งาน "ว่าวไทยและว่าวนานาชาติ ครั้งที่ 10 Coloring the Sky" วันที่ 8-9 และ 11-12 มี.ค. 2551 ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร
การเล่นว่าวเป็นกีฬาที่นิยมกันทั่วโลก และมีวิวัฒนาการหลายศตวรรษทำให้มีการปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบ และวัสดุที่ใช้ทันสมัยขึ้น ปัจจุบันนี้ลักษณะของว่าวจะมีความสวยงามมีโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้น และมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต จึงทำให้มีรูปร่างและโครงสร้างในลักษณะต่าง ๆ กัน ตลอดจนมีวิธีการเล่นหลายรูปแบบ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก ในต่างประเทศเชื่อกันว่ามีการประดิษฐ์ว่าวขึ้นเมื่อ 400 ปี ก่อน คริสตกาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนาน และเพื่อประโยชน์บางอย่างซึ่งจากบันทึกทางวิชาการพบว่าวิศวกรชาวจีนชื่อ กุง ชู ฟาน เป็นผู้ประดิษฐ์นกไม้ขึ้น สามารถชักขึ้นแล้วอยู่ได้ถึง 3 วัน โดยไม่ตก จึงถือได้ว่าเป็นว่าวตัวแรกของโลก
สำหรับในประเทศไทยได้มีการเล่นว่าวกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยา การเล่นว่าวยังเป็นที่นิยมตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงสามัญชนธรรมดา แต่มีกฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดเล่นว่าวข้ามเหนือพระราชวัง ผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องลงโทษตามกฎมณเฑียรบาล ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้กำเนิดว่าวจุฬา-ปักเป้าขึ้น และได้มีการจัดการแข่งขันกันขึ้นจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 พระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดการทรงว่าวจุฬาต่อสู้กับว่าวปักเป้าของพระอนุชา ชาวตะวันตกได้เปรียบว่าวจุฬาเป็นผู้ชาย และว่าวปักเป้าเป็นผู้หญิง เหมือนกับสังคมไทยสมัยนั้นที่ผู้ชายมีอิทธิพลเหนือกว่าผู้หญิงมาก
การเล่นว่าวได้รับความนิยมมากที่สุด ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ได้มีพระบรมราชานุญาตให้พสกนิกรเล่นว่าวได้ที่ท้องสนามหลวงในเขตพระราชวังดุสิต และให้มีการแข่งขันว่าวที่พระราชวังดุสิต เมื่อปี พ.ศ. 2449 และได้เสด็จทรงเป็นองค์ประธานการแข่งขันด้วยจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2453-2468 พระองค์ได้ทรงฟื้นฟูกีฬาว่าวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาภิรมย์ภักดีจัดการแข่งขันกีฬาว่าวขึ้นที่ท้องสนามหลวง หลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 สยามสปอร์ตคลับ ได้จัดการแข่งขันกีฬาว่าวประจำปีขึ้นมาอีก
สำหรับในปัจจุบัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดงานว่าวไทยและว่าวนานาชาติ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 และจัดต่อเนื่องมาในหลายๆพื้นที่ เช่น บริเวณชายทะเลเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี สนามศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ศูนย์กีฬาเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี และกองพลทหารราบที่ 16 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ค่ายนเรศวร จนถึงปัจจุบัน
และในปี 2551 นี้ ททท. ร่วมกับ จังหวัดเพชรบุรี ค่ายนเรศวร สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมถ์ สมาคมนักบินว่าวประเทศไทย กรุงเทพมหานคร กำหนดจัดงานว่าวไทยและว่าวนานาชาติ ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม 2551 จังหวัดเพชรบุรี และ กรุงเทพมหานคร โดยพิจารณาเห็นว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว และสามารถจัดกิจกรรมกีฬาเพื่อการท่องเที่ยวดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
กำหนดการจัดงานและกิจกรรม
วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 8-9 มีนาคม 2551 เวลา 10.00 น. -23.00 น. “Coloring the Sky” ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
กิจกรรมหลัก
1. การแสดงว่าวไทย 4 ภาค และว่าวสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
2. การแสดงว่าวนานาชาติในระดับนานาชาติ
3. การแสดงว่าวกลางคืนในระดับนานาชาติ
4. สาธิต นิทรรศการว่าวไทย
5. สาธิตการแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้า
6. การแข่งขันและสาธิตว่าวผาดโผน (Stunt Kite)
7. การแสดงว่าวจุฬาส่ายเร็ว
8. การแสดงว่าวต่อสู้
9. การประกวดว่าวแผง
10. การประดิษฐ์ว่าวสร้างสรรค์
11. การประกวดแผงว่าว
12. คลีนิค และตลาดนัดว่าว
13. กิจกรรมด้านศิลปะสำหรับเด็ก
14. การออกร้านจำหน่ายอาหารและหัตถกรรม
กิจกรรมเสริม
1. การแสดงกระโดดร่ม
2. การแสดงและแข่งขันเครื่องบินเล็กบังคับวิทยุ
3. ท่องเที่ยวพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
4. แรลลี่นำเที่ยวชมงานว่าวใน Theme “แดนฝันทะเลวัง” เส้นทาง กทม.-ชะอำ-หัวหิน
วันอังคาร-พุธที่ 11-12 มีนาคม 2551 "การแสดงว่าวไทยปะทะว่าวนานาชาติ" บริเวณสนามหลวง กรุงเทพมหานคร (การแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานว่าวไทยและกีฬาไทย)
ติดต่อ สอบถามรายละเอียดโทร.กองสร้างสรรค์กิจกรรม ททท. โทร. 0 2250 5500 ต่อ 3477