xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.ก.ฉุกเฉินพ่นพิษ ท่องเที่ยวไทยอ่วม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พ.ร.ก.ฉุนเฉินทำพิษ การท่องเที่ยวไทยส่อแววทรุด ช่วง “ไฮซีซัน” นักท่องเที่ยวต่างชาติยกเลิกเที่ยวบินมาไทยนับล้านคน ผู้ประกอบการชี้รัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำให้เหตุการณ์บานปลาย

จากปัญหาภาวะความตึงเครียดทางด้านการเมืองของไทยในขณะนี้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าการลงทุนในหลายภาคส่วน รวมถึงผลกระทบด้านการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งล่าสุด 4 สมาคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หลังรายได้ธุรกิจทัวร์ สูญ 350-400 ล้านบาทต่อวัน ระบุพ.ร.ก.ตัวการเพิ่ม “ทราเวล วอร์นนิ่ง” 14 ประเทศ ทีทีเอเอ ชี้ ไฮซีซั่น พังยับ นักท่องเที่ยวยุโรปสูญกว่า 1 ล้านคน

อภิชาต สังฆอารีย์ นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวว่า หลังประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมหนักขึ้น เพราะมีการประกาศเตือนการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 14 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาคดา เกาหลี ญี่ปุ่น อังกฤษ จีน ไต้หวัน นิวซีแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สิงคโปร์ เดนมาร์ก และล่าสุด นอร์เวย์ และ เบลเยียม

ทั้งนี้ 4 สมาคมสำคัญ ได้แก่ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) สมคมไทยบริการการท่องเที่ยว(ทีทีเอเอ)สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น และสมาคมโรงแรมไทยไม่เห็นด้วยกับพ.ร.ก.ดังกล่าว และเตรียมยื่นหนังสือขอยกเลิก พ.ร.ก. ไปยังรัฐบาลผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เอนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย – ญี่ปุ่น กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งประคับประคองการท่องเที่ยวให้ทันในช่วงไฮซีซันนี้ ซึ่งหากเหตุการณ์ลักษณะนี้ส่งผลกระทบยาวถึงสิ้นเดือนกันยายน ช่วงไฮซีซันจะซบเซาแน่นอน

“นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่โดยเฉพาะญี่ปุ่นอ่อนไหวต่อทราเวล วอร์นนิ่ง มากและส่วนใหญ่จะเชื่อประกาศจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ ทั้งนี้นอหกจากนักท่องเที่ยวที่ยกเลิกการเดินทางแล้ว แม้แต่การเข้ามาสำรวจพื้นที่ก่อนจัดงานต่างๆยังถูกยกเลิกด้วย เช่น จากญี่ปุ่น 17 คน และการเตรียมการประชุมสัมมนาของจีนกว่า 100 คน ดังนั้นยกเลิกประกาศเร็วเมื่อไหร่ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวมากเท่านั้นนายอเนกกล่าว

ขณะที่นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า)คาดการณ์ว่าหากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่สงบภายในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ อาจจะส่งผลเสียหายต่อช่วงไฮซีซันนี้ โดยเฉพาะ ตุลาคม2551-เมษายน2551 นักท่องเที่ยวจากยุโรปสแกนดิเนเวีย รัสเซีย อาจหายไปกว่า 1 ล้านคน

ด้าน สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่าข้อมูลผลกระทบล่าสุดที่รวบรวมจากสมาชิดสมาคม พบว่า โรงแรมในกรุงเทพฯขนาดเล็กซึ่งมีห้องพักต่ำกว่า149 ห้อง มีอัตราเข้าพักเดือนสิงหาคมลดลงแล้ว30-40%จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนโรงแรมใหญ่ มีการยกเลิกเดินทางมาแล้ว5-10%ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนทางด้าน กงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า หลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช นาคยกรัฐมนตรี ออกมาประกาศจุดยืนไม่ลาออกวานนี้ (4 ก.ย.)ว่า เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การเมืองให้ยืดเยื้อต่อไปอีก และส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะใกล้นี้หมดหวังคาดว่าจะเกิดความเสียหายในช่วง ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน)ไม่ต่ำกว่า 40%ของรายได้ช่วงไฮซีซันปกติ

อย่างไรก็ตามขณะนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในหลายส่วน ทั้งการจอง ทัวร์ โรงแรม เครื่องบิน สำหรับการท่องเที่ยวและจัดประชุมสัมมนา มีการยกเลิกแล้วจำนวนมาก เชื่อว่าจะสร้างเสียหายกับช่วงไฮซีซันไม่ต่ำกว่า 5 - 6หมื่นล้านบาจากการท่องเที่ยวทั้งหมดซึ่งมีมูลค่า 6 – 7 แสนล้านบาท

ประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า นักท่องเที่ยวกรุ๊ปสัมมนาขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มชาวจีน 450 คนที่จะมาพักในกรุงเทพฯกลางเดือนก.ย.นี้ยกเลิกแล้วเที่ยวบินตรงหรือชาร์ตเตอร์ไฟลด์ของสกายทัวร์จากเกาหลีใต้ 8 เที่ยวต่อสัปดาห์ ก็ยกเลิกช่วงวันที่ 8- 26 ก.ย. นี้รวมถึงคู่รักเกาหลีใต้กว่า 100 คู่ที่จะมาฮันนีมูนที่ภูเก็ตก็ไม่มา

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในวงการท่องเที่ยวเป็นกังวลว่า บริษัททัวร์ จะเลือกขายคู่แข่งอย่างเช่น บาหลี มัลดีฟส์ และมาเลเซีย ส่วนประเทศไทยที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กว่าจะกู้ภาพลักษณ์คืนมาได้ต้องใช้เวลา และเมื่อบริษัททัวร์ ยอมขายประเทศไทย โดยเฉพาะภูเก็ตและกระบี่ ก็คงจะบุ๊คกิ้งไม่ทันฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง ก็จะเกิดความสูญเสียมหาศาลและอาจจะมากกว่าที่มีการประเมินไว้เดิมที่ 5 หมื่นล้านบาทด้วยซ้ำ จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี

นายประกิจ กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทำอะไรไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้วในเรื่องการตลาด นอกจากรอให้ปัญหาการเมืองยุติเสียก่อน เนื่องจากการท่องเที่ยวพึ่งพาความปลอดภัยและความชัดเจน แม้ผู้ประกอบการจะลดราคาที่พักและสินค้าบริการก็ไม่มีประโยชน์ หากนักท่องเที่ยวไม่มีความมั่นใจคงไม่เสี่ยงที่จะมาเที่ยว ซึ่งปกติช่วงไฮซีซันจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 2 ล้านคนต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายในเรื่องที่พักและอาหารไม่รวมชอปปิ้งที่ 6,000 – 7,000บาทต่อคน

“อยากตั้งคำถามว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นทำเพื่ออะไร เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหาแต่กลับซ้ำเติมปัญหา ส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางอย่างมาก จึงอยากวิงวอนให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ประเทศชาติและประชาชน หันหน้าเข้าเจรจากันและยุติปัญหาโดยเร็วที่สุด”

ส่วนในด้านการท่องเที่ยวของคนไทยเองนั้นก็ประสบปัญหาเช่นกัน เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมการท่องเที่ยวของคนไทยไปต่างประเทศหรือทัวร์เอาท์บาวด์ ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้วถึง 70% อีกทั้งการจองทัวร์ล่วงหน้าสำหรับช่วงไฮซีซันของนักท่องเที่ยวยังไม่มีเข้ามาในขณะนี้

“คนไทยหมดอารมณ์ท่องเที่ยวแล้วโดยสิ้นเชิงในขณะนี้ จากเหตุการณ์ความวุ่นวายและไม่แน่ใจว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินช่วยแก้ไขอย่างไร จึงต้องการให้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้เร่งยกเลิกเช่นกัน”นายเจริญกล่าว

ทั้งนี้ในเบื้องต้นทางผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ข้อสรุปความเสียหายหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายว่าขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิลดลงไปแล้วราว 30% จากปกติมีนักท่องเที่ยวเข้าสนามบินสุวรรณภูมิเฉลี่ยวันละ 8,000 -10,000 คน สามารถประเมินความเสียหายจากรายรับด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ประมาณ 300-450 ล้านบาท จากเป้าหมายรายได้เดิมเฉลี่ยวันละ 1,500 ล้านบาท ไม่รวมรายได้จากการจับจ่ายซื้อสินค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น