xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ปราสาทหิน ถิ่นอีสานใต้ จากพิมายถึงพนมรุ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
ขอมคือใคร ? ใช่เขมรในปัจจุบันหรือไม่ ?

ณ วันนี้ ยังเป็นปริศนาและเป็นประเด็นให้นักวิชาการไทยบางคนถกเถียง แลกเปลี่ยนทัศนะ แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง

แต่ไม่ว่าขอมจะเป็นใคร อิทธิพลของ“อารยธรรมขอมโบราณ”เมื่อครั้งเรืองอำนาจสูงสุด ยังคงปรากฏให้เห็นในเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะบรรดาปราสาทหินทั้งหลายในแถบอีสานตอนใต้ที่ถือเป็นอู่อารยธรรมขอมโบราณสำคัญของไทย ซึ่งถือเป็นมูลเหตุหลักจูงใจให้ “ตะลอนเที่ยว”ออกเดินทางไปในพื้นที่ 3 จังหวัดอีสานใต้ เพื่อย้อนรอยชื่นชมความน่าทึ่งของปราสาทหินเด่นๆในเมืองไทย
พิพิธภัณฑ์ฯพิมาย
โคราช...

“นครราชสีมา”หรือ“โคราช”เมืองหน้าด่านอีสาน ถือเป็นด่านแรกของการเดินทางครั้งนี้ โคราชมี“ปราสาทหินพิมาย”ปราสาทชื่อดังเป็นไฮไลท์ แต่เพื่อความเข้าใจในอารยธรรมขอมให้ดีขึ้น “ตะลอนเที่ยว”จึงเลือกไปศึกษาเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับขอมก่อนที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย”แหล่งเรียนรู้สำคัญแห่งดินแดนอีสาน
ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในพิพิธภัณฑ์พิมาย
พิพิธภัณฑ์ฯพิมาย ตั้งอยู่เชิงสะพานท่าสงกรานต์ห่างจากปราสาทหินพิมายราว 300 เมตร ภายในรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดี จัดแสดงเรื่องราววัฒนธรรมอีสานในอดีต โดยมีโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุของขอมอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เทวรูป ทับหลังต่างๆที่ส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ศิวลึงค์ และที่ถือว่าเป็นงานไฮไลท์ระดับมาสเตอร์พีชคือประติมากรรมหิน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ประทับนั่งแขนขาด 2 ข้าง มีอายุประมาณ พ.ศ. 1720-1780 นับเป็นรูปปั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของจริงเพียง 3 แห่งในโลก

ออกจากพิพิธภัณฑ์ฯพิมาย อารมณ์ปราสาทขอมถูกปลุกเร้าเต็มที่จากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ทำให้การตามต่อในอารมณ์ขอมโบราณที่ปราสาทหินพิมายของ“ตะลอนเที่ยว”นั้นไหลลื่นมากขึ้น
ปรางค์ประธานปราสาทหินพิมาย
ปราสาทหินพิมายตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พิมายในตัว อ.พิมาย เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีลักษณะพิเศษคือสร้างหันหน้าไปทางทิศใต้(ต่างจากปราสาทหินทั่วไปที่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) เพื่อหันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอมในยุคนั้น

ปราสาทหินพิมายเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนามหายานและฮินดู สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ปลายพ.ศ. 16 และต่อเติมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวต้น พ.ศ. 18 ตัวปราสาทเป็นศิลปะแบบบาปวน(ยุคแรก)เจือปนนครวัด(ยุคต่อเติม)

ปราสาทแห่งนี้ มีสิ่งก่อสร้างเด่นๆชวนชม เริ่มจากทางเดินเข้าไป คือ สะพานนาคราช สะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ตามคติจักรวาล สร้างเป็นรูปนาคราช 7 เศียรชูคอแผ่พังพานดูสวยงาม
พระพุทธรูปปางนาคปรกในเรือนธาตุปราสาทหินพิมาย
ถัดเข้าไปเป็นซุ้มประตูหรือโคปุระชั้นนอกและกำแพงแก้ว จากนั้นเป็นชาลาทางเดินที่มองเห็นซุ้มประตูชั้นในสร้างรายรอบตัวปราสาท ซึ่งเมื่อผ่านพ้นโคปุระชั้นนี้เข้าไปจะพบกับความยิ่งใหญ่ของปรางค์ประธาน ที่ถูกขนาบข้างด้วย ปรางค์หินแดงและปรางค์พรมทัตที่ภายในประดิษฐ์รูปเคารพของพระเจ้าชัยวันมันที่ 7 (ปัจจุบันคือองค์จำลอง องค์จริงถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธฯภัณฑ์พิมาย) ซึ่งชาวบ้านในอดีตเชื่อว่านี่คือรูปปั้นของ“ท้าวพรหมทัต”ที่พวกเขานับถือ

สำหรับองค์ปรางค์ประธานนั้น สร้างขึ้นราว พ.ศ. 16-17 ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือเรือนธาตุและมณฑป มีลวดลายประดับตามส่วนต่างๆมากมายทั้งภายนอก ภายใน อาทิ ภาพศิวนาฏราช พระกฤษณะ ภาพเรื่องราวรามเกียรติ์ เรื่องราวทางพุทธศาสนา ส่วนภายในเรือนธาตุเป็นห้องครรภคฤหะ ที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปรางค์นาคปรกรูปเคารพสำคัญ(พุทธมหายาน) อีกทั้งยังมีร่องรอยท่อโสมสูตรที่ใช้ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาให้เห็นกันแบบพองาม

และนั่นก็เป็นสิ่งน่าสนใจของปราสาทหินพิมาย ซึ่งในโคราชยังมีปราสาทขอมขนาดเล็กๆ อาทิ ปราสาทหินพนมวัน ปราสาทเมืองแขก ให้ผู้สนใจได้ศึกษาในอารยธรรมขอมโบราณกันอีก

“ตะลอนเที่ยว”หลังเต็มอิ่มกับปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในไทยอย่างพิมายแล้วก็ออกเดินทางตามรอยปราสาทขอมต่อไปยัง จ.สุรินทร์ ถิ่นเมืองช้างอันลือลั่นก้องฟ้าเมืองไทย
ปราสาทศีขรภูมิ กะทัดรัด สมส่วน
สุรินทร์...

สุรินทร์นอกจากจะเป็นเมืองช้างแล้ว ยังเป็นเมืองแห่งปราสาทขอมที่น่าสนใจเมืองหนึ่งของไทย เมืองนี้มีปราสาทสำคัญขึ้นชื่ออยู่ 2 แห่งด้วยกัน ซึ่งล้วนต่างเป้าหมายของการย้อนรอยปราสาทขอมทั้งคู่

สำหรับปราสาทแห่งแรกคือ“ปราสาทศีขรภูมิ” ในเขตชุมชนโบราณบ้านปราสาท ต.ระแงง อ.ศีขรภูมิ ปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทขนาดเล็ก เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนผสมนครวัด สร้างขึ้นราวปลาย พ.ศ.16 ถึงต้น พ.ศ. 17 เป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย(นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด) มีอยู่ด้วยกัน 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันยกพื้นสูง มีบารายล้อมรอบ 3 ด้าน วัสดุก่อสร้างปราสาทมีทั้งหินทราย ศิลาแลง และอิฐ ซึ่งเป็นการแยกให้เห็นถึงยุคสมัยในการก่อสร้างและการบูรณะอย่างชัดเจน ตัวประสาทประธานองค์กลาง ถือเป็นศูนย์รวมผลงานมาสเตอร์พีชระดับสุดยอดแห่งสยามอยู่ 2 แห่งด้วยกัน
รูปสลักนางอัปสราปราสาทศีขรภูมิที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในเมืองไทย
แห่งแรกคือภาพสลักนางอัปสราถูกยกย่องว่าสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย ในบริเวณกรอบประตูทั้ง 2 ด้านของปราสาทประธาน เป็นภาพนางอัปสราแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามรู้ร่างสมส่วน มีทวารบาลอยู่ถือกระบองประกบอยู่ด้านข้างทั้ง 2 นาง

แห่งที่สองคืออยู่ ทับหลังสลักเป็นเรื่องพระศิวะ 3 ตอนที่ได้ชื่อว่าสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย แกะสลักอย่างสวยงามประณีตอ่อนช้อย ดูแล้วได้อารมณ์ยิ่งนัก นับได้ว่าปราสาทเล็กๆอย่างศีขรภูมิ ในด้านของความงามนั้นถือว่ายิ่งใหญ่เกินตัวไม่น้อยเลย
ปราสาทตาเมือนธม ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา เพียงไม่กี่ 10 เมตร
จากศีขรภูมิเราเดินทางต่อไปยังชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อไปชมกลุ่มปราสาทตาเมือน บริเวณช่องตาเมือน บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก สร้างบนเส้นทางคมนาคมโบราณเชื่อมเมืองพระนคร(เมืองหลวงอาณาจักรขอมโบราณปัจจุบันคือเสียมราฐหรือเสียมเรียบ)และเมืองพิมาย(นครราชสีมาในปัจจุบัน) กลุ่มปราสาทแห่งนี้ประกอบด้วยปราสาทขอม 3 หลัง ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย

ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทใหญ่ที่สุดในกลุ่ม อยู่ใกล้ชายแดนที่สุด คาดว่าน่าจะสร้างราว พ.ศ. 16 ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ ปรางค์ประธานใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง สร้างบนลานหินธรรมชาติ ภายในห้องครรภคฤหะของปราสาทปรางค์ประธานมีศิวลึงค์ธรรมชาติที่ปัจจุบันหักไปเหลือเพียงร่องรอยให้ชมกันพอได้จินตนาการ

ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาล(บ้างว่าเป็นโรงพยาบาลหรือสุขศาลา บ้างว่าเป็นศาลในโรงพยาบาล)ในสมัยพระเจ้าชัยวรมัน(พ.ศ.1721-1763) ยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์
ปราสาทตาเมือนโต๊ด
ปราสาทตาเมือน สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อเป็นที่พักคนเดินทาง(ธรรมศาลาหรือบ้านมีไฟ) ตามเส้นทางจากเมืองพระนครเมืองหลวงสู่เมืองพิมาย เป็นปรางค์องค์เดียวมีห้องยาวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้า

ด้วยความที่ปราสาทตาเมือนตั้งอยู่ห่างชายแดนเพียงไม่กี่ 10 เมตร นั่นจึงทำให้การเที่ยวชมต้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตชด.เพื่อนำชม เพราะพื้นที่แห่งนี้เพิ่งมีกรณีพิพาทเรื่องปัญหาชายแดนมาเมื่อไม่นาน ทั้งๆที่หากดูตามชัยภูมิกันสร้างปราสาทนั้นอยู่ในบ้านเราชัดเจน อีกทั้งกรมศิลป์ของเรายังขึ้นทะเบียนปราสาทตาเมือนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2478 และทำการบูรณะซ่อมแซมมาเป็นสิบปีจนเป็นรูปเป็นร่างมาจนถึงทุกวันนี้

แต่อนิจจาด้วยปัญหาชายแดนและ(เกม)การเมืองระหว่างประเทศทำให้การบูรณะต้องหยุดชะงักลงทิ้งกลุ่มปราสาทตาเมือนไว้ให้เราได้ชื่นชมในความสำคัญกันเท่าที่จะสามารถบูรณะได้
ปราสาทเมืองต่ำอันสุดคลาสสิค
บุรีรัมย์...

จังหวัดสุดท้ายของการเดินทางในทริปนี้ อยู่ที่“บุรีรัมย์”หนึ่งในเมืองปราสาทหินสำคัญของเมืองไทย เมืองนี้มีปราสาทหินในระดับสุดยอดของเมืองไทยอยู่ถึง 2 ปราสาทด้วยกัน

ปราสาทแรกคือ“ปราสาทเมืองต่ำ”อ.ประโคนชัย ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มสร้างในราว พ.ศ.16 ตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายด้วยศิลปะแบบบาปวน เพื่อเป็นศาสนสถานประจำเมือง มีจุดเด่นตรงสระน้ำรอบตัวปราสาทที่มีรูปสลักพญานาคทอดยาวไปตามแนวขอบสระ เป็นนาค 5 เศียร หัวโล้นเกลี้ยงเกลาแบบบาปวน
โคปุระปราสาทเมืองต่ำ
หลายคนเรียกสระนี้ว่า“สระหัวนาค”ที่เปรียบดังมหาสมุทรที่รายล้อมเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาล(ตามคติจักรวาล)ที่แทนด้วยตัวปราสาทที่มีปรางค์อิฐกะทัดรัดสมส่วน 5 องค์ ตั้งตระหง่านอยู่ในนั้น ขณะที่ตามทับหลังและหน้าบันของซุ้มประตูและปรางค์ปราสาท สลักหินเป็นลวดลายสวยงามอ่อนช้อยเรื่องราวในศาสนาฮินดู อาทิ ภาพพระอินทร์ประทับบนหน้ากาล พระอิศวรและพระอุมาทรงโค

และด้วยองค์ประกอบความงามของปราสาทแห่งนี้ที่ถือว่าเป็นเลิศเอกอุ จน ททท. ยกให้เป็น 1 ใน อันซีนไทยแลนด์ ในขณะที่ผู้นิยมปราสาทขอมต่างยกให้เป็นปราสาท“สุดคลาสสิค” อันทรงเสน่ห์ยิ่งนัก
เส้นทางเดินสู่ปราสาทพนมรุ้ง ทิพยวิมานบนเขาไกรลาส
จากปราสาทเมืองต่ำเราเดินทางไปต่อยัง“ปราสาทพนมรุ้ง” อ.เฉลิมพระเกียรติ ปราสาทที่ได้รับการยอมรับว่างดงามที่สุดในเมืองไทย สร้างขึ้นบนภูเขาไฟที่ดับสนิท ราว พ.ศ. 15 โดยสันนิษฐานผู้สร้างน่าจะเป็น “พระเจ้านเรนทราทิตย์” แห่งราชวงศ์มหิทธรปุระ เพื่อให้เป็นดังทิพยวิมานของพระศิวะบนเขาไกรลาสและเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของพระองค์หลังสิ้นชีวิต

ความงดงามและเสน่ห์ของปราสาทพนมรุ้งนั้นมีมากหลาย ตั้งแต่เส้นทางเดินสู่ปราสาทที่เป็นดังสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์ ครั้นถึงยังตัวปราสาทหินทรายสีชมพูอันยิ่งใหญ่งดงาม ในพื้นที่แห่งนี้จะมีสิ่งน่าสนใจให้ชื่มชมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น องค์ปรางค์ประธาน ตัวเรือนธาตุที่ภายในมีห้องครรภคฤหะ ประดิษฐานศิวลึงค์รูปเคารพสำคัญของลัทธิไศวนิกาย โดยมีท่อโสมสูตรหรือร่องรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากพิธีกรรมเซ่นสังเวยองค์ศิวเทพต่อยาวมาให้เห็นอย่างชัดเจน
ภาพสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แห่งพนมรุ้ง
สำหรับไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของพนมรุ้งที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงก็คือ ลวดลายสลักหินตามทับหลัง หน้าบัน และส่วนต่างๆที่ถือเป็นงานช่างโบราณระดับเอกอุ ฝีมือชั้นเทพ โดยภาพที่โดดเด่นที่สุด หนีไม่พ้นภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์และศิวนาฏราชที่อยู่เคียงคู่กัน

นับได้ว่าความงามและเสน่ห์ของปราสาทขอมที่เราเดินทางไปสัมผัสนั้น คือมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของบรรพบุรุษที่ตกทอดสืบต่อกันมา ด้วยเหตุนี้คนไทยจำเป็นต้องช่วยกันดูปกปักรักษา ป้องกันไม่ให้มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของใครบางคน ดังกรณีที่เคยขึ้นมาแล้วกับปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งนับเป็นความเจ็บช้ำของคนไทยอันเกิดจากความชั่วช้าของนักการเมืองไทยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
*****************************************

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดเส้นทางท่องเที่ยว“ตามรอยอารยธรรมขอม เที่ยวมหัศจรรย์...แดนปราสาทหิน” ในถิ่นอีสานใต้ขึ้นรูปแบบแพ็คเกจทัวร์ขึ้น โดยให้ 4 สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งผู้สนใจสามาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส.ธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ 0-2270-1505-8 ส.ไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย 0-2393-5855 ส.ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย 0-2961-2204-5 ส.ผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย 0-2998-0744

ส่วนผู้สนใจรายละเอียดของปราสาทและการเดินทางสู่ปราสาทขอมใน 3 จังหวัดอีสานใต้สามารถสอบถามข้อเพิ่มเติมได้ที่ ททท.นครราชสีมา(ปราสาทหินพิมาย) 0-4421-3666, 0- 4421-3030 ททท. สุรินทร์(ปราสาทศีขรภูมิ-ตาเมือน-พนมรุ้ง-เมืองต่ำ)0-4451-4447

กำลังโหลดความคิดเห็น