xs
xsm
sm
md
lg

"ขยะใต้ทะเลหมู่เกาะช้าง" คนเก็บไม่ได้ทิ้ง คนทิ้งไม่ได้เก็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นักดำน้ำโผล่ขึ้นเหนือน้ำพร้อมขยะ
ประเทศไทยของเราได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีท้องทะเลที่สวยงามจนเป็นที่ติดอกติดใจนักท่องเที่ยวมากมายจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฟากฝั่งทะเลอันดามันอย่างหมู่เกาะสิมิรัน หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะพีพี หรือในฝั่งทะเลอ่าวไทย เช่น หมู่เกาะช้าง ก็เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลอีกที่หนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปพักผ่อน ท่องเที่ยว ตามหมู่เกาะ และท้องทะเลต่างๆเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลไทยบางส่วนเริ่มทรุดโทรมลง

นอกจากนี้ปัญหาด้านขยะก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ซึ่งตามสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลหลายแห่งนอกจากจะเผชิญกับปัญหาขยะบนบก-บนฝั่งแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาขยะใต้ท้องทะเลด้วย โดยขยะเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากทิ้งขว้างอย่างมักง่ายของนักท่องเที่ยว คนเรือ ชาวประมง และที่ผู้สัญจรทางทะเล ในขณะที่ขยะอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการอับปาง เหตุสุดวิสัย และอุบัติเหตุในท้องทะเล
เจ้าหน้าที่ช่วยกันขนขยะจากเรือขึ้นฝั่
ด้วยเหตุนี้ทาง"องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"(อพท.) จึงเล็งเห็นว่าเรื่องขยะใต้ท้องทะเลเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องดำเนินการไข อพท. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินโครงการ "เก็บขยะใต้ทะเล"ขึ้น ในพื้นที่ของโครงการที่บริเวณ"หมู่เกาะช้าง" เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดใต้ท้องทะเลและคืนชีวิตสู่ธรรมชาติใต้ทะเลให้ดำรงไว้ซึ่งวัฏจักรธรรมชาติใต้ทะเลที่สมบูรณ์ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกไม่ทิ้งขยะลงสู่ท้องทะเล ภายใต้แนวความคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติใต้ทะเลอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

สำหรับโครงการเก็บขยะใต้ทะเลบริเวณหมู่เกาะช้างที่คนเก็บไม่ได้ทิ้ง คนทิ้งไม่ได้เก็บ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน โดยในครั้งแรกและครั้งที่สองได้ดำเนินการในปี พ.ศ.2549 ครั้งที่สามจัดขึ้นในปี พ.ศ.2550 และครั้งที่สี่ได้ดำเนินการเก็บขยะใต้ทะเลไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2551 ที่ผ่านมา
วรสิทธิ์ โรจนพานิช ผอ.อพท.
วรสิทธิ์ โรจนพานิช ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่า "โครงการนี้สืบเนื่องจากว่า เรือประมง นักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำดูปะการังทิ้งขยะลงทะเลทำให้มีขยะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้ปะการังเสียหายธรรมชาติใต้ทะเลก็ไม่สวยงาม เราจึงมีพันธะกิจที่ว่าจะทำอย่างไรให้แหล่งท่องเที่ยวเกิดความสมดุลระหว่างธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราจึงคิดว่าภารกิจเก็บขยะใต้ทะเลเป็นภารกิจหนึ่งที่เราต้องทำ"

"สิ่งที่โครงการนี้ทำเพื่อต้องการคืนชีวิตให้แก่ธรรมชาติ สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ภาคเอกชนตัวท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมหรือรักษาระบบนิเวศใต้ทะเลมาร่วมมือร่วมใจในการดูแลธรรมชาติ ประการต่อมาต้องการบูรณาการโครงการต่างๆ เข้ามาด้วยกัน ประการต่อมาต้องการสร้างจิตสำนึกให้คนเห็นว่าวันนี้ถ้าเราทุกคนมาช่วยร่วมมือกัน ทะเลและปะการังก็จะสวยงามและอยู่ได้อย่างยั่งยืน"

ทั้งนี้ในการเลือกจุดแต่ละจุดที่จะดำเนินการเก็บขยะนั้น ดูจากจำนวนผู้คนที่ลงดำน้ำดูปะการัง บริเวณเกาะไหนที่คนไปดำน้ำดูปะการังเยอะก็มักจะมีขยะทั้งจากเรือเองและจากนักท่องเที่ยว ส่วนขยะที่เก็บมานั้นก็จะนำมาคัดแยก ส่วนหนึ่งทาง อบต.ของทางเกาะช้าง และทางเกาะช้างใต้จะนำรถขยะมาขนเข้าโรงขยะที่เกาะช้าง อีกส่วนมีพวกรถรับซื้อของเก่ามารับเอาไป

ด้าน วิชาญ บุญอุตสาหะ ประธานชมรมธุรกิจดำน้ำเกาะช้าง และที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญทางทะเลของผอ.อพท. พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง กล่าวถึงการดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเลว่า
นักดำน้ำเก็บขยะทยอยส่งขยะชิ้นเล็กๆขึ้นเรือ
"ผมเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินการโครงการเก็บขยะใต้ทะเลนี้มาตั้งแต่ต้น ผมเห็นว่าบนเกาะช้างก็มีสมาชิกชมรมอยู่เยอะ และจริงๆแล้วตามหลักเบื้องต้นของ PADI (Professional Association of Diving Instructors) โรงเรียนสอนดำน้ำที่มี Instructor ของ PADI ภายใน 1 ปีจะต้องมีการทำความสะอาดใต้น้ำ 1 ครั้ง ซึ่งถ้าทุกคนต่างคนต่างทำก็จะเสียค่าใช้จ่ายสูง ในเมื่อเรามีชมรมแล้วจึงได้จัดเขียนโครงการทำความสะอาดทะเลแล้วส่งอนุมัติที่อพท."

วิชาญ เล่าต่อว่า ได้ย้ายมาอยู่บนเกาะช้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงของเกาะช้างมาโดยตลอด ความเปลี่ยนแปลงใต้ทะเลจากที่ดำน้ำแรกๆจนถึงตอนนี้ ในที่ไกลจากชายหาดออกไป ปะการังถูกทำลายเพราะมีผู้เข้าไปใช้กิจกรรมทางทะเลมากขึ้น แต่ในส่วนที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือแหล่งดำน้ำดูปะการังใกล้ชายฝั่ง น้ำมีความขุ่นขึ้นทำให้ปะการังไม่สามารถเจริญเติบโตได้

"ที่พบเห็นอีกอย่างหนึ่งคือขยะที่มากับน้ำ คือขยะที่พบเห็นอยู่บนเกาะ ในฤดูฝนจะมีขยะที่ตามน้ำไหลลงทะเลเป็นจำนวนมาก ผมมองอีกมุมหนึ่งว่าการเก็บขยะบนบกก็สำคัญ ควรเน้นเรื่องการกำจัดขยะบนบกด้วย อีกส่วนที่พบคือเรื่องของยางมะตอยหรือน้ำมันดิบที่ลอยมามักจะขึ้นมาเกยหาด"
ขยะส่วนมากเป็นพวกแห อวน และอุปกรณ์การทำประมง
วิชาญกล่าว ก่อนเล่าเพิ่มเติมว่า ถ้าเราเป็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องความปลอดภัยของตนเอง อยากจะฝากให้นักท่องเที่ยวนึกถึงว่า เราได้ไปในสถานที่ท่องเที่ยวเช่นเกาะช้าง เราได้นำอะไรเข้ามาบ้างและสิ่งที่นำเข้ามาเป็นมลพิษไหม แล้วเมื่อเรานำเข้ามาบริโภคแล้วเราได้นำกลับไปไหม ถ้าเรานำกลับไปมันก็ช่วยลดปริมาณมลพิษในเกาะได้ อีกอย่างคือ ตอนนี้เกาะช้างมีความมาตรฐานขึ้น ดังนั้นในเรื่องของการใช้บริการอย่าเน้นไปที่ราคาที่ถูก แต่อยากให้เน้นในลักษณะที่ว่าไปท่องเที่ยวกับบริษัทที่มีมาตรฐานได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องของสถานที่ที่เราได้เข้าไปท่องเที่ยว

นอกจากนี้ วิชาญยังฝากถึงเรื่องนี้ว่า "หากเราต้องการที่จะทำตลาดอะไรสักอย่าง สิ่งที่เราจะนำไปขายก็ต้องถูกดูแลไว้อย่างดีเพื่อจะนำไปขายได้ ในเรื่องของการทิ้งขยะตอนนี้ก็รู้สึกดีขึ้น เพราะมีการพัฒนาและให้ความรู้มีหน่วยงานหลายๆแห่งให้ความสนใจและให้ความรู้นักท่องเที่ยว เราคงห้ามไม่ให้ทุกคนทิ้งขยะไม่ได้ แต่เราพยามป้องกันดีกว่าจะต้องเสียงบประมาณปีละหลายๆแสนเพื่อลงไปเก็บขยะใต้น้ำ ซึ่งเราก็ทำได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น บางสิ่งบางอย่างถ้าเราไม่นำกฎหมายมาใช้ คนก็ยังไม่ค่อยสนใจ ประเทศเราจะเห็นได้ว่าถ้าเราจะห้ามไม่ให้คนทำอะไรก็แล้วแต่อย่างจริงจังมันจะต้องมีตัวกฎหมายขึ้นมา ซึ่ง ณ วันนี้ผมยังไม่เห็นตรงนี้"
รถขยะทยอยกันมาลำเลียงขยะส่งไปยังโรงขยะต่อไป
ในขณะที่อาสาสมัครดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเลอย่าง พัชระ สุตนะเศรษฐี ผู้ช่วยนักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล หมาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า "ผมเคยไปเก็บขยะที่ทะเลจันทบุรีมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มาดำน้ำเก็บขยะ พวกผมรู้เรื่องโครงการเก็บขยะใต้ทะเลครั้งนี้จากข่าวที่แจ้งมาทางสถาบันฯ เป็นการประสานงานของกลุ่มนักดำน้ำ เมื่อเราทราบก็เลยอาสามาร่วมด้วย"

ผมดำน้ำออกทะเลไม่บ่อยมาก แต่เมื่อไปดำน้ำแล้วเจอขยะชิ้นเล็กๆ เช่น พลาสติกเล็กๆ หรือพวกขวดน้ำ ผมก็จะเก็บขึ้นมา แต่ถ้าเป็นชิ้นใหญ่ก็เก็บไม่ไหว และในการที่พวกเราได้ดำน้ำลงไปเห็นโลกใต้ทะเลทำให้พวกเรารักธรรมชาติใต้ทะเลและอยากช่วยเก็บขยะรักษาธรรมชาติต่อไป

พัชระ เล่าถึงการดำน้ำเก็บขยะในโครงการเก็บขยะใต้ทะเลครั้งที่4 ว่า "ขยะที่เราเห็นส่วนมากเป็นพวกลอบ แห อวน ยางรถยนต์ซึ่งมีน้ำหนักมาก ส่วนขยะทั่วไปเช่น ขวด พลาสติก มีบ้างเล็กน้อย ถ้าเราเจอขยะชิ้นเล็กเราก็เก็บใส่ถุงมา แต่ถ้าเป็นขยะชิ้นใหญ่มากเราก็พยายามที่จะลากขึ้นมาทั้งแบบนั้น"
ขยะที่เต็มลำเรือค่อยๆถูกขนขึ้นฝั่ง
"จากที่ได้ลงดำน้ำเก็บขยะบริเวณหมู่เกาะช้าง ผมอยากจะขอความร่วมมือกับชาวประมงว่าเมื่อวางลอบ กับดัก หรืออวน หากติดอยากให้พยายามกู้หรือเก็บขึ้นมา หรือถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เลี่ยงออกจากแนวปะการัง เพราะบางทีอาจจะทำให้ปะการังเสียหายได้ สำหรับนักท่องเที่ยว ปกติชีวิตคนเราก็ต้องท่องเที่ยวพักผ่อนหยอนใจบ้าง ไม่ว่าจะเป็นที่ทะเล ป่า ภูเขา หรือที่ไหนก็ตาม ถ้าไปก็อย่าไปทำร้ายธรรมชาติ ไปแล้วเก็บกลับมาแต่ภาพถ่ายและขยะที่เรานำเข้าไป" พัชระกล่าว

สำหรับโครงการเก็บขยะใต้ทะเลในพื้นที่หมู่เกาะช้างครั้งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 13 จุด แบ่งเป็น 8 เส้นทาง โดยครั้งนี้สามารถเก็บขยะได้รวมกันถึง 7 ตันกว่า ส่วนใหญ่เป็นพวก อวน ลอบปู พลาสติก โลหะ ยางรถยนต์ ท่อพีวีซี โฟม กระป๋องน้ำอัดลม ขวด เป็นต้น

ทั้งนี้หลังการเก็บขยะขึ้นมาทางทีมงานได้ทำการคัดแยกขยะที่โรงงานคัดแยกขยะของอพท.ต่อไป ซึ่ง ผอ.อพท. ได้กล่าวว่า ในการดำเนินงานโครงการเก็บขยะใต้ทะเลที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี โดยเฉพาะในปีนี้มีคนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ถือเป็นการภาพสะท้อนให้เห็นว่า วันนี้คนไทยใส่ใจในธรรมชาติ เริ่มรักษาธรรมชาติและหวงแหนต่อระบบนิเวศใต้ทะเลของเรามากขึ้น นอกจากนี้ ผอ.อพท. ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า

"การเก็บขยะใต้ทะเลที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่สูตรที่จะแก้ปัญหาขยะได้ เพราะมันเป็นเพียงแค่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุที่แท้จริงคือต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ให้ทุกคนสร้างจิตสำนึก มีจิตสำนึกว่าต่อไปนี้ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ เรือประมง ต้องไม่ทิ้งของลงทะเล ถ้าถึงจุดนี่เมื่อไรการเก็บขยะใต้ทะเลก็จะหมดไป ถ้าเราไม่สร้างจิตสำนึกขึ้นมาขยะใต้ทะเลก็จะมากขึ้น ปะการังก็จะเสียหายทะเลไม่สวยงาม ในที่สุดก็สะท้อนไปยังผู้ประกอบการ คนก็จะไม่มาท่องเที่ยว"
กำลังโหลดความคิดเห็น