xs
xsm
sm
md
lg

สีสันกาญจนบุรี 177 ปีปากแพรก ถนนสายชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถนนคนเดิน ถนนปากแพรกที่เก่าแก่ถึง 177 ปี
จังหวัดกาญจนบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือที่รู้จักกันในชื่อ "สงครามโลกครั้งที่ 2" เมืองกาญจน์ก็ได้ถูกใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการต่างๆตลอดจนสิ้นสุดสงคราม
ร้านนายบุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์ วีรบุรุษสงครามของทางรถไฟสายมรณะ
ซึ่งหากย้อนกลับไปใน พ.ศ.2374 รัชกาลที่ 3 ได้ทรงย้ายเมืองกาญจนบุรีมาตั้งยังตำแหน่งปัจจุบัน ชุมชนชาวกาญจน์ก็ได้เริ่มต้นก่อร่างสร้างเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วิถีชีวิตของคนในสมัยนั้นผูกไว้กับสายน้ำแควใหญ่ แควน้อย และแม่กลอง การเดินทาง การค้าขาย การทำมาหากิน ล้วนแล้วแต่ใช้เส้นทางทางน้ำทั้งสิ้น ชุมชนริมน้ำ "ปากแพรก" จึงได้เกิดขึ้นพร้อมๆกันนั้น และค่อยๆเติบโตมาเรื่อยๆ

ประสิทธิ์ โอภาสทิพากร นายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี เล่าว่า ถนนปากแพรก ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นถนนสายหลักเลียบริมแม่น้ำผ่านหน้าประตูเมืองกาญจนบุรี ถนนเส้นนี้เป็นวิถีชีวิตของคนเมืองกาญจน์ เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีรถยนต์ จะใช้ทางน้ำในการคมนาคม การขนส่งค้าขาย แต่ก่อนมีค้าขายของป่าจาก อ.ศรีสวัสดิ์ อ.ทองผาภูมิ ไม้รวก ไม้ไผ่ ไม้ซุง ก็จะล่องมาตามลำน้ำแล้วมาขึ้นกันที่ท่าหน้าเมือง แถวถนนปากแพรกเส้นนี้

บ้านเรือนต่างๆตามถนนปากแพรกสายนี้ก็ได้สร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยส่วนมากจะสร้างเป็นตึกชั้นเดียว และสองชั้น มีเพียงร้าน "บุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์" (Boonpong and Brothers) เท่านั้นที่เป็นตึก 3 ชั้น และบนถนนเส้นนี้จะเป็นศูนย์รวมของทุกอย่างตั้งแต่ร้านยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ร้านถ่ายรูปแบบใช้แฟลตก้อนถ่ายในห้องมืด อาหารการกิน เป็นต้น พูดได้ว่าถนนปากแพรกนี้เคยเป็นเส้นทางที่เจริญที่สุด

จนมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ามาใช้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นยุทธศาสตร์ และวางแผนมาสร้างทางรถไฟตั้งแต่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เลียบลำน้ำแม่กลองมาจนถึงเมืองกาญจน์ ผ่านตลาดเมืองกาญจน์ วางแผนมาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควแล้วเลียบตามลำน้ำแควน้อย เลยไปจนถึงด่านพระเจดีย์สามองค์ จึงได้เกณฑ์เชลยศึกพวกอังกฤษ ฮอลแลนด์ ออสเตรเลีย มาบังคับให้สร้างทางรถไฟสายนี้

ที่ตลาดเมืองกาญจน์นี้เอง ก็มีบ้านนายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธุ์ คหบดีที่เมืองกาญจน์ เจ้าของร้านบุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์ เดอร์ ก็ได้เริ่มติดต่อทำธุรกิจค้าขายกับพวกญี่ปุ่นโดยตรง โดยทำสัญญาค้าขายกับพวกญี่ปุ่นโดยผูกขาดสินค้า ทั้งเรื่องอาหารการกิน ของอุปโภคบริโภค ญี่ปุ่นต้องการอะไรก็มาสั่งที่ร้าน นายบุญผ่องก็รับหน้าที่จัดหาให้
โรงแรมสุมิตราคาร โรงแรมแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี
ผศ.วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เมืองกาญจน์ เล่าว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุที่ทำการค้าผูกขาดกับญี่ปุ่น ทำให้นายบุญผ่องได้พูดคุยกับเชลยศึกที่มารับของบ่อยครั้ง จึงได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากและสนิทสนมกับเชลยศึกเหล่านั้น จนได้แอบให้ความช่วยเหลือเชลยศึกซึ่งถือเป็นเรื่องเสี่ยงตายเป็นอย่างมาก อาทิ ช่วยให้เชลยศึกยืมเงินในกรณีขัดสน โดยไม่กลัวว่าจะถูกโกง จัดหาเวชภัณฑ์ต่างๆ เครื่องใช้ ถ่านไฟฉาย ยาสีฟัน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ส่วนประกอบเครื่องวิทยุสื่อสาร รวมถึงแอบส่งจดหมายให้กับเชลยศึกโดยซุกซ่อนไว้ในหีบห่อ เข่งผักผลไม้ หรือเครื่องใช้ต่างๆที่ญี่ปุ่นมารับไปทุกวัน

การแอบช่วยเหลือเชลยศึกอย่างไม่คิดชีวิตของนายบุญผ่อง ทำให้พวกเชลยศึกซาบซึ้งเป็นอย่างมาก จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง นายบุญผ่องก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลออสเตรเลีย และอังกฤษพร้อมทั้งได้รับยศเป็นพันโทในกองทัพอังกฤษ และได้ถูกยกย่องให้เป็น "วีรบุรุษสงครามของทางรถไฟสายมรณะ" (A War Hero Named Boonpong of Deathrailway) มาจนถึงทุกวันนี้
งานศิลปะหลายหลายเอามาวางขายวางโชว์ได้ที่ถนนปากแพรก
วิชัย ล้อศิริ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี (สสก.) กล่าวว่า "เมืองกาญจน์เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน และยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจที่หลายคนยังไม่รับรู้ โดยเฉพาะเรื่องราวบนถนนปากแพรกซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของบ้านลุงบุญผ่อง สิริเวชชะพันธุ์ ซึ่งมีความสำคัญในนามของเสรีไทย โดยเคยร่วมทำการค้าขายกับทหารญี่ปุ่น ช่วยเหลือเชลยศึกเป็นผู้ส่งเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งเป็นลู่ทางให้เกิดการทิ้งระเบิดบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว อาจกล่าวได้ว่า ถนนปากแพรกคือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในช่วงนั้น"

นอกจากนี้ ด้วยอายุที่เก่าแก่ของถนนปากแพรก ซึ่งยาวนานถึง 177 ปี ก็ยังมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สวยงาม เต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบตะวันตกผสมผสานตะวันออก พร้อมด้วยประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า โดย "บ้านบุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์" ก็เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สวยงาม เป็นตึก 3 ชั้น ชั้น 2 และชั้น 3 มีระเบียงด้านหน้าบานหน้าต่างคู่ ช่องลมใส่กระจกทึบ ชั้นบนเป็นดาดฟ้า
บ้านชวนพานิช ลวดลายที่ลูกกรงด้านหน้าเป็นลายแบบจีน, ร้านบุญเยี่ยมเจียระไน ก็เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สวยงาม
โรงแรมแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี ก็เกิดขึ้นบนถนนสายนี้ คือ "โรงแรมสุมิตราคาร" มีลักษณะเป็นตึกแถว 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ 5 คูหา สร้างด้วยปูนโครงไม้ลวก เดิมเป็นห้องแถวให้เช่า แล้วมาดัดแปลงกั้นห้องชั้นบนเป็นโรงแรม มีห้องพัก 12 ห้อง ต่อมาสร้าวเพิ่มขึ้นเป็น 19 ห้อง ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ทหารญี่ปุ่นได้เคยมาเช่านอน ส่วนชั้นล่างทำเป็นร้านขายอาหารและได้เลิกกิจการไปเมื่อปี พ.ศ.2522

บนถนนปากแพรกนี้ยังมีบ้านเรือนที่เก่าแก่น่าสนใจอีกหลายหลัง อาทิ "บ้านชวนพานิช" เป็นตึกแถว 2 ชั้นครึ่ง ประตูบ้านเป็นไม้หนาแบบเฟี้ยมหน้าต่างเป็นลูกกรงเหล็ก ลวดลายที่ลูกกรงด้านหน้าเป็นลายแบบจีน, "ร้านบุญเยี่ยมเจียระไน" เป็นตึก 2 ชั้น มีระเบียงยื่นออกมาโดยมีเสารองรับเป็นชายคาชั้นบนทำเป็นรูปโค้งตั้งรับ ประตูเป็นแบบเฟี้ยม หน้าต่างบานคู่มีช่องลมทึบเป็นรูปโค้งตั้ง
ประตูเมืองบอกถึงความเก่าแก่ของเมืองกาญจน์ที่เริ่มตั้งเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2374, ใกล้กับประตูเมืองเป็นที่ตั้งของศาลหลังเมืองอันศักดิ์สิทธิ์
"บ้านสิทธิสังข์" ตึก 2 ชั้นเช่นกัน ทำด้วยปูนทั้งหลังมีด้วยกัน 3 คูหา หน้าบ้านมีระเบียงยื่นออกมามีเสาปูนรองปูนรองรับ ที่เสามีบัวหัวเสาประดับ ด้านบนทำเป็นรูปโค้ง บานประตูเป็นแบบเฟี้ยม ช่องลมเหนือกรอบประตูมีลายฉลุเป็นลายเครือเถา เหนือลายฉลุเป็นภาพปูนปั้นลายก้านขด มีจารึกบอก พ.ศ. ที่สร้าง สีที่ใช้ทาบ้านนำดินมาจากทุ่งนาคราชมากรองแล้วผสมกับน้ำข้าวเหนียวใช้ทา ซึ่งยังมีความคงทนมาจนทุกวันนี้ และเป็นบ้านที่ยังไม่มีการซ่อมแซมและต่อเติมใดๆ เป็นต้น ซึ่งบ้านต่างๆเหล่านี้ นับเป็นสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบไป

นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวเสริมว่า ด้วยความโดดเด่นของเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยาวนาน และสถาปัตยกรรมโบราณที่สวยงาม ทำให้สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ได้ผนึกกำลังร่วมกับภาครัฐและเอกชนในจังหวัด ร่วมกันฟื้นฟูประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น ณ ถนนปากแพรกสายนี้ พร้อมทั้งสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเตรียมความพร้อมจัดถนนคนเดินขึ้น เพื่อให้คนรุ่นหลังที่มาเที่ยวชมมีโอกาสได้ศึกษาวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และชื่นชมสินค้าพื้นเมือง การขับกล่อมดนตรีของศิลปินทุกกลุ่ม รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านบนถนนสายนี้
บ้านสิทธิสังข์ สถาปัตยกรรมโบราณที่ยังไม่มีการซ่อมแซมและต่อเติมใดๆ
สำหรับความโดดเด่นของถนนคนเดินสายนี้ คือเป็นแหล่งของกิน เป็นศูนย์รวมงานหัตถกรรม แกะสลัก แหล่งจับจ่ายใช้สอยของพื้นเมืองจากฝีมือของชาวบ้าน เช่น ผ้าขาวม้าจากหนองขาว เครื่องจักรสานที่ทำจากไม้ไผ่ จากหวาย ซึ่งมีมากในเมืองกาญจน์ นอกจากนี้ยังเป็นที่พบปะของศิลปินทั้งด้านศิลปะและดนตรี การแสดงศิลปะพื้นบ้านต่างๆ เช่นการแสดงโขนจิ๋ว ของเด็กอนุบาล เรียกว่า ใครอยากโชว์งานศิลปะ อยากเล่นดนตรี มาโชว์ได้ที่นี่

นายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี กล่าวอีกว่า "เราเห็นถนนในเมืองยังมีสภาพกำแพงเมือง มีประตูเมือง มีศาลหลักเมือง มีจวนผู้ว่าเก่าแก่ และมี ร.3 ประดิษฐาน เมื่อเราส่งเสริมการท่องเที่ยวในย่านของเมืองเก่า มันก็จะเชื่อมโยงกันตั้งแต่สักการะศาลหลักเมืองสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองกาญจน์ ต่อมาก็เป็นอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 ที่ทรงย้ายเมืองกาญจน์มาตั้งอยู่ ณ ปัจจุบัน แล้วก็มีท่าเรือล่องแพ เราจึงคิดจัดตั้งถนนคนเดินขึ้นเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว และอนุรักษ์สินค้า การแสดงโบราณเอาไว้ รวมถึงสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่อยู่บนถนนปากแพรกนี้ด้วย"
การแสดงศิลปวัฒนธรรมบนถนนคนเดินปากแพรก
สำหรับถนนคนเดิน 177 ปี ปากแพรก คาดว่าจะเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาเที่ยวชมได้ในเดือนกันยายน ศกนี้ โดยระยะแรกจะจัดขึ้นเฉพาะทุกเย็นวันอาทิตย์ก่อน แล้วจึงขยายวันเวลาต่อไป โดยจะเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น