xs
xsm
sm
md
lg

ดูนก-นาเกลือ นั่งเรือชมป่าชายเลนที่โคกขาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้การเดินทางสู่จังหวัดสมุทรสาครอีกหนึ่งจังหวัดติดกรุงเทพฯ ที่มีระยะทางห่างกันแค่ 36 กิโลเมตร จะไม่เนิ่นนานพอให้งีบหลับสักตื่น แต่ก็พอมีเวลาให้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว"นั่งฟังเพลง "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ" ของ สรเพชร ภิญโญ และ น้องนุช ดวงชีวัน เพลงคู่อันโด่งดัง เนื้อเพลงเป็นการร้องโต้ตอบกันของหนุ่มนาข้าว ชาวกาฬสินธุ์ ที่มาหลงเสน่ห์สาวนาเกลือ ชาวสมุทรสาคร ฟังเพลงเพลินๆเป็นการเรียกอารมณ์ร่วมที่ดีทีเดียว

การท่องเที่ยวครั้งนี้เป็นการมาเที่ยวแบบไป – กลับ โดยมีจุดประสงค์หลักคือการมาส่องกล้องดูนก ที่ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร การดูนกถ้าจะให้ดีต้องดูในตอนเช้าและเย็น คือช่วงนกออกจากรัง และช่วงนกกลับเข้ารัง ดังนั้นทริปนี้จึงต้องตื่นแต่เช้าตรู่ ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็มาอยู่จังหวัดสมุทรสาคร ในเขตของตำบลโคกขาม กันแล้ว

ที่จังหวัดสมุทรสาครมีชายฝั่งทะเล ที่เหมาะสมในการทำนาเกลือหลายแห่ง เช่นที่ ตำบลกาหลง ตำบลนาโคก ตำบลบ้านบ่อ ร่วมถึงตำบลโคกขามที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว"ถือว่าเป็นโชคดีที่มีโอกาสได้แวะชมนาเกลือที่นี่ ที่มีสาวนาเกลือของแท้ กำลังกวาดเกลือสีขาวให้เป็นกองๆอยู่กลางนาเกลือ โดยมีฉากหลังเป็นกังหันวิดน้ำเข้านาเกลือขนาดใหญ่ ที่หมุนแล่นตามแรงลม

อิ่มเอิบกับนาเกลือ ก็นั่งรถไปต่ออีกไม่ไกลนัก เพื่อมายัง "ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม" ทันที ชมรมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่3 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นอีกหนึ่งแหล่งดูนกที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯนัก อยากแนะนำว่าสำหรับคนรักการท่องเที่ยวและดูนกไม่ควรพลาด

ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม เป็นองค์กรท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกชายเลนและถิ่นอาศัยในพื้นที่ อ่าวไทยตอนใน ชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำนาเกลือและเลี้ยงกุ้งเป็นหลัก พื้นที่เหล่านี้จึงกลายเป็นแหล่งอาศัยของนกชายเลนหายากหลายชนิดในช่วงหน้าหนาว ที่อพยพหนีหนาวมาจากทางไซบีเรีย

ที่นี่ยังมีการรายงานการพบนกชายเลนหาเลนหายากหลายชนิด ทั้งนกซ่อมทะเลอกแดง นกชายเลนปากช้อน นกชายเลนกระหม่อมแดง โดยเฉพาะ "นกชายเลนปากช้อน"สามารถพบได้ที่โคกขามเป็นประจำ เพราะที่นี่ยังคงมีนาเกลือ ที่นกทะเลปากช้อนชอบใช้เป็นพื้นที่หากินอยู่เป็นบริเวณกว้าง

สิ่งหนึ่งที่ได้จากการดูนกที่นี่ก็คือ ไม่ต้องใช้กล้องดูนกก็ยังสามารถมองเห็นนกในระยะใกล้ได้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว"หลบเลี่ยงจากการแย่งเด็กๆที่สาละวนอยู่กับกล้องดูนก มาเดินเลียบเลาะไปตามคันนาเกลือแทน ค่อยเดินเบาๆชมผืนนาเกลือ ที่รอคอยการตกผลึก น้ำในนาเกลือใสสะท้อนแสงราวกับกระจกส่องฟ้า น่ามองไม่น้อยไปกว่าฝูงนก น้อย ใหญ่ ที่กำลังจิกกินอาหารในนาเกลือ

การดูนกที่ดีเราควรจะมีคู่มือดูนก เพื่อใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบชนิดและคุณลักษณะของนกที่เราพบไปด้วย จะได้รู้ว่าเป็นนกชนิดไหนมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง นาเกลือที่โคกขามในยามเช้า แสงแดดไม่ร้อนมาก ลมก็เย็นดีเป็นอีกหนึ่งบรรยากาศที่ผ่อนคลายดี

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบดูนก แต่ก็ยังกริ่งเกรงในเรื่องของไข้หวัดนกอยู่ อ.ประสาร เอี่ยมวิจารณ์ อ.ประจำโรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มการปลูกป่าชายเลนในชุมชนและเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม บอกกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

"เรื่องของไข้หวัดนกที่นี่ชาวโคกขามไม่มีความกังวล เนื่องจากมีการนำมูลนกทั้งที่เป็นนกในท้องถิ่นและนกอพยพให้ทางปศุสัตว์ตรวจเช็คอยู่เสมอ จึงมีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่า การระบาดของไข้หวัดนกจะไม่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ นกที่มาที่นี่ส่วนใหญ่ก็จะมาหาอาหารกินตามนาเกลือ ซึ่งนาเกลือก็มีคุณสมบัติบางประการในการฆ่าเชื้ออยู่แล้ว และยังไม่เคยมีชาวบ้านคนใดเจ็บป่วยการจากใกล้ชิดนกเลย อีกทั้งการชมนก เราจะมีไกด์ท้องถิ่นนำชม ทั้งการดูนกและการดูป่าชายเลน ซึ่งตรงนี้ขอรับรองเรื่องความปลอดภัย"อ.ประสาร กล่าวเพื่อแสดงความสบายใจให้แก่นักท่องเที่ยว

หลังดูนกแล้วหันมาเที่ยวป่าชายเลนกันบ้าง ที่ "อุทยานการเรียนรู้โรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา" โดยมีอ.ประสาร เป็นไกด์นำเที่ยว ที่นี่ประกอบด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์อาคารเรือนทรงไทย ที่ถูกใจ "ผู้จัดการท่องเที่ยว"เป็นพิเศษคือ ทางเดินศึกษาชมป่าชายเลนที่ร่มรื่น ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีหลายสิ่งที่น่าสนใจให้ชมอย่างเช่น โครงกระดูกของโลมาหัวบาตร และประวัติบุคคลสำคัญตลอดจนประเพณีต่างๆของชาวสมุทรสาคร

อ้อ...ที่นี่ยังมี "โครงกระดูกวาฬ พันธุ์บลูด้า" ซี่งเป็นวาฬในอ่าวไทย ที่ปัจจุบันพบเห็นได้ไม่มาก โครงกระดูกวาฬตัวนี้พบฝังอยู่ในพื้นที่นากุ้งห่างชายฝั่งทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร คาดว่ามีอายุมากพอกับผืนดินที่ขุดพบ น่าจะเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาว่าพื้นที่ แถบนี้เคยเป็นท้องทะเลลึกมาก่อน

มาถึงถิ่นของพันท้ายนรสิงห์แล้วก็ต้องแวะไปไหว้ทำความเคารพเสียหน่อย ที่ "ศาลพันท้ายนรสิงห์"ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.โคกขาม ศาลนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พันท้ายนรสิงห์ ในคราวที่คัดท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัย จนหัวเรือชนกิ่งไม้ใหญ่ริมคลองโคกขาม ทำให้โขนเรือหักตกลงน้ำ

พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมทูลพระเจ้าเสือ ให้ประหารชีวิตตามกฏมณเฑียรบาล พระเจ้าเสือทรงจำฝืนพระทัยตามพระราชกำหนดที่วางไว้ จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา และนำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกชัยที่หักขึ้นพลีกรรมไว้บนศาล เพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดี

ต่อมากรมศิลปากรได้จัดสร้างศาลขึ้นใหม่แทนหลังเก่าที่พังลงมา ภายในศาลมีรูปปั้นของพันท้ายนรสิงห์ขนาดเท่าคนจริงอยู่ในท่าถือท้ายคัดเรือ เป็นที่เคารพของชาวบ้านเป็นอย่างมาก มีผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้มิได้ขาดสาย

ปิดท้ายทริปประจำวันนี้ด้วยการ ล่องเรือจากท่าเรือที่ศาลพันท้ายนรสิงห์ บริเวณคลองโคกขาม คลองแห่งนี้เดิมเป็นคลองที่มีความคดเคี้ยวมาก ลักษณะเป็นโค้งข้อศอก กระแสน้ำเชี่ยวมากยากต่อการเดินเรือ จึงเป็นเหตุให้พันท้ายนรสิงห์ต้องจบชีวิตเพราะคลองแห่งนี้

ภายหลังจากจากเสียชีวิตของพันท้ายนรสิงห์ พระเจ้าเสือโปรดเกล้าให้ขุดคลองลัดตัดทางคดเคี้ยวของคลองโคกขามให้ตรง มาเสร็จสิ้นในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เมื่อขุดเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า "คลองสนามไชย" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "คลองมหาชัย" แต่บางทีชาวบ้านก็เรียกว่า "คลองถ่าน"


นั่งเรือชมทิวทิศน์ป่าชายเลน ชมวิถีชีวิตชาวประมงชม ดูการเลี้ยงหอยแมลงภู่ เห็น "เรือดุนกุ้ง"จอดอยูริมฝั่งหลายลำและได้ดูนกชายเลนอย่างใกล้ชิด วันนี้ยังโชคดีสุดๆเพราะยังมีโอกาสได้เห็นโลมาขึ้นมาเล่นน้ำหลายตัว มีทั้งสีดำ สีชมพู โผล่ขึ้นมาสลับกับเกลียวคลื่น เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของเราเป็นอย่างมาก

ล่องเรือใช้เวลาไม่นานเพียงชั่วโมงเศษ ก็กลับมาขึ้นฝั่งที่ศาลพันท้ายนรสิงห์เช่นเดิม ก่อนกลับแวะกราบลาพันท้ายนรสิงห์อีกครั้งเป็นการส่งท้าย พร้อมพกความเต็มอิ่มกับการดูนก ชมนาเกลือ เที่ยวป่าชายเลน จนออกทะเลไปพบโลมาเป็นความประทับใจเก็บไว้ในความทรงจำ

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานททท.ภาคกลางเขต2 โทร.0-3247-1005-6 หรือที่ ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม โทร.08-7082-8486,08-1555-1653

 
เทศกาลและงานประเพณี           ที่พัก           ร้านอาหาร


กำลังโหลดความคิดเห็น