xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น พัฒนาวิธีตรวจเชื้ออหิวาตกโรคเคลื่อนที่ รวดเร็ว ทันใจ 1 ชม.รู้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยไทยและนักวิจัยญี่ปุ่นร่วมกันพัฒนาวิธี LAMP ตรวจหาเชื้อก่อโรคอหิวาตกโรคแบบเคลื่อนที่เร็วในภาคสนามซึ่งเป็นวิธีตรวจหา DNA ที่มีความไวในการตรวจวิเคราะห์สูงวิธีการและอุปกรณ์หาง่าย ให้ผลรวดเร็วใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งก็ทราบผลได้ทันทีและประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ตรวจหาผู้ป่วยวัณโรคในโรงพยาบาลควบคู่กับวิธีย้อมสีและวิธีเพาะเชื้อช่วยให้ค้นหาผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้นพร้อมเตือนประชาชนเลือกบริโภคอาหารในฤดูร้อน

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นได้จัดทำความร่วมมือศึกษาวิจัยภายใต้ศูนย์ความร่วมมือการศึกษาวิจัยโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น (Thailand-Japan Research Collaboration Center on Emerging and Reemerging Infections, RCC-ERI) พัฒนาวิธีตรวจหา DNA ของเชื้อก่อโรคอหิวาตกโรคแบบเคลื่อนที่เร็วในภาคสนาม เช่น พื้นที่ทุรกันดารชนบทที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองหรือบริเวณแนวชายแดน

วิธีดังกล่าวคือ LAMP (Loopmediated isother malamplification) โดยทั่วไปเมื่อเกิดการระบาดของโรคอหิวาตกโรคหน่วยงานควบคุมจะลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคและหาทางหยุดการแพร่กระจายโดยทันที ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วยแต่ห้องปฏิบัติการมักตั้งอยู่ในโรงพยาบาลที่ห่างไกลจากพื้นที่ระบาดและใช้วิธีการเพาะเชื้อซึ่งกว่าจะรู้ผลใช้เวลาอย่างน้อย 2 วันและถ้าต้องการผลการยืนยันต้องใช้เวลาอีก 4-5 วัน

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคประเทศไทยพบผู้ป่วยอหิวาตกโรค ในปี 2552 รวมทั้งสิ้น 315 ราย เสียชีวิต 2 ราย (ปัตตานีและนราธิวาส จังหวัดละ 1 ราย) เป็นชาวไทย128 ราย พม่า 103 ราย กัมพูชา 71 ราย และลาว 13 ราย จังหวัดที่มักพบการแพร่ระบาดคือ ปัตตานี นราธิวาสตากระยอง ระนอง และสมุทรสาคร เนื่องจากมีการย้ายเข้าออกและการจ้างแรงงานต่างชาติจำนวนมาก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เล็งเห็นความสำคัญต่อการควบคุมโรคที่ต้องการวิธีการทดสอบที่มีความไวและความจำเพาะสูง รวมทั้งต้องสามารถเข้าช่วยเหลือในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วจึงได้ทำการพัฒนาวิธี LAMP มาใช้ในภาคสนาม

“วิธีตรวจหา DNAของเชื้อดังกล่าวที่มีความไวและความจำเพาะสูง ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง ก็ทราบผลได้ทันทีห้องปฏิบัติการทั่วไปสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่ซับซ้อนหรือมีราคาแพงเหมาะสมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆรวมทั้งการสร้างเครือข่ายตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่สามารถนำวิธี LAMPไปใช้ประโยชน์ในการตรวจเชื้ออหิวาตกโรค เชื้อวัณโรคหรือเชื้อก่อโรคอื่นๆ ตามที่จะมีการวิจัยและพัฒนาต่อไป เพื่อช่วยสนับสนุนการรักษาและการควบคุมโรค”

ด้าน นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธี LAMP มีวิธีการและอุปกรณ์สามารถหาได้ง่ายและราคาถูก อุปกรณ์หลักได้แก่ heating block ลักษณะคล้ายเตาไฟฟ้าที่ควบคุมอุณหภูมิได้อยู่ระหว่าง40-100 องศาเซลเซียส รถยนต์หรือรถตู้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้และพื้นที่เป้าหมายเครื่องแปลงไฟในรถยนต์จาก 12 โวลย์ เป็น 220 โวลย์ เตาแก๊สสนามชุดน้ำยา LAMP primers ที่ออกแบบอย่างจำเพาะต่อ target sequence ของ ctxaยีนของเชื้อก่อโรคอหิวาตกโรคและสุดท้าย DNA มาตรฐานสำหรับควบคุมคุณภาพผลบวกน้ำยาทั้งหมดนี้ต้องแช่เย็นตลอดการเดินทางในกระติกน้ำแข็งหรือกล่องโฟมการตรวจสามารถทำได้ง่าย หลังจากเก็บตัวอย่าง rectal swab

จากผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสในชุมชนในสถานีอนามัยหรือในไร่ ในท้องนาและมีการออกแบบprimers อย่างจำเพาะต่อ target sequenceทำให้วิธีนี้เป็นวิธีที่จำเพาะและเชื่อถือได้ ทั้งนี้ ในปี 2551ได้มีการดำเนินงานจริงมาแล้วในพื้นที่ที่มีการระบาดคืออำเภอพบพระจังหวัดตากอยู่ติดกับประเทศพม่าที่เกิดพายุนากรีสพัดถล่มพม่าทำให้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดมีส่วนหนึ่งได้แพร่เข้ามาทางอำเภอพบพระและปี 2552 ได้ใช้วิธีนี้เข้าพื้นที่เพื่อช่วยป้องกันการระบาดซ้ำ ปัจจุบันได้สร้างเครือข่ายเพื่อถ่ายทอดแนวทางการดำเนินงานการควบคุมโรคอหิวาตกโรคในเขตจังหวัดสมุทรสาครและระนองเพราะเป็นพื้นที่ล่อแหลมที่อาจมีการระบาดได้ง่ายจากแรงงานพม่าและขณะนี้มีการดำเนินงานใช้เทคนิคนี้ในการตรวจหาผู้ป่วยวัณโรคในโรงพยาบาลบางแห่งควบคู่ไปกับวิธีย้อมสีและวิธีเพาะเชื้อจะช่วยให้ค้นหาผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น

“นอกจากนี้ ขอเตือนประชาชนเลือกบริโภคอาหารในฤดูร้อนมักจะมีการระบาดของโรคระบบทางเดินอาหารมากกว่าช่วงอื่นๆเนื่องจากสภาพภูมิอากาศมีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ทำให้อาหารเกิดการเน่าเสียได้ง่าย หากไม่ระวังอาจท้องเสียหรืออุจจาระร่วงอย่างรุนแรง ดังนั้นการเลือกซื้ออาหารในช่วงหน้าร้อนจึงควรเลือกซื้ออาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ สะอาด หรือมีการอุ่นร้อนอยู่เสมอ สำหรับอาหารสำเร็จรูป ควรเลือกซื้ออาหารที่มีเลขทะเบียนอาหารและยา (อย.) ซึ่งโดยทั่วไปจะบอกวัน เดือน ปี ที่หมดอายุของอาหาร” อธิบดีกล่าวตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น