โดย : ปิ่น บุตรี
เขาใหญ่ ชื่อนี้นักท่องเที่ยวนิยมไพรต่างรู้จักกันดี
ยิ่งเขาใหญ่ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก ยิ่งทำให้ผืนป่าแห่งนี้ถูกยกชั้นให้ขลังยิ่งขึ้นไปอีก
ใครที่เคยไปเขาใหญ่จะรู้ดีว่า นอกจากอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแมกไม้ พืชพรรณ และระบบนิเวศอันหลากหลายแล้ว ป่าใหญ่แห่งนี้ยังมีสัตว์ป่าชุกชุม โดยเฉพาะเก้ง กวางนี่ เราสามารถเจอะเจอมันทั้งกลางวัน กลางคืนได้อย่างไม่ยากเย็น
ตัวผมแม้จะเคยขึ้นไปเที่ยวบนเขาใหญ่บ่อยครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีดวงด้านการพบเจอสรรพสัตว์บนเขาใหญ่เท่าไหร่ แถมไอ้ที่อยากเจอก็ไม่เคยเห็นแม้เงา ส่วนไอ้ที่ไม่อยากเจอนี่มากันเพียบเลย
สัตว์ประเภทไหนคือที่ไม่อยากเจอ คำตอบก็คือ“ทาก”จอมดูดเลือดแห่งผืนป่านั่นเอง ทุกทีที่เดินป่า มันเป็นต้องขโยก-โยกหัวกระดึ๊บๆคืบคลานเข้ามาหา ชนิดที่พลาดพลั้งเผลอไม่ได้ เพราะมันจะแอบฝังเขี้ยวลงไปจู จุ๊บในเนื้อนิ่มๆ แล้วค่อยๆดูดเลือดของเราขึ้นมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว กว่าจะรู้อีกทีก็ตอนมันอิ่มแปล้สลัดเนื้อเราทิ้งแล้วนั่นแหละ
แต่นี่แหละคือ 1 ใน ดัชนีชี้ถึงสภาพป่าที่สมบูรณ์
เช่นเดียว“ช้าง”(ป่า)ที่เป็นอีกหนึ่งสิ่งบ่งบอกความสมบูรณ์ของผืนป่า
บนเขาใหญ่ เท่าที่สอบถามข้อมูลจาก“พี่อึ่ง”เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แกบอกว่ามีช้างป่าอยู่ประมาณ 200 ตัว(จากการสำรวจของนักวิจัยช้างป่า) แถมหลายตัวมีชื่อเรียกขาน อาทิ รถถัง ก้านกล้วย บุญตา สีน้ำ สีเทา สีคราม ไม้หอม ฯลฯ
เฮ้อ...ยิ่งรับรู้ว่าบนเขาใหญ่มีช้างป่าอยู่ไม่น้อยก็ยิ่งเจ็บกระดองใจตัวเอง เพราะไปเที่ยวเขาออกบ่อย ไม่เคยเจอช้างป่าตัวเป็นๆ เจอแต่ขี้ช้างกองเหม็นๆแค่นั้นเอง ผิดกับเพื่อนผมคนหนึ่ง มันขับรถขึ้นเขาใหญ่ครั้งเดียวเอง แต่กลับเจอช้างป่าเดินข้ามถนนตั้งหลายตัวแน่ะ
ครับ เรื่องนี้ยิ่งฟังเพื่อนมันเล่าก็ยิ่งช้ำใจ แถมยิ่งช้ำใจกว่าเมื่อพี่อึ่งแกบอกว่า โอกาสเจอช้างป่าบนเขาใหญ่นั้น“ไม่ยาก” โดยเฉพาะแถวทางขึ้นเขาใหญ่ฝั่งปราจีนบุรีช่วงบริเวณน้ำตกเหวนรกนี่มีคนเจอช้างป่าเดินข้ามถนนอยู่บ่อยครั้ง
“เวลาเจอช้างป่าให้อยู่ในรถ อย่าไปบีบแตรไล่ ถ่ายรูปก็อย่าใช้แฟลต เดี๋ยวช้างตกใจอาจโดนเหยียบได้”
พี่อึ่งบอกอย่างนั้นระหว่างที่ขับรถพาผมไปเที่ยวน้ำตกเหวนรก พร้อมบอกว่า บางทีวันนี้เราอาจโชคดีได้เห็นช้างข้ามถนนก็เป็นได้
งานนี้ทำให้ผมมีลุ้นอีกครั้ง เพราะรู้มาว่าช่วงหนึ่งของทางไปน้ำตกเป็นทางช้างเผือก เอ้ย!!! ทางช้างผ่าน ซึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวหากเจอช้างถือเป็นโชคดี เพราะตามสัญชาติญาณหากเราไม่รุกรานช้าง ช้างก็ไม่รุกรานเรา ยกเว้นพวกช้างตกมัน ช้างตกใจ นี่เดาทางค่อนข้างยาก
ส่วนช้างเจอคนนี่ไม่รู้ว่ามันจะคิดยังไง โชคดีหรือโชคร้าย??? หรือโค-ตะ-ระ-โชคร้าย เพราะหากเอาใจช้างมาใส่ใจเรา พวกเขา(ช้าง)หากินอาศัยกันมาอยู่ดีๆนับแต่บรรพกาล แต่ตอนหลังกลับถูกเผ่าพันธุ์โฮโมเซเปียนรุกรานแล้วยึดครองและตัดถนนผ่านแบ่งแยกผืนป่าออกจากกัน ทำให้ช้างต้องลำบากมากขึ้น เนื่องจากต้องเดินข้ามถนนที่ไม่มีสะพานลอย ทางม้าลาย หรือสัญญาณไฟแดง จนบางครั้งเกิดเหตุรถชนช้าง-ช้างชนรถขึ้นบนเขาใหญ่
กลับมาบนเส้นทางสู่น้ำตกเหวนรกกันต่อ ทั้งขาไป ขากลับ ผมไม่เจอช้างซ๊ากกะตัว เจอแต่ขี้ช้าง และลิงฝูงย่อยที่มากระโดด ห้อย ต่องแต่ง ริมถนนบนทางไปผาเดียวดาย
แม้ลิงจะเป็นสัตว์ที่ใส่กางเกงของมันทุกวัน แต่กับเจ้าจ๋อพวกนี้ผมไม่ค่อยอยากเจอมันเท่าไหร่ เพราะลิงพวกนี้ในสายตาของผม มันดูไม่ใช่“ลิงป่า”แท้ๆเพียวๆ หากแต่เป็น“ลิงเปลี่ยน”ที่มีพฤติกรรมคล้ายลิงศาลพระกาฬหรือลิงที่เขาวังเข้าไปทุกที คือเป็นลิงประเภท“เสพติดขนมนิยม” ยามที่เห็นรถแล่นผ่านไป-มา ลิงกลุ่มนี้เป็นต้องออกมาดักรอของแจก ของฟรี จำพวกขนม อาหาร ผลไม้ ของกินจากคนจนกลายเป็นลิงนิสัยเสียไปแล้ว
ลิงหลายตัวพอเจอคนยื่นโยนของให้ ถึงขนาดรีบกระโดดเข้าไปแย่งทันที บางตัวหนักกว่านั้นกระโดกเข้าไปแย่ง ฉก กระชาก ปล้นของของจากมือคนเฉยเลย ส่วนบางตัวหนักยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก เห็นรถวิ่งผ่านมารีบกระโดดไปหวังจะได้ของกิน ปรากฏว่า
ตู้ม!!! ถูกรถชนตาย กลายเป็นผีลิงไป
เรื่องนี้หากสาวไปถึงต้นเหตุก็คงต้องโทษคนนั่นแหละ เพราะใครและใครหลายคนดันไปริเริ่มการให้อาหารลิงจนมันเสียนิสัยกลายเป็นลิงเสพติดขนมนิยม แม้ตอนหลังทางอุทยานฯจะออกประกาศ“ห้ามให้อาหารลิง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับหนึ่งพันบาท" แต่ผมว่ามันดูไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับป้ายประกาศ(ของทางอุทยานฯ)ที่บอกทำนองว่า
“ห้ามให้อาหารลิง ใครให้จะถูกเจ้าพ่อเขาใหญ่สาปแช่ง”อันนี้ดูจะได้ผลชะงัดกว่าไม่น้อยเลย
…………………………………………
บ่ายวันนั้นแม้ผมจะชวดจากการเจอช้างแต่พี่อึ่งยังคงให้ความหวังว่า คืนนี้ช่วงส่องสัตว์ผมน่าจะมีโอกาสได้เจอช้างออกมากินโป่ง เพราะช่วงนี้มีช้างออกมากินโป่งแทบทุกวัน
ครั้นพอนั่งรถออกไปส่องสัตว์ตอนกลางคืน ผมเจอสัตว์หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นสัตว์ขาประจำอย่าง เก้ง กวาง ที่ออกมากินหญ้า เลาะเล็มใบไม้กันเป็นจำนวนมากในเส้นทางส่องสัตว์ นอกจากนี้ก็ยังเจอพวกขาจรอย่าง นกฮูก ชะมด อีเย็น เอ้ย!!! อีเห็น(ประทานโทษอารมณ์นางทาสพาไป) กระรอก กระต่าย และลิง(ตัวนี้เป็นลิงป่าจริง เพราะมันกลัวคนปีนขึ้นไปอยู่บนยอดไม้โน่น)
ส่วนช้างที่พี่อึ่งบอกว่าน่าจะเจอเป็นที่สุด เพราะเราเล่นไปซุ่มดูอยู่แถวโป่งที่มันมักออกมาหากินประจำ แต่ปรากฏคืนนี้มีแต่เก้ง กวาง ลงมากินโป่ง ส่วนช้างนั้นไม่มีวี่แววสักตัว
สภาพการณ์แบบนี้ต่อให้ “จา พนม” ต้มยำกุ้ง มาเที่ยวตะโกนหาช้าง มันก็ยังยากอยู่ดี
เมื่อพี่อึ่งคุยนักหนาว่าจะเจอช้างแล้วไม่เจอ แกจึงเปลี่ยนประเด็นแก้เก้อ ด้วยการเล่าเรื่องน่าฉงนเกี่ยวช้างบนเขาใหญ่ให้ผมฟัง
“คุณเคยเห็นช้างกินลิงหรือเปล่า?”
“หาอะไรนะ?”ผมอุทานด้วยความกังขา เพราะที่ผ่านมา พี่อึ่งแกมักจะเล่ามุข ประเภท ลับ-ลวง-พราง ล่อหลอก ผมอยู่หลายหน
“ช้างกินลิงจริงๆ ตอนนั้นผมพาทัวร์อาม่า อาซิ้ม มาส่องสัตว์ แรกๆก็เห็นแต่พวกเก้ง กวาง ลงมากินโป่ง แต่จู่ๆก็มีอาม่าคนหนึ่งพูดอย่างตกอกตกใจ ชี้มือไปในมุมสลัวๆ แล้วบอกว่า” พี่อึ่งเว้นวรรคนิดนึง
“ดูโน่งๆ ช้างกินลิง...อ่า...ช้างกินลิง ผมได้ยินก็ตกใจ รีบหันไปดู เพราะถ้าเกิดช้างมันกินลิงจริง มันต้องเป็นสัตว์ประหลาดแน่ๆ”
“แล้วไงต่อพี่”ผมถามแบบอยากรู้
“ปัดโธ่ มีที่ไหนช้างกินลิง มีแต่ช้างกินโป่ง ผมเลยถามกลับไปว่า ไหนละป้าช้างกินลิง รู้มั้ยอาม่าแกตอบว่าไง” พี่อึ่งทิ้งช่วง กระตุ้นความอยากรู้
“แกบอกว่า ก็นั่งไง ลื้อไม่เห็นหรือ ช้างกิน”ลิงโป่ง”อยู่หงับๆน่ะ ผมเจอเข้าไปอีแบบนี้อึ้งไปเลย เถียงไม่ออกบอกไม่ถูก เพราะมันจริงของแก ช้างกินดิน(โป่ง)อย่างที่แกว่าจริงๆ เพียงแต่แกพูดไม่ชัดเท่านั้นเอง”
ว่าแล้วพี่อึ่งแกก็หัวร่องอหายประมาณว่าขำสุดตัว ส่วนผมถึงกับอึ้ง เพราะช้างก็ไม่เจอแถมมาเจอมุขหลอกล่อ ลับ-ลวง-พราง เรื่องช้างกินลิงของพี่อึ่งเข้าไปอีก งานนี้จึงเกิดความรู้อยากกิน“อึ่งต้มเปรต”ขึ้นมาตะหงิดๆ
เขาใหญ่ ชื่อนี้นักท่องเที่ยวนิยมไพรต่างรู้จักกันดี
ยิ่งเขาใหญ่ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก ยิ่งทำให้ผืนป่าแห่งนี้ถูกยกชั้นให้ขลังยิ่งขึ้นไปอีก
ใครที่เคยไปเขาใหญ่จะรู้ดีว่า นอกจากอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแมกไม้ พืชพรรณ และระบบนิเวศอันหลากหลายแล้ว ป่าใหญ่แห่งนี้ยังมีสัตว์ป่าชุกชุม โดยเฉพาะเก้ง กวางนี่ เราสามารถเจอะเจอมันทั้งกลางวัน กลางคืนได้อย่างไม่ยากเย็น
ตัวผมแม้จะเคยขึ้นไปเที่ยวบนเขาใหญ่บ่อยครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีดวงด้านการพบเจอสรรพสัตว์บนเขาใหญ่เท่าไหร่ แถมไอ้ที่อยากเจอก็ไม่เคยเห็นแม้เงา ส่วนไอ้ที่ไม่อยากเจอนี่มากันเพียบเลย
สัตว์ประเภทไหนคือที่ไม่อยากเจอ คำตอบก็คือ“ทาก”จอมดูดเลือดแห่งผืนป่านั่นเอง ทุกทีที่เดินป่า มันเป็นต้องขโยก-โยกหัวกระดึ๊บๆคืบคลานเข้ามาหา ชนิดที่พลาดพลั้งเผลอไม่ได้ เพราะมันจะแอบฝังเขี้ยวลงไปจู จุ๊บในเนื้อนิ่มๆ แล้วค่อยๆดูดเลือดของเราขึ้นมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว กว่าจะรู้อีกทีก็ตอนมันอิ่มแปล้สลัดเนื้อเราทิ้งแล้วนั่นแหละ
แต่นี่แหละคือ 1 ใน ดัชนีชี้ถึงสภาพป่าที่สมบูรณ์
เช่นเดียว“ช้าง”(ป่า)ที่เป็นอีกหนึ่งสิ่งบ่งบอกความสมบูรณ์ของผืนป่า
บนเขาใหญ่ เท่าที่สอบถามข้อมูลจาก“พี่อึ่ง”เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แกบอกว่ามีช้างป่าอยู่ประมาณ 200 ตัว(จากการสำรวจของนักวิจัยช้างป่า) แถมหลายตัวมีชื่อเรียกขาน อาทิ รถถัง ก้านกล้วย บุญตา สีน้ำ สีเทา สีคราม ไม้หอม ฯลฯ
เฮ้อ...ยิ่งรับรู้ว่าบนเขาใหญ่มีช้างป่าอยู่ไม่น้อยก็ยิ่งเจ็บกระดองใจตัวเอง เพราะไปเที่ยวเขาออกบ่อย ไม่เคยเจอช้างป่าตัวเป็นๆ เจอแต่ขี้ช้างกองเหม็นๆแค่นั้นเอง ผิดกับเพื่อนผมคนหนึ่ง มันขับรถขึ้นเขาใหญ่ครั้งเดียวเอง แต่กลับเจอช้างป่าเดินข้ามถนนตั้งหลายตัวแน่ะ
ครับ เรื่องนี้ยิ่งฟังเพื่อนมันเล่าก็ยิ่งช้ำใจ แถมยิ่งช้ำใจกว่าเมื่อพี่อึ่งแกบอกว่า โอกาสเจอช้างป่าบนเขาใหญ่นั้น“ไม่ยาก” โดยเฉพาะแถวทางขึ้นเขาใหญ่ฝั่งปราจีนบุรีช่วงบริเวณน้ำตกเหวนรกนี่มีคนเจอช้างป่าเดินข้ามถนนอยู่บ่อยครั้ง
“เวลาเจอช้างป่าให้อยู่ในรถ อย่าไปบีบแตรไล่ ถ่ายรูปก็อย่าใช้แฟลต เดี๋ยวช้างตกใจอาจโดนเหยียบได้”
พี่อึ่งบอกอย่างนั้นระหว่างที่ขับรถพาผมไปเที่ยวน้ำตกเหวนรก พร้อมบอกว่า บางทีวันนี้เราอาจโชคดีได้เห็นช้างข้ามถนนก็เป็นได้
งานนี้ทำให้ผมมีลุ้นอีกครั้ง เพราะรู้มาว่าช่วงหนึ่งของทางไปน้ำตกเป็นทางช้างเผือก เอ้ย!!! ทางช้างผ่าน ซึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวหากเจอช้างถือเป็นโชคดี เพราะตามสัญชาติญาณหากเราไม่รุกรานช้าง ช้างก็ไม่รุกรานเรา ยกเว้นพวกช้างตกมัน ช้างตกใจ นี่เดาทางค่อนข้างยาก
ส่วนช้างเจอคนนี่ไม่รู้ว่ามันจะคิดยังไง โชคดีหรือโชคร้าย??? หรือโค-ตะ-ระ-โชคร้าย เพราะหากเอาใจช้างมาใส่ใจเรา พวกเขา(ช้าง)หากินอาศัยกันมาอยู่ดีๆนับแต่บรรพกาล แต่ตอนหลังกลับถูกเผ่าพันธุ์โฮโมเซเปียนรุกรานแล้วยึดครองและตัดถนนผ่านแบ่งแยกผืนป่าออกจากกัน ทำให้ช้างต้องลำบากมากขึ้น เนื่องจากต้องเดินข้ามถนนที่ไม่มีสะพานลอย ทางม้าลาย หรือสัญญาณไฟแดง จนบางครั้งเกิดเหตุรถชนช้าง-ช้างชนรถขึ้นบนเขาใหญ่
กลับมาบนเส้นทางสู่น้ำตกเหวนรกกันต่อ ทั้งขาไป ขากลับ ผมไม่เจอช้างซ๊ากกะตัว เจอแต่ขี้ช้าง และลิงฝูงย่อยที่มากระโดด ห้อย ต่องแต่ง ริมถนนบนทางไปผาเดียวดาย
แม้ลิงจะเป็นสัตว์ที่ใส่กางเกงของมันทุกวัน แต่กับเจ้าจ๋อพวกนี้ผมไม่ค่อยอยากเจอมันเท่าไหร่ เพราะลิงพวกนี้ในสายตาของผม มันดูไม่ใช่“ลิงป่า”แท้ๆเพียวๆ หากแต่เป็น“ลิงเปลี่ยน”ที่มีพฤติกรรมคล้ายลิงศาลพระกาฬหรือลิงที่เขาวังเข้าไปทุกที คือเป็นลิงประเภท“เสพติดขนมนิยม” ยามที่เห็นรถแล่นผ่านไป-มา ลิงกลุ่มนี้เป็นต้องออกมาดักรอของแจก ของฟรี จำพวกขนม อาหาร ผลไม้ ของกินจากคนจนกลายเป็นลิงนิสัยเสียไปแล้ว
ลิงหลายตัวพอเจอคนยื่นโยนของให้ ถึงขนาดรีบกระโดดเข้าไปแย่งทันที บางตัวหนักกว่านั้นกระโดกเข้าไปแย่ง ฉก กระชาก ปล้นของของจากมือคนเฉยเลย ส่วนบางตัวหนักยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก เห็นรถวิ่งผ่านมารีบกระโดดไปหวังจะได้ของกิน ปรากฏว่า
ตู้ม!!! ถูกรถชนตาย กลายเป็นผีลิงไป
เรื่องนี้หากสาวไปถึงต้นเหตุก็คงต้องโทษคนนั่นแหละ เพราะใครและใครหลายคนดันไปริเริ่มการให้อาหารลิงจนมันเสียนิสัยกลายเป็นลิงเสพติดขนมนิยม แม้ตอนหลังทางอุทยานฯจะออกประกาศ“ห้ามให้อาหารลิง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับหนึ่งพันบาท" แต่ผมว่ามันดูไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับป้ายประกาศ(ของทางอุทยานฯ)ที่บอกทำนองว่า
“ห้ามให้อาหารลิง ใครให้จะถูกเจ้าพ่อเขาใหญ่สาปแช่ง”อันนี้ดูจะได้ผลชะงัดกว่าไม่น้อยเลย
…………………………………………
บ่ายวันนั้นแม้ผมจะชวดจากการเจอช้างแต่พี่อึ่งยังคงให้ความหวังว่า คืนนี้ช่วงส่องสัตว์ผมน่าจะมีโอกาสได้เจอช้างออกมากินโป่ง เพราะช่วงนี้มีช้างออกมากินโป่งแทบทุกวัน
ครั้นพอนั่งรถออกไปส่องสัตว์ตอนกลางคืน ผมเจอสัตว์หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นสัตว์ขาประจำอย่าง เก้ง กวาง ที่ออกมากินหญ้า เลาะเล็มใบไม้กันเป็นจำนวนมากในเส้นทางส่องสัตว์ นอกจากนี้ก็ยังเจอพวกขาจรอย่าง นกฮูก ชะมด อีเย็น เอ้ย!!! อีเห็น(ประทานโทษอารมณ์นางทาสพาไป) กระรอก กระต่าย และลิง(ตัวนี้เป็นลิงป่าจริง เพราะมันกลัวคนปีนขึ้นไปอยู่บนยอดไม้โน่น)
ส่วนช้างที่พี่อึ่งบอกว่าน่าจะเจอเป็นที่สุด เพราะเราเล่นไปซุ่มดูอยู่แถวโป่งที่มันมักออกมาหากินประจำ แต่ปรากฏคืนนี้มีแต่เก้ง กวาง ลงมากินโป่ง ส่วนช้างนั้นไม่มีวี่แววสักตัว
สภาพการณ์แบบนี้ต่อให้ “จา พนม” ต้มยำกุ้ง มาเที่ยวตะโกนหาช้าง มันก็ยังยากอยู่ดี
เมื่อพี่อึ่งคุยนักหนาว่าจะเจอช้างแล้วไม่เจอ แกจึงเปลี่ยนประเด็นแก้เก้อ ด้วยการเล่าเรื่องน่าฉงนเกี่ยวช้างบนเขาใหญ่ให้ผมฟัง
“คุณเคยเห็นช้างกินลิงหรือเปล่า?”
“หาอะไรนะ?”ผมอุทานด้วยความกังขา เพราะที่ผ่านมา พี่อึ่งแกมักจะเล่ามุข ประเภท ลับ-ลวง-พราง ล่อหลอก ผมอยู่หลายหน
“ช้างกินลิงจริงๆ ตอนนั้นผมพาทัวร์อาม่า อาซิ้ม มาส่องสัตว์ แรกๆก็เห็นแต่พวกเก้ง กวาง ลงมากินโป่ง แต่จู่ๆก็มีอาม่าคนหนึ่งพูดอย่างตกอกตกใจ ชี้มือไปในมุมสลัวๆ แล้วบอกว่า” พี่อึ่งเว้นวรรคนิดนึง
“ดูโน่งๆ ช้างกินลิง...อ่า...ช้างกินลิง ผมได้ยินก็ตกใจ รีบหันไปดู เพราะถ้าเกิดช้างมันกินลิงจริง มันต้องเป็นสัตว์ประหลาดแน่ๆ”
“แล้วไงต่อพี่”ผมถามแบบอยากรู้
“ปัดโธ่ มีที่ไหนช้างกินลิง มีแต่ช้างกินโป่ง ผมเลยถามกลับไปว่า ไหนละป้าช้างกินลิง รู้มั้ยอาม่าแกตอบว่าไง” พี่อึ่งทิ้งช่วง กระตุ้นความอยากรู้
“แกบอกว่า ก็นั่งไง ลื้อไม่เห็นหรือ ช้างกิน”ลิงโป่ง”อยู่หงับๆน่ะ ผมเจอเข้าไปอีแบบนี้อึ้งไปเลย เถียงไม่ออกบอกไม่ถูก เพราะมันจริงของแก ช้างกินดิน(โป่ง)อย่างที่แกว่าจริงๆ เพียงแต่แกพูดไม่ชัดเท่านั้นเอง”
ว่าแล้วพี่อึ่งแกก็หัวร่องอหายประมาณว่าขำสุดตัว ส่วนผมถึงกับอึ้ง เพราะช้างก็ไม่เจอแถมมาเจอมุขหลอกล่อ ลับ-ลวง-พราง เรื่องช้างกินลิงของพี่อึ่งเข้าไปอีก งานนี้จึงเกิดความรู้อยากกิน“อึ่งต้มเปรต”ขึ้นมาตะหงิดๆ