xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ปราสาทตาเมือนธม” ของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทตาเมือนธม
ดูเหมือนว่ารัฐบาลเขมรได้คืบจะเอาศอก เพราะหลังจากที่ได้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวไปแล้ว(จากการยินยอมของคนไทยขายชาติบางคน) รัฐบาลเขมรยังหาเรื่องที่จะยึดปราสาทตามบริเวณชายแดนไทยไปเป็นของตนอีก ไม่ว่าจะเป็น ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว และล่าสุดกับ ปราสาทตาเมือนธม จ.สุรินทร์ ที่กำลังเป็นข้อพิพาทอยู่ในขณะนี้

สำหรับปราสาทตาเมือนธมนั้น เป็นหนึ่งในโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ที่ช่องตาเมือน บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง กิ่งอ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ติดชายแดนกัมพูชา ห่างเพียงประมาณ 100 เมตรเท่านั้น

ทั้งนี้กลุ่มปราสาทตาเมือนเป็นโบราณสถานแบบขอม 3 หลัง ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน

ปราสาททั้ง 3 หลัง สร้างบนเส้นทางคมนาคมโบราณเชื่อมเมืองพระนคร(เมืองหลวง : ปัจจุบันอยู่ในเสียมราฐ)และเมืองพิมายที่ปัจจุบันอยู่ในนครราชสีมา โดยปราสาทแต่ละหลังต่างมีประโยชน์ใช้สอยและความสำคัญแตกต่างกันออกไปดังนี้

ปราสาทตาเมือน สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นปราสาทแบบธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทางมีลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวมีห้องยาวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้า ผนังด้านหนึ่งปิดทึบ แต่สลักเป็นหน้าต่างหลอก ส่วนอีกด้านมีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด เคยมีผู้พบทับหลังเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว 2-3 ชิ้น

ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาล(คล้ายสถานพยาบาลหรือสุขศาลา) ใช้เป็นที่รักษาพยาบาลของชุมชน ลักษณะปราสาทเล็กหลังเดียว ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นทางด้านหน้า ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีบรรณาลัยอยู่ทางด้านหน้าเยื้องไปทางขวาขององค์ปรางค์ ล้อมรอบด้วยกำแพงก่อศิลาแลง มีระเบียงคดล้อมรอบ ด้านนอกมีบารายขนาดเล็ก 1 สระ สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

นอกจากนี้ตรงห้องกลางของโคปุระ(ซุ้มประตู)ยังพบศิลาจารึก 1 หลัก จารึกด้วยอักษรขอมภาษาสันสกฤต เป็นจารึกซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างไว้ประจำอโรคยาศาลแห่งนี้

ปราสาทตาเมือนธม อยู่ถัดจากปราสาทตาเมือนโต๊ดไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน และอยู่ติดชายแดนมากที่สุด ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ มีปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ปรางค์อีกสององค์อยู่ถัดไปด้านหลังทางด้านขวาและซ้าย ปรางค์ทั้งสามองค์สร้างด้วยหินทรายหันหน้าไปทางทิศใต้ ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักที่งดงาม สันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งเก่าแก่กว่าโบราณสถานอีกสองแห่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน

อนึ่งถึงแม้ว่ากลุ่มปราสาทตาเมือนจะสร้างในสมัยอาณาจักรขอมโบราณที่เคยเรืองอำนาจอยู่ในดินแดนแถบนี้ แต่ว่าปัจจุบันไม่มีอาณาจักรขอมโบราณแล้วมีแต่ประเทศไทยกับกัมพูชา ซึ่งปราสาทตาเมือนธมนั้นก็อยู่ในเขตแดนไทยมาช้านาน

นอกจากนี้หนึ่งในหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนก็คือ การที่กรมศิลปากรมีพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไข พ.ศ.2535 ให้อำนาจอธิบดีกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กรณีปราสาทตาเมือนธม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2478 ในสมัยของหลวงวิจิตรวาทการ เป็นอธิบดีกรมศิลปากร

ซึ่งนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบหลักฐานที่ผ่านมา มีหลักฐานชัดเจนว่าได้มีการขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว สิ่งที่กรมศิลปากรจะดำเนินการต่อไป คือ การตรวจสอบข้อมูลหลักฐานและรวบรวมไว้ทั้งหมด นำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลร่วมกัน สำหรับหลักฐานครั้งนี้ที่ยืนยันว่าปราสาทตาเมือนธมเป็นของไทย คือประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่แสดงว่าได้มีการขึ้นทะเบียนไว้ ทั้งรายชื่อและเขตโบราณสถานและแผนที่ที่ไปดำเนินการสำรวจ รวมทั้งรายละเอียดมีการดำเนินการเกี่ยวกับการบูรณะที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น