การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม “หรรษา กีฬา ดนตรี”ส่งเสริมการท่องเที่ยวเดือนมีนาคม ภายใต้โครงการ “เที่ยวทั่วไทย... ไปได้ทุกเดือน” เริ่มจาก “งานว่าวไทยและว่าวนานาชาติ”(เพชรบุรี) ในวันที่ 8-9 ตามด้วย “มหกรรมศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย”ฯ(อยุธยา) ในวันที่ 10-17 จากนั้นเป็นการแข่งขันแม่น้ำโขงไตรกีฬานานาชาติฯ(เชียงราย) ในวันที่ 28 – 30 มี.ค.นี้ และปิดท้ายด้วย การแข่งขันกีฬาโปโลบนหลังช้าง(เชียงราย) ในวันที่ 31 มี.ค. – 6 เม.ย. ศกนี้
นายสุวรรณชัย ฤทธิรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวฤดูร้อนรับ ปิดเทอมเดือนมีนาคม Theme “หรรษา กีฬา ดนตรี” ร่วมกับ นายมงคล สัณฐิติวิฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายพลภพ มานะมนตรีกุล นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน จังหวัดเชียงราย นายชาญณรงค์ สุหงษา นายกสมาคมศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย
กิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวไปยังทั่วประเทศและเกิดการใช้จ่ายเงินมากขึ้น โดยมี ททท. เป็นหน่วยงานหลักที่ขานรับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวมีกิจกรรมท่องเที่ยวตลอดทั้งปี นอกเหนือจากการท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมทั้งกิจกรรมพิเศษเฉพาะในช่วงเทศกาลและประเพณี ภายใต้โครงการ “เที่ยวทั่วไทย... ไปได้ทุกเดือน”
ดังนั้นททท. จึงได้กำหนดแนวคิดการท่องเที่ยวที่หลากหลายเพื่อนำเสนอทรัพยากรทางการท่องเที่ยวในทุกแง่มุม รวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวที่มีสีสัน สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มเป้าหมาย อันจะส่งผลให้มีการเดินทางกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค
สำหรับการท่องเที่ยวในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป็นเดือนแห่งการพักผ่อนและเป็นช่วงปิดเทอม เหมาะแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย คือ เด็ก เยาวชน ครอบครัว และนักท่องเที่ยวทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จึงได้เลือกแนวคิด “หรรษา กีฬา ดนตรี” (Summer Music & Sport Festival) โดยกำหนดกิจกรรมหลักที่มีความสำคัญและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเนื่องจากอยู่ในห้วงแห่งการไว้อาลัย จึงได้ลดกิจกรรมด้านหรรษา และดนตรี เน้นเพียงกิจกรรมด้านกีฬา ประกอบด้วย
งานว่าวไทยและว่าวนานาชาติ ครั้งที่ 10 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม 2551 ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน (ค่ายพระรามหก) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจะมีการแสดงว่าวประเภทต่าง ๆ อาทิ ว่าวไทย 4 ภาค ว่าวสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ว่าวมหัศจรรย์นานาชาติ การแสดงว่าวผาดโผน การแสดงว่าวดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ตลาดนัดว่าว การแสดงว่าวกลางคืน การโดดร่ม คาราวาน “ขับรถ กินลม ชมว่าว” การออกร้านจำหน่ายอาหารและหัตถกรรม ฯลฯ
มหกรรมศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย ประกอบดนตรีไทยและไหว้ครูมวยไทย ครั้งที่ 4 (หรือที่เรียกกันว่า “วันนายขนมต้ม”) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 10-17 มีนาคม 2551 (โดยในวันที่ 13 มีนาคม 2551 จะจัดงานครอบครู และไหว้ครูมวยไทยนานาชาติ) เพื่อเป็นการรักษาและอนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทยให้คงอยู่คู่ประเทศไทยและเผยแพร่ไปสู่นานาชาติ ภายในงานยังมีการจัดการแข่งขันมหกรรมศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย การสัมมนา การประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของวงการมวยไทย การออกร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬามวยไทย ฯลฯ
การแข่งขันแม่น้ำโขงไตรกีฬานานาชาติ และทวิกีฬาชิงแชมป์นานาชาติ ครั้งที่ 11 บริเวณริมแม่น้ำโขง หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2551 ร่วมชมและเชียร์นักกีฬาไทยในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ กับทัพนักกีฬาต่างประเทศที่สนใจเข้าร่วมแข่งขันกีฬาจอมพลัง อาทิ การแข่งขันวิ่ง ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำตามกระแสน้ำในแม่น้ำโขงในประเภท ต่าง ๆ ที่น่าตื่นเต้นอีกหลายรายการ
การแข่งขันกีฬาโปโลบนหลังช้าง ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ อนันตรารีสอร์ท จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 6 เมษายน 2551 เป็นการส่งเสริมการกีฬาที่แปลกใหม่ให้ชาวไทยร่วมสัมผัส และนำรายได้ส่วนหนึ่งช่วยเหลือช้างไทยที่ได้รับบาดเจ็บ โดยในแต่ละปีมีนักกีฬาจากหลายประเทศให้ความสนใจส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541
สำหรับ ททท. การจัดกิจกรรม “หรรษา กีฬา ดนตรี” ถือเป็น การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของตลาดในประเทศ ตามแผนการตลาดปี 2551 เน้นให้ “การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” โดยจะรณรงค์ “ไทยเที่ยวไทย” เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ภายใต้แคมเปญ “เที่ยวไทย ให้สนุก...เติมความสุขให้ชีวิต” ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจังหวัด ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติของการเรียนรู้และสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่สนับสนุนการภูมิใจในความเป็นชาติไทย รักในวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ซึ่งจากการส่งเสริมและยกระดับเทศกาลประเพณีให้เป็นกิจกรรมระดับนานาชาติ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงสื่อมวลชนต่างชาติติดตามเข้ามาทำข่าว เป็นการขยายผลในเชิงประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น