"สะบายดี....สะบายดี"
ที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่จะบอกว่าตัวเองสบายดีไม่เจ็บไข้ได้ป่วยหรอกนะ แต่สะบายดีในที่นี้เป็นภาษาลาวที่แปลว่า "สวัสดี" ซึ่งคนลาวเขาใช้ทักทายกัน
เนื่องจากครั้งนี้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอพาออกนอกสยามประเทศมุ่งหน้า สู่"สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" หรือ"สปป.ลาว"ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ในเส้นทางวงรอบ เชียงของ-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์-หนองคาย โดยมีไฮไลท์สำคัญของทริปอยู่ที่ เมือง"หลวงพระบาง" ดินแดนมรดกโลกอันงดงามไปด้วยวิถีวัฒนธรรม วัดวาอาราม และและสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย
สำหรับการเดินทางครั้งนี้เราไปกับ บริษัททรอปิคอล สตาร์ ทราเวล โดยคณะของเรามุ่งหน้าออกจากเมืองไทย ข้ามโขง ที่ด่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย สู่ฝั่งลาวที่(ท่าเรือ)บ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว จากนั้นก็พากันต่อรถตุ๊กๆ(ลาว)ไปยัง "ท่าเรือหลวงทราย" เพื่อขึ้นเรือหลวงทรายล่องไปตามลำน้ำโขงสู่หลวงพระบาง
ในทริปนี้พวกเราเลือกนั่งเรือหวานเย็นสู่หลวงพระบาง เพราะต้องการกินลมชมวิวของแม่น้ำโขงใน 2 ข้างทาง (เรือหวานเย็นใช้เวลาประมาณ 2 วัน ส่วนเรือเร็วหรือเฮือเร็วใช้เวลาประมาณ 1 วัน)
แล้วการเดินทางสู่หลวงพระบางก็เริ่มขึ้น เมื่อเรือหลวงทรายซึ่งเป็นเรือไม้ขนาดใหญ่ ได้พาพวกเราล่องชมวิวสองฟากฝั่งของแม่น้ำโขงไปเรื่อยๆ ตอนนี้พวกเราในเรือเหมือนเป็นหนุ่มสาวลูกครึ่งไทยลาวกันทั้งลำ เพราะเมืองมองไปฝั่งขวาเราจะเห็นบรรยากาศของประเทศไทย แต่หากมองไปทางซ้ายก็จะเห็นวิวทิวทัศน์ของฝั่งประเทศลาว ซึ่ง 2 ฝั่งโขงนี้ ดูได้ไม่ยากว่าฝั่งไหนคือไทยและฝั่งไหนคือลาว เพราะฝั่งไทยป่าไม้จะถูกตัดจนเหี้ยน ส่วนฝั่งลาวยังดูเขียวชอุ่มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยแต่ก็เริ่มมีบางจุดเดินตามรอยฝั่งไทย ดูเว้าแหว่งเป็นหย่อมๆ แถมบางลูกยังกลายเป็นภูเขาหัวโล้นไม่ต่างจากฝั่งไทย ชนิดหายใจรดต้นคอกันเลยทีเดียว
จนเมื่อเวลาผ่านไปพักใหญ่ เมื่อเรือล่องผ่านภูเขาที่แบ่งพรมแดนไทย-ลาว แม่น้ำโขงจากจุดนี้ไปคือแม่น้ำโขงของลาว มองไปทั้งซ้ายและขวาคือดินแดนประเทศลาวทั้ง 2 ฟากฝั่งโดยแท้
ก่อนเข้าสู่จุดพักกลางทาง เรือพาเราไปแวะเที่ยว "หมู่บ้านห้วยพะลาม" หมู่บ้านชาวลาวที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายมีการดำรงชีวิตโดยการทำนาทำประมงเลี้ยงเป็ดไก่หมู หมู่บ้านนี้ไม่ได้มีสินค้าอะไรที่ดึงดูดใจ แต่สิ่งที่ทำให้พวกเราแวะก็คือวิถีชีวิตของชาวบ้านห้วยพะลามที่เราอาจจะหาดูไม่ได้แล้วในประเทศพัฒนาทางวัตถุทั้งหลาย
จากนั้นเรือได้พาเรามาพักค้างคืนกัน ในเมืองปากเบ็ง (Pakbeng) สปป.ลาว ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ชุมทางทางน้ำที่สำคัญของแม่น้ำโขง หากผู้ที่เดินทาสัญจรทางเรือจากห้วยทรายไปยังหลวงพระบาง หรือหลวงพระบางไปห้วยทราย ก็มักจะแวะค้างคืนกันที่ปากเบ็ง(หรือปากแบ่ง) เพราะเป็นหมู่บ้านใหญ่ริมน้ำและตั้งอยู่บริเวณกลางทางพอดี
คืนนั้นพวกเราพักกันที่หลวงทรายลอร์จ ที่พอมาถึงที่พักได้ไม่นานม่านรัตติกาลก็ค่อยๆโรยตัวเข้าห่มคลุมปากเบ็งอย่างรวดเร็ว...
เช้าวันรุ่งขึ้นที่ปากเบ็ง พวกเรากระตือรือร้นตื่นกันแต่ไก่โห่เพื่อที่จะได้ไปเดินชมตลาดยามเช้าของชาวปากเบ็ง ซึ่งก็เป็นตลาดเล็กๆคล้ายกับตลาดในชนบทของบ้านเรา หากใครมีเวลามากหน่อยก็แวะขึ้นไปที่ "วัดสินจองแจ้ง" ที่มีพระพุทธรูปหลากสมัยและรูปปั้นผู้ชายจมูกโตไว้หนวด เข้าใจกันว่าเป็นคนฝรั่งเศสหรือไม่ก็ฮอลันดาที่เข้ามาในลาวรุ่นแรกๆ จากนั้นก็ได้เวลาลงเรือเพื่อล่องแม่น้ำโขงกันต่อด้วยระยะทางอีกประมาณ 160 กม. พวกเราก็จะถึงยังจุดหมายเมืองมรดกโลก
เพื่อไม่ให้เป็นการเดินทาง เดินทาง และก็เดินทาง แต่อย่างเดียว ระหว่างทางพวกเราแวะ "หมู่บ้านบ้านบ่อ" ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการทำเหล้าพื้นบ้าน และขายผ้าทอ เมื่อเข้าไปถึงหมู่บ้าน "ผู้จัดการท่องเที่ยว" และพลพรรคพากันไปไหว้พระภายในโบสถ์วัดบ้านบ่อตามธรรมเนียมชาวพุทธเสร็จสรรพแล้ว พวกเราก็ขอแวะที่หมู่บ้านนี้นานสักหน่อย เนื่องจากชาวคณะของเราถูกอกถูกใจกับผ้าทอหลากลายหลายสีสันทำให้ใช้เวลาเลือกซื้อกันอยู่นาน พวกที่ซื้อหากันเสร็จอย่างรวดเร็วก็หันมาสนใจจิบเหล้าพื้นบ้านที่มีความแรงกว่า 40 ดีกรี ใครติดใจจิบมากหน่อยก็เล่นเอาซู่ซ่าแทบเดินไม่เป็นกันเลยทีเดียว
หลังจากเพลิดเพลินกับการกระจายรายได้สู่ชาวเขาลาว และอวดความสวยงามของผ้าทอกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรือพาพวกเราแล่นมาถึงสามแยกใหญ่กลางแม่น้ำโขง หรือเรียกกันว่า "ปากแม่น้ำอู" เป็นจุดที่มีน้ำ 2 สี เนื่องจากมีน้ำจากแม่น้ำโขงสีน้ำตาลและน้ำสีครามจากแม่น้ำอูไหลมาบรรจบกัน อยู่บนเรืออาจจะมองไม่เห็นชัดเจนนักว่าที่เขาบอกกันว่าเป็นแม่น้ำ 2 สีนั้นเป็นอย่างไร เรือจึงพาพวกเรามาแวะจุดเที่ยวอีกแห่งหนึ่งคือ "ถ้ำติ่ง" หรือ "ถ้ำปากอู" หรือ "ถ้ำพระ" เพื่อที่เราจะได้ชมถ้ำและได้ชมแม่น้ำสองสีในมุมสูงอีกด้วย
ถ้ำติ่งแห่งนี้เป็นถ้ำบนหน้าผาหินปูนมีอยู่ด้วยกัน 2 ถ้ำด้วยกัน ถ้ำแรก “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ไต่บันไดขึ้นไปเกือบจะเหนื่อยก็ถึง “ถ้ำติ่ง” ซึ่งตามประวัติแล้ว เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จกลับจากเชียงใหม่ โปรดให้ก่อสร้างตกแต่งถ้ำและนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งสัมพันธไมตรีระหว่างล้านช้างหลวงพระบางหรือสปป.ลาว กับล้านนาเชียงใหม่หรือพี่ไทยของเรานี่เอง
ต่อมาในทุกๆวันปีใหม่ลาวชาวหลวงพระบางจะนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ในถ้ำ โดยถือกันว่าเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ เป็นเหตุให้เมื่อเราขึ้นไปบนถ้ำจะเจอกับพระพุทธรูปมากมายหลายไซส์หลายขนาดทั้งพระพุทธรูปไม้ สำริด ปูนปั้นวางประดิษฐานเรียงรายให้กราบไหว้กันอย่างนับไม่ถ้วน
เมื่อกราบไหว้พระพุทธรูปและชมวิวแม่น้ำสองสีที่มีภูมิประเทศสวยงามจากจุดนี้แล้ว หากเดินต่อขึ้นบันไดไปอีกราว 200 ขั้น จะเจอกับ "ถ้ำเถิง" แต่กว่าที่พวกเราจะได้สังเกตบริเวณปากถ้ำก็ต้องรอให้หายหอบลิ้นห้อยกันเสียก่อน เนื่องจากอายุและสังขารที่นับวันจะล่วงเลยไปเรื่อยๆจนเริ่มจะร่วงโรย คิดแล้วก็ใจหาย
หลังจากลมแทบจับเมื่อก้าวขึ้นบันไดขั้นแล้วขั้นเล่ามาจนถึงปากถ้ำเถิง สิ่งที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" พบไม่ใช่โต๊ะที่ตั้งเพื่อขายดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ หรือเก็บค่าที่แต่อย่างใด แต่เป็นโต๊ะที่ตั้งเพื่อให้เช่าไฟฉาย สิ่งจำเป็นในการเข้าถ้ำเถิงแห่งนี้ แม้จะต้องเดินต่อเข้าไปไม่ลึกแต่มีความมืดขนาดที่ต้องพกไฟฉายไปด้วย มิเช่นนั้นอาจจะกราบพระผิดๆถูกๆก็เป็นได้
สำหรับขาลงจากถ้ำเถิงไม่เหนื่อยเหงื่อตกเหมือนตอนขึ้น ระหว่างทางลงพวกเราก็แวะถ่ายรูปเป็นระยะๆ เนื่องจากวิวมุมสูงของแม่น้ำสองสีบนพื้นหลังที่เป็นเทือกเขาสวยงามได้ใจชาวคณะ จนต้องขอเสนอหน้าเข้าไปอยู่ในรูปวิวสวยๆเก็บไว้เป็นที่ระทึก..เอ๊ย ระลึกกันหน่อยก่อนที่จะจากลาถ้ำติ่งแห่งนี้ เพื่อไปขึ้นฝั่งยังจุดหมายปลายทาง ณ "เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง"... (โปรดติดตามในตอนต่อไป)
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว มีจุดผ่านแดนสากลเชื่อมกับไทยใน 5 จังหวัด สำหรับจังหวัดเชียงราย จากที่อำเภอเชียงของ สามารถข้ามฝั่งด้วยเรือข้ามฟากแม่น้ำโขงไปยังอำเภอห้วยทราย สปป.ลาว จากนั้นสามารถนั่งรถตุ๊กๆไปยังท่าเรือหลวงทราย สกุลเงินลาว 1 บาท ประมาณ 270 กีบ และใช้เป็นเงินบาทและเงินดอลล่าร่วมด้วย สำหรับผู้ที่สนใจทริปท่องเที่ยวลาวเป็นวงรอบ เชียงของ(เชียงราย)-ปากเบ็ง-หลวงพระบาง-วังเวียง-เวียงจันทน์-หนองคาย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ บริษัททรอปิคอล สตาร์ ทราเวล โทร.0-2513-4913 ต่อ 2513,4996
อ่านเรื่องสะบายดีเมืองลาวเพิ่มเติมได้ที่นี่
สะบายดีเมืองลาว(2) : สะบายดีหลวงพระบาง
สะบายดีเมืองลาว(จบ) : ยลเสน่ห์วังเวียง-เลาะเลียบเคียงเวียงจันทน์