สพท.ทุ่มทำคู่มือบริหารจัดการน้ำพุร้อนเชิงสุขภาพ เน้นอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้บริหาร หวังให้พัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ พร้อมดันน้ำพุร้อนระนองดึงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ธนิฏฐา มณีโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว ได้หันมาเน้นโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยเฉพาะน้ำพุร้อน ที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2549 เป็นต้นมา โดยปี 2549 ได้สำรวจน้ำพุร้อน 76 แห่งจาก 11 จังหวัดได้แก่เชียงราย 9 แห่ง,เชียงใหม่ 16 แห่ง,แม่ฮ่องสอน 13 แห่ง,ลำปาง 7 แห่ง,แพร่ 4 แห่ง,กาญจนบุรี 6 แห่ง,ราชบุรี 5 แห่ง,เพชรบุรี 1 แห่ง,ระนอง 7 แห่ง,พังงา 3 แห่งและกระบี่ 5 แห่ง ต่อมาปี 2550 ได้สำรวจเพิ่มอีก 38 แห่งใน 16 จังหวัดได้แก่ชุมพร 1 แห่ง,สุราษฏร์ธานี 9 แห่ง,นครศรีธรรมราช 1 แห่ง, พัทลุง 4 แห่ง,สตูล 1 แห่ง,ตรัง 2 แห่ง,ยะลา 1 แห่ง,ตาก 5 แห่ง,สุโขทัย 2 แห่ง,เพชรบูรณ์ 4 แห่ง,กำแพงเพชร 3 แห่ง,อุทัยธานี 1 แห่ง,สุพรรณบุรี 1 แห่ง,ลพบุรี 1 แห่ง,ชลบุรี 1 แห่ง และจันทบุรี 1 แห่ง
ธนิฏฐา กล่าวอีกว่า ปี 2549 ได้จัดการออกแบบเบื้องต้นหลังสำรวจวิเคราะห์ศักยภาพ จำนวน 5 แห่งคือน้ำพุร้อนคลองปลายพู่ อำเภอเมืองเชียงราย, น้ำพุร้อนผาเสริฐ อำเภอเมืองเชียงราย, น้ำพุร้อนมะลิกา อำเภอเมืองเชียงใหม่, น้ำพุร้อนหนองแห้ง อำเภอขุนยวม แม่ฮ่องสอน และน้ำพุร้อนหนองหญ้าปล่อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี
ส่วนปี 2550ได้คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายทั้งสิ้น 5 แห่งเพื่อสำรวจวิเคราะห์ศักยภาพจากนั้นปี 2551 ได้ทำการออกแบบรายละเอียดได้แก่ น้ำพุร้อนรัตนโกสัย(ท่าสะท้อน) อำเภอพุนพิน สุราษฏร์ธานี, น้ำพุร้อนเขาน้ำร้อนใน อำเภอไชยา สุราษฏร์ธานี, น้ำพุร้อนบ้านเขาน้อย อำเภอคีรีรัฐนิคม สุราษฏร์ธานี, น้ำพุร้อนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และน้ำพุร้อนบ้านพุขาม อำเภอวิเชียรบุรี เพชรบูรณ์
ในขณะนี้สพท.จัดทำคู่มือบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้ำพุร้อนธรรมชาติให้สอดคล้องกับมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้ำพุร้อนธรรมชาติและอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนให้นำความรู้แนวคิดและประสบการณ์ไปใช้ในการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังได้เตรียมดันน้ำพุร้อนระนอง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทุ่มสำรวจน้ำพุร้อนระนอง หวังดึงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นบริหารจัดการภายใต้ผลประโยชน์ชุมชน เตรียมทำคู่มือบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้ำพุร้อนธรรมชาติ หวังแพร่องค์ความรู้ด้านน้ำแร่ให้ชุมชน
ดำรงค์ แสงกวีเลิศ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว(สนล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวมอบหมายให้สำนักพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เร่งสำรวจระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำคู่มือบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้ำพุร้อนธรรมชาติ (Health and Spa) ซึ่งจากการระดมความคิดเห็นของประชาชนพบว่าต้องการให้ภาครัฐคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชุมชนในการเข้ามาบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พร้อมทั้งขอให้ส่งเสริม เผยแพร่องค์ความรู้ด้านน้ำแร่แก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงต้องหาผู้รับผิดชอบหลัก เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการข้อมูล ซึ่งขณะนี้ได้ออกสำรวจที่จังหวัดระนองที่น้ำพุร้อนสวนสาธารณะรักษะวาริน, น้ำพุร้อนบ้านทุ่งยอ(พุหลุมพี) ตำบลบางริ้น และน้ำพุร้อนบ้านพรรั้ง ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว
ดำรงค์ กล่าวอีกว่า ในการสำรวจเพื่อเตรียมการพัฒนาได้คำนึงถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากน้ำแร่ และการแพทย์แผนไทยอย่างมีคุณภาพสูงสุด อย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งมีการทำวิจัยพบว่าประโยชน์ของน้ำแร่มีมาก ดังนั้นแนวทางการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ จะต้องมีมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสังคม
การดำเนินการด้านบุคลากรผู้ให้บริการ รวมถึงด้านการตลาดและการส่งเสริมการลงทุนในโครงการสำคัญอาทิ หมู่บ้านน้ำแร่ (Spa Village) ศูนย์สุขภาพธารน้ำแร่(Home Spa) เมืองน้ำแร่ ( Spa Capital) สำหรับการแพทย์แผนไทย เช่นการใช้สมุนไพร อาหารชีวจิต การนวด การอบ การฝึกจิต โยคะด้วยการส่งเสริมควบคู่ไปกับการใช้ร่วมกับน้ำแร่ รวมถึงในอนาคตอาจจะต้องจัดหลักสูตรสำหรับกลุ่มพิเศษเช่นผู้ป่วยอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วนเป็นต้น