xs
xsm
sm
md
lg

ทำนายพื้นที่กทม.ถูกกัดเซาะหาย 300 เมตร ในอีก 12 ปีข้างหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บางขุนเทียน ทะเลกรุงเทพฯที่ปัจจุบันมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
นศ.JGSEE พัฒนาโปรแกรมทำนายการกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เผยหาก กทม.ไม่มีมาตรการป้องกัน อีกไม่เกิน 12 ปี แผ่นดินหายอีก 300 เมตร เตรียมศึกษาต่อยอด ทำนายกัดเซาะกรณีมีการป้องกันรูปแบบต่างๆ และประยุกต์ไปใช้ทำนายชายฝั่งบริเวณอื่นที่มีลักษณะเป็นหาดเลน

นายประเสริฐศักดิ์ เอกพิสุทธิ์สุนทร นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก เป็นปัญหาที่หลายคนให้ควานสนใจและกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง เช่น บริเวณพื้นที่ขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ซึ่งประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง แต่อีกพื้นที่หนึ่งที่คนกรุงเทพควรให้ความสนใจเนื่องจากพื้นที่ถูกกัดเซาะอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร คือ พื้นที่ชายฝั่งบางขุนเทียน ซึ่งประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเช่นเดียวกัน จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่ชายฝั่งบางขุนเทียน พบว่าการกัดเซาะเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 30 เมตร และนับถึงขณะนี้พื้นที่ได้หายไป 200 กว่าเมตร แม้ผลกระทบจะไม่รุนแรงมากเท่าขุนสมุทรจีน แต่การกัดเซาะที่เกิดขึ้นหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอาจทำให้ความรุนแรงของการกัดเซาะเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

จึงเป็นที่มาของงานวิจัย แบบจำลองการทำนายการกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อทำนายผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งในอีก 20 ปีข้างหน้า หากไม่มีมาตรการใดๆ ลงไปดูแลแก้ไข รวมไปถึงศึกษาปัจจัยหลักของการกักเซาะชายฝั่งบริเวณนี้ด้วย

“การทำนายการกัดเซาะโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่กำลังศึกษาอยู่นี้จะแตกต่างจากการทำนายการกัดเซาะแบบเดิม ซึ่งใช้หลักสถิติในการทำนาย โดยการศึกษาแบบจำลองนี้ต้องอาศัยข้อมูลลักษณะสภาพดิน สภาพคลื่น ลม แรงที่กระทบกับชายฝั่ง ในการคำนวณ ซึ่งโมเดลที่ใช้ประกอบด้วยโมเดล 2 แบบ คือ แบบจำลองคลื่น (SWAN - Shallow Water Wave Nearshore) ใช้ข้อมูล ลม ความลึกของท้องน้ำ เพื่อคำนวณหาทิศทางคลื่นและความสูงของคลื่น และแบบจำลองการกัดเซาะ (GENESIS – Generalized Model for Simulating Shoreline Change) ใช้ข้อมูลคุณสมบัติของดิน ความหนาแน่นของตะกอน ขนาดของตะกอน และข้อมูลที่ได้จากแบบจำลองคลื่น” นายประเสริฐศักดิ์ กล่าว

ข้อมูลที่คำนวณได้จากแบบจำลองจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศซึ่งเป็นข้อมูลจริงเป็นช่วง เพื่อเปรียบเทียบความถูกต้อง และหาค่าผิดพลาด ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วพบว่ามีค่าผิดพลาดเพียง 20% เท่านั้น จากปกติที่การคำนวณการกัดเซาะจะมีค่าผิดพลาดได้ถึง 50% ซึ่งเมื่อคำนวณหาค่าผิดพลาดได้แล้วจึงสามารถคำนวณเพื่อทำนายการกัดเซาะในอนาคต โดยตั้งเป้าไว้ที่ปีพ.ศ. 2563 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า ผลจากการคำนวณพบว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใดๆ พื้นที่ชายฝั่งบางขุนเทียนจะถูกกัดเซาะเข้าไปอีก 300 เมตร

จากข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศตามแนวชายฝั่งนอกที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลเผยให้เห็นถึงสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่บริเวณนี้ นั่นคือ การขุดเจาะร่องน้ำเพื่อนำน้ำทะเลเข้าสู่บ่อกุ้ง ทำให้ป่าชายเลนที่เคยมีอยู่ถูกถอดรากถอนโคนไปหมด เมื่อขาดรากที่จะยึดเหนี่ยวตะกอนดินคลื่นจึงทำให้กัดเซาะตะกอนออกไปได้ง่าย และยิ่งในช่วงของฤดูมรสุมที่มีคลื่นลมแรงกว่าช่วงเวลาปกติ อัตราการกัดเซาะชายฝั่งจะยิ่งสูงขึ้นด้วย

นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาแบบจำลองทำนายการกัดเซาะชายฝั่งในขั้นต่อไป คือการทำนายลักษณะการกัดเซาะในกรณีที่มีโครงสร้างป้องกันรูปแบบต่างๆ เช่น การปลูกป่าชายเลน การสร้างเขื่อนรูปแบบต่างๆ เพื่อหาโครงสร้างป้องกันที่เหมาะสมสำหรับชายฝั่งบางขุนเทียน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้สนับสนุนโครงการสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงพัฒนาให้สามารถนำไปใช้ทำนายการกัดเซาะในพื้นที่อื่นที่มีลักษณะชายฝั่งเป็นดินเลนปากแม่น้ำเช่นเดียวกับที่บางขุนเทียนได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น