิตขึ้น แต่พระองค์ทรงเห็นว่าเขตพระที่นั่งอัมพรสถานในพระราชวังดุสิตนั้นมีผู้คนพลุกพล่านขาดความเป็นส่วนตัว จึงทรงจัดการวางแบบแปลนสร้างสวนขึ้นที่ท้ายวังสวนดุสิต ทรงควบคุมการก่อสร้างทุกขั้นตอน อีกทั้งยังทรงคัดเลือกพันธุ์ไม้มาปลูกและทรงกำชับให้สร้างพระตำหนักแบบ "บ้านนอกในวัง"

และเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น พระองค์ก็ได้พระราชทานนามว่า "สวนสุนันทา" เพื่อเป็นพระราชานุสรณ์แห่งความรักในสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสีของพระองค์ที่ได้สวรรคตในเหตุการณ์เรือพระที่นั่งล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะจะเสด็จไปยังพระราชวังบางปะอิน แต่น่าเสียดายที่พระที่นั่ง และตำหนักต่างๆ ยังไม่ทันสร้างเสร็จเรียบร้อย รัชกาลที่ 5 ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาจึงมีการสร้างจนเสร็จเรียบร้อยลงในสมัยรัชกาลที่ 6
นวดไทยในบรรยากาศสบายๆ
แม้วังจะได้ชื่อว่า "วังสวนสุนันทา" แต่ผู้ที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดในวังสวนสุนันทานั้นก็คือ "พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา" พระอัครชายาเธอซึ่งเป็นที่โปรดปรานในรัชกาลที่ 5 ยิ่งนัก และทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถในเรื่องการปรุงอาหารเป็นอย่างยิ่ง และทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่กำกับดูแลห้องเครื่องต้นถวายพระพุทธเจ้าหลวงตลอดจนสิ้นรัชกาล

หลังจากที่รัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์แล้ว ในตอนกลางสมัยรัชกาลที่ 6 พระวิมาดาเธอฯ และพระราชธิดาได้ทรงย้ายที่ประทับจากวังลดาวัลย์ของพระราชโอรสมาประทับที่วังสวนสุนันทาเป็นการถาวร บรรดาเจ้านายฝ่ายในและเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ก็ได้ทยอยตามเสด็จมาด้วย ทำให้บรรยากาศในวังสวนสุนันทากลับมาครึกครื้นอีกครั้งหนึ่ง
หุ่นแสดงการแต่งกายของสาวชาววังสมัยรัตนโกสินทร์
ในช่วงนี้เองที่วังสวนสุนันทาเป็นเหมือนศูนย์รวมของพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ใหญ่ที่สุด อีกทั้งยังเป็นเหมือนศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทยก็ว่าได้ เพราะถือเป็นศูนย์รวมของชาววังที่มีการสืบต่อศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ทั้งในเรื่องตำรับอาหารชาววัง การเย็บปักถักร้อย ศิลปะการแกะสลักผักผลไม้ การพับผ้าเช็ดหน้าเป็นรูปสัตว์ต่างๆ การร้อยมาลัยร้อยดอกไม้ ดนตรี โขน ละคร นาฏศิลป์ต่างๆ

วังสวนสุนันทาได้กลายเป็นวังร้างไปในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ต่อมาวังแห่งนี้ก็ได้ถูกแปรสภาพมาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยยังมีตำหนักเก่าแก่จำนวน 6 หลัง หลงเหลืออยู่ภายในมหาวิทยาลัย ไม่เพียงแต่ตัวตำหนักเท่านั้น แต่ยังมีหลุมหลบภัยในสมัยสงครามโลกซึ่งขณะนี้ปิดเอาไว้ ชมได้เพียงด้านนอก มีสะพานข้ามคลองที่มีลักษณะเดียวกับสะพานชุดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 สะพานนี้ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกว่าเคยมีเส้นทางน้ำที่เชื่อมต่อจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาภายในพระราชอุทยานสวนสุนันทาอีกด้วย

เดินชมมหาวิทยาลัยเสียเพลินจนเกือบลืมจุดประสงค์ในวันนี้เสียแล้ว ฉันจึงมุ่งหน้ามาที่ "ศูนย์สุขภาพแพทย์แผนไทยประยุกต์" ที่ตั้งอยู่ใน "ตำหนักสายสุทธานภดล" ตำหนักหลังใหญ่ที่สุดและยังเป็นตำหนักที่พระวิมาดาเธอฯ เคยประทับอยู่อีกด้วย
เตียงนวดเท้า
สำหรับศูนย์สุขภาพฯนี้เขาเปิดมาสำหรับคนขี้เมื่อยโดยเฉพาะ เพราะมีการนวดแผนไทย และนวดสปาไว้บริการ โดยศูนย์สุขภาพฯนี้ได้เปิดให้บริการมานานถึง 4 ปีแล้ว ในช่วงแรกเปิดนั้นก็มีจุดประสงค์เพื่อการเรียนการสอนของภาควิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ แต่ต่อมาก็เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีทั้งการนวดแบบส่งเสริมและแบบรักษา การนวดแบบส่งเสริมก็คือการนวดเพื่อผ่อนคลาย หรือนวดแบบสปา ส่วนการนวดแบบรักษานั้นก็คือการนวดแบบราชสำนัก โดยเป็นการนวดที่ทำให้เกิดผลต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกๆ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และเพิ่มการทำงานของเส้นประสาทนั่นเอง

หลังจากเดินชมบรรยากาศของวังเก่าในมหาวิทยาลัยจนเริ่มเมื่อยได้ที่แล้ว การได้มานวดผ่อนคลายในศูนย์สุขภาพฯ จึงเป็นอะไรที่เหมาะสมที่สุด และนอกจากการนวดผ่อนคลายแล้วก็ยังมีการนวดอีกหลากหลายแบบ ทั้งนวดรักษาแบบราชสำนัก นวดราชสำนักส่งเสริมสุขภาพ นวดฝ่าเท้า ประคบสมุนไพรสด นวดคอ บ่า ไหล่ อบสมุนไพร ลูกประคบสมุนไพรสด หรือใครอยากนวดสปาก็มีทั้งการนวดหน้า 10 ขั้นตอน นวดน้ำมันอโรมา คอ บ่า ไหล่ แบบสวีดิช นวดกระชับสัดส่วน นวดตัว ขัดผิวผ่อง นวดอโรมาเทอราพี สปาเท้านุ่ม แม้จะมีเตียงนวดให้บริการไม่มากมาย แต่ก็ได้บรรยากาศสบายๆ แถมราคาก็ยังสบายกระเป๋าอีกต่างหาก
สะพานเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5
หากใครนวดเสร็จแล้วอย่าเพิ่งรีบกลับ ไม่อย่างนั้นจะเสียดายหากไม่ได้ขึ้นไปยังชั้น 2 เพื่อชม "ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา" ซึ่งเป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุที่ส่วนใหญ่เป็นสมบัติในตำหนักนี้ แต่ก่อนจะไปชมข้าวของต่างๆ นั้น ให้ฉันได้พาไปรู้จักกับตัวตำหนักสายสุทธานภดลนี้ก่อนดีกว่า ตำหนักหลังนี้เรียกกันว่า "ตำหนักใหญ่" เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรือนมะนิลา ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น เป็นตำหนักแฝดที่มีเฉลียงทางเดินชั้นล่างและชั้นบนเชื่อมต่อกัน ด้านนอกอาคารมีลวดลายปูนปั้นประดับอยู่เล็กน้อย ส่วนช่องลมก็มีลวดลายฉลุงดงามมาก

สำหรับห้องจัดแสดงในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมนั้น ก็มีทั้งห้องแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5 ห้องแสดงพระประวัติของพระวิมาดาเธอฯ ห้องแสดงพระรูปและพระประวัติพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ที่ทำให้เราทราบถึงเรื่องราวของผู้ที่มีความสำคัญยิ่งในวังสวนสุนันทาแห่งนี้
หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ก็คือรูปวาดสีน้ำเป็นรูปดอกไม้ต่างๆ จำนวนหลายร้อยรูป ซึ่งรูปภาพเหล่านี้เป็นรูปที่วาดขึ้นโดยคุณข้าหลวงในตำหนักพระวิมาดาเธอฯ เพราะแต่ก่อนนั้นในบริเวณรอบวังสวนสุนันทาจะเต็มไปด้วยพรรณไม้ดอกนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นดอกลั่นทม กุหลาบ สารภี ลำดวน นมแมว มะลิ หน้าวัว พุทธชาด แก้วเจ้าจอม ฯลฯ ต่างก็ออกดอกส่งกลิ่นหอมทั่วไปหมด พระวิมาดาเธอฯจึงทรงโปรดให้ข้าหลวงฝึกหัดวาดรูปดอกไม้และระบายสีน้ำให้เหมือนของจริงที่สุด แล้วนำขึ้นถวายทอดพระเนตร ปัจจุบันรูปเหล่านี้ก็มีที่สูญหายไปบ้าง แต่ที่เก็บรวบรวมไว้ก็มีอยู่ 117 ภาพ ด้วยกัน จัดแสดงไว้อย่างสวยงามราวกับแกลอรี่

แต่สิ่งที่ฉันคิดว่าน่าสนใจก็คือบรรดารูปเก่าๆ ของวังสุนันทาในอดีต และรูปเก่าๆของเจ้านาย เจ้าจอม และพระบรมวงศานุวงศ์ในอิริยาบถต่างๆ ทำให้เราได้เห็นทั้งการแต่งกายในสมัยนั้น ได้เห็นบรรยากาศของวังสวนสุนันทาในอดีตนั้น แค่นี้ก็คุ้มค่ากับการได้มาชมแล้ว
ศิลปวัตถุเก่าแก่จัดแสดงอยู่ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ
และนอกจากนั้นก็ยังมีการจัดแสดงแฟชั่นการแต่งกายของสาวชาววังในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การจัดแสดงหุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก โขน และสมุดไทยโบราณนับร้อยเล่ม เช่น หนังสือจินดามณี วรรณกรรมสุนทรภู่ ฯลฯ และข้าวของที่น่าสนใจอื่นๆอีกมากมาย

ได้ชมบรรยากาศวังเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ชมภาพเก่าและข้าวของสวยงามต่างๆ ทั้งยังได้ผ่อนคลายกับการนวดไทย อย่างนี้เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองนอก เขตดุสิต กรุงเทพฯ ศูนย์สุขภาพแพทย์แผนไทยประยุกต์ เปิดให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-19.30 น. และในวันเสาร์อาทิตย์ เวลา 08.30-18.30 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-2244-8908, 0-2243-2240 ถึง 6 ต่อ 481 ส่วนศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ในเวลา 09.00-16.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะให้ทำหนังสือมาล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดโทร.0-2243-2240 ต่อ 106, 354 0-2668-7702 การเดินทางมายังมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีรถประจำทางสาย 3, 9, 12, 16, 28, 30, 32, 33, 51, 64, 108, 110, 503, 512, 505, 515, 524, 539, 542 ผ่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น