กทม.นัดชาวบ้านถกปัญหาทีกรอยน์ 28 มิ.ย.นี้ พร้อมตอบทุกข้อซักถาม เชื่อ หากประชาชนเข้าใจโครงการเกิดแน่ปีนี้ ขณะที่ผู้นำชุมชนหวั่นถูกมัดมือชก เผยอยากให้ กทม.รับฟังความคิดเห็นจากชาวท้องที่บ้าง
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายชาญชัย วิฑูรปัญญากิจ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 10.00 น.สนน.และสำนักผังเมือง (สผม.) จะจัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการสร้างแนวเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน (ทีกรอยน์) ให้กับประชาชนชาวบางขุนเทียนขึ้น ที่โรงเรียนพิทยาลงกรณ์ โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการอธิบายรูปแบบของโครงการและรูปแบบของแนวกันคลื่น คือไส้กรอกทรายรูปตัวที ซึ่งมีการศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดีจากบริษัทที่ปรึกษา เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ โดยจะเชิญประชาชนที่เกี่ยวข้องทั้งที่มีแนวคิดเห็นด้วย และส่วนที่คัดค้าน โดยจะมีการตอบข้อซักถามในทุกประเด็น ส่วนความคืบหน้าของโครงการขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อหาผู้รับเหมา ส่วนซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 300 ล้านบาทให้ กทม.แล้วโดยจะเบิกจ่ายตามเนื้องานเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้ คาดว่าหากมีการทำความเข้าใจกับประชาชนแล้วเสร็จก็จะเร่งเริ่มโครงการภายในปีนี้ได้อย่างแน่นอน
ด้านนายคงศักดิ์ ฤกษ์งาม ผู้นำชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน กล่าวว่า ได้รับจดหมายเชิญร่วมประชุมจากเขตบางขุนเทียน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการประชุม ซึ่งการเรียกประชุมด่วนของ กทม. ตนเกรงว่าจะเป็นการมัดมือชกชาวบ้านหรือไม่ ทั้งนี้ ในจดหมายเชิญประชุมยังระบุว่าจะประชุมรับฟังความคิดเห็นเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นจะเป็นการแถลงข่าวเกี่ยวกับลักษณะของการสร้างแนวกันคลื่นแบบไส้กอรกทรายให้ชาวบ้านได้รับทราบ ซึ่งก่อนหน้านี้ กทม.ระบุว่า จะทดลองสร้างก่อน 2-3 ตัว อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ชาวบ้านจะเข้าร่วมรับฟังข้อมูลจาก กทม.แต่ก็จะนำข้อมูลในส่วนที่ชาวบ้านได้ร่วมศึกษากับนักวิชาการ เกี่ยวกับการแตกของไส้กรอกทรายที่ขุนสมุทรจีน และที่หมู่บ้านกาหลง จ.สมุทรสาคร พบว่าตรวจสอบไส้กรอกทรายแตกจำนวนหลายลูกเป็นแนวยาวและบางลูกที่ไม่แตกก็พบว่าทรุดตัวลงให้ กทม.ได้รับทราบด้วย อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนไม่ได้ต้องการคัดค้านอย่างถึงที่สุดโดยไม่สนใจอะไรแต่อยากให้ทางกทม. ได้รับรู้ข้อมูลในส่วนที่ชาวบ้านได้ศึกษาในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ และอยู่กับสภาพแบบนี้มานาน ดังนั้น อยากให้เข้าใจและเคารพความรู้ชาวบ้านด้วย