xs
xsm
sm
md
lg

หลงรักสายหมอกและทิวสนที่ “ปางอุ๋ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จุดหมายปลายทางของมหาชนในช่วงที่ฤดูหนาวยังไม่สิ้นสุดนี้ เชื่อว่า “ปางอุ๋ง” ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน คงต้องเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวเป็นอันดับแรกๆ แน่นอน เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงและเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้

“ผู้จัดการท่องเที่ยว” เองก็ได้ยินชื่อเสียงของปางอุ๋งมานานแล้วเช่นกัน รวมทั้งได้เห็นภาพถ่ายและเรื่องราวจากผู้ที่ได้ไปเยือนมาเล่าสู่ฟัง เมื่อฟังมากเข้าๆ ดูรูปสวยๆ มากเข้า ก็ทำให้เกิดความคิดตัดสินใจว่าจะต้องไปเยือนปางอุ๋งให้เห็นด้วยตัวเองเสียทีว่าที่นี่สวยงามอย่างที่เขาเล่าลือจริงหรือไม่

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักปางอุ๋งนั้น คงต้องอ่านตรงนี้เสียหน่อยว่า “ปางอุ๋ง” หรือที่มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)” นั้น เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่อันตราย อยู่ติดแนวชายแดนพม่า มีกองกำลังต่างๆ มีการขนส่ง ปลูกพืชเสพติด รวมไปถึงการบุกรุกพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าอยู่เสมอ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถจึงมีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรกลุ่มน้อยบริเวณนั้น และพัฒนาความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ โดยมีพระราชประสงค์สร้างความมั่นคงแนวชายแดน พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป

“ผู้จัดการท่องเที่ยว” เคยเห็นภาพถ่ายสมัยเก่าของปางอุ๋งก่อนที่จะมีการพัฒนามาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ยังเห็นว่าภูเขาเป็นเขาหัวโล้น ต้นไม้ถูกตัดทำลายไปมาก ถนนเข้าหมู่บ้านยังเป็นดินแดง บางช่วงรถเข้าไม่ถึง แต่เมื่อผ่านไป 20 กว่าปี และเมื่อได้มาเห็นภาพในปัจจุบันด้วยสายตาตัวเองแล้วก็ต้องบอกว่าเปลี่ยนไปเป็นคนละเรื่องทีเดียว

เพราะน้ำในอ่างเก็บน้ำช่วยทำให้พื้นที่รอบๆ มีความชุ่มชื้น ส่งผลไปถึงต้นไม้ที่ปลูกอยู่บริเวณนั้น ทำให้มีสีเขียวชอุ่มไปทั่วทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นป่าสนสองใบ สนสามใบ และดอกไม้ใบหญ้าทั้งหลาย ทำให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักปางอุ๋งในภาพของอ่างเก็บน้ำนิ่งสงบอยู่คู่กับทิวสนเขียวขจีที่ตั้งอยู่อย่างเป็นระเบียบ และกลายเป็นจุดมุ่งหมายของนักเดินทางอย่างทุกวันนี้

สำหรับการเดินทางมาที่ปางอุ๋งนั้นก็ไม่ยากลำบากแต่อย่างใด เพราะสามารถขับรถมาถึงที่ได้เลย หรือจะเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่มา หรือจะนั่งรถสองแถวมาจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนก็ได้เช่นกัน สำหรับ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ขอเลือกการนั่งรถสองแถวมีคนขับให้สบายๆ ดีกว่า เพราะเส้นทางที่ผ่านนั้นบางช่วงสูงชัน มีโค้งหักศอกหลายแห่ง ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ให้มาก

เราใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ เดินทางจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนมาถึงปางอุ๋งในช่วงเวลาสายๆ ซึ่งแม้แสงแดดจะจัดแค่ไหน แต่อากาศของฤดูหนาวกลางป่าเขานี้ก็ทำให้เรารู้สึกแค่อุ่นๆ เท่านั้น

เมื่อมาถึงยังที่พักเราก็จัดการเก็บข้าวเก็บของเพื่อเตรียมตัวเดินชมให้ทั่วปางอุ๋ง พูดถึงเรื่องที่พัก ที่ปางอุ๋งนี้ก็มีที่พักให้เลือกหลากหลายแบบ ทั้งแบบบ้านพักอย่างดีพักได้เป็นสิบคน บ้านพักแบบกระท่อมธรรมชาติริมอ่างเก็บน้ำ หรือจะไปอาศัยโฮมสเตย์ของชาวบ้านในหมู่บ้านรวมไทยที่ตั้งอยู่ใกล้กันก็ได้

แต่ถ้าจะให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่านั้นก็ต้องกางเต็นท์นอนริมน้ำใต้ต้นสนกันไปเลย แต่ขอบอกก่อนว่าสำหรับคนที่จะมาเที่ยวปางอุ๋งในช่วงนี้ก็คงต้องอาศัยนอนเต็นท์หรือไม่ก็โฮมสเตย์ในหมู่บ้านรวมไทยอย่างเดียวเสียแล้ว เพราะได้ยินมาว่าบ้านพักในปางอุ๋งมีคนจองเต็มไปถึงเดือนกุมภาเสียแล้ว

“ผู้จัดการท่องเที่ยว” เองก็ไม่ง้อบ้านพัก เพราะเตรียมเต็นท์มาเองเรียบร้อย (ใครไม่มีเต็นท์สามารถมาเช่าที่นี่ได้) หลังจากมองหาทำเลเหมาะๆ ฮวงจุ้ยดีๆ ได้แล้วเราก็จัดแจงปักหลักกางเต็นท์ เก็บข้าวเก็บของไว้เรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาออกสำรวจพร้อมทั้งเก็บภาพสวยๆ ของปางอุ๋งมาฝากกัน

จากที่เคยเห็นภาพถ่ายปางอุ๋งจากหนังสือ จากอินเตอร์เน็ต หรือจากที่เพื่อนพ้องเอามาอวดให้ชมนั้น “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ก็ว่าสวยแล้ว แต่เมื่อได้มาเห็นด้วยตาตัวเองจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าของจริงสวยกว่าที่เห็นในภาพอีกหลายเท่าตัว น้ำในอ่างเก็บน้ำดูนิ่งสงบ มีระลอกคลื่นน้อยๆ จากลมเย็นที่พัดมาเป็นระยะๆ และลมสายเดียวกันนั้นก็ทำให้กิ่งและใบของต้นสนเสียดสีกันดังซ่าๆ ฟังแล้วก็เป็นเสียงของธรรมชาติที่ไพเราะไปอีกแบบหนึ่ง

และเมื่อนั่งชมวิวอ่างเก็บน้ำไปเพลินๆ ก็อาจจะได้เห็นดาราแห่งปางอุ๋ง นั่นก็คือหงส์พระราชทานจากสมเด็จพระราชินี ซึ่งเป็นหงส์ดำและหงส์ขาวอย่างละ 1 คู่ด้วยกัน แหม... วิวอ่างเก็บน้ำก็สวยจะแย่อยู่แล้ว ยิ่งมีหงส์มาว่ายน้ำงามสง่าเสริมความงามให้ภาพอีก งานนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เลยกดชัตเตอร์ไม่ยั้งเลยทีเดียว

หลังจากอ้อยอิ่งอยู่ตรงอ่างเก็บน้ำและทิวสนอยู่นาน เราก็ขึ้นมาชม "สวนปางอุ๋ง" ด้านบน ใกล้กับที่ทำการของโครงการพระราชดำริฯ ตรงส่วนที่เรียกว่าสวนปางอุ๋งนี้ จัดสร้างขึ้นมาก็เพื่อให้มีพืชพรรณที่กลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศบนที่สูงทดแทนไร่ฝิ่นร้างแต่ดั้งเดิม

ที่สวนปางอุ๋งนี้เขาก็ปลูกพืชที่ให้ประโยชน์ด้านทางอาหารและยาแพทย์แผนไทย และสร้างความกลมกลืนกับภูมิประเทศ เช่น อะโวคาโด พลับ สาลี่ บ๊วย อีกทั้งยังมีการตกแต่งด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับที่งอกงามได้ในสภาพอากาศหนาวเย็นและมีความชื้นในอากาศสูง เช่น กุหลาบ ไฮเดรนเยีย พวงแสด อีกทั้งยังมีการพยายามนำพืชและสัตว์ประจำถิ่นของพื้นที่ปางอุ๋งกลับมา เช่น เอื้องแซะและกล้วยไม้ต่างๆ และสัตว์อย่างเขียดแลว เป็นต้น

ที่สวนปางอุ๋งนี้เองเขาก็มีคำอธิบายถึงที่มาของชื่อ “ปางอุ๋ง” ที่หลายๆ คนอาจยังไม่เข้าใจความหมาย โดยคำว่า “ปาง” ซึ่งหมายถึงที่พักของคนทำงานในป่า ส่วน “อุ๋ง” นั้นเป็นภาษาเหนือหมายถึงที่ลุ่มต่ำคล้ายกระทะใบใหญ่มีน้ำขังเฉอะแฉะ ก็น่าจะหมายถึงที่พักริมอ่างเก็บน้ำนี่เอง

เมื่อออกมาเดินเล่นแล้วก็ควรจะเดินดูให้ทั่ว อย่าลืมเดินออกมาที่หมู่บ้านรวมไทยเพื่อชมวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ด้วย ที่หมู่บ้านรวมไทยนี้เองที่มีบ้านหลายหลังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักในรูปแบบของโฮมสเตย์ ซึ่งก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการพักแรมที่น่าสนใจไม่น้อย

เดินชมปางอุ๋งในตอนกลางวันก็สวยสมใจแล้ว แต่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ว่า ช่วงเวลาที่ปางอุ๋งสวยที่สุดคงต้องเป็นตอนเช้าตอนที่เพิ่งตื่นนอนนี่แหละ เช้านี้พวกเราตื่นเเต่เช้าโดยไม่ต้องเสียเวลาปลุก เพราะตั้งใจไว้ว่าจะเก็บภาพสายหมอกลอยเรี่ยผ่านผิวน้ำมาให้ได้ และก็ไม่เสียเที่ยว เพราะในตอนเช้าเมื่อโผล่หน้าออกจากเต็นท์มาแล้วเราก็ได้เห็นหมอกหนาปกคลุมอยู่ทุกตารางนิ้วของปางอุ๋งและอ่างเก็บน้ำ เมื่อลมเย็นๆ พัดมา นอกจากจะทำให้เราหนาวยะเยือกแล้ว ก็ยังทำให้ได้เห็นสายหมอกไหลลอยฟุ้งไปทั่วอีกด้วย ยิ่งเวลาที่พระอาทิตย์โผล่พ้นเหลี่ยมเขาขึ้นมาแล้วสาดแสงทะลุหมอกและทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นสีทองนั้น สวยงามจนบรรยายไม่ถูกเลยทีเดียว

และหากได้มาเยือนปางอุ๋งแล้ว ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่อยู่ไม่ห่างจากปางอุ๋งนัก ก็คือ “บ้านรักไทย” หมู่บ้านที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนยูนนานหรือจีนฮ่อชุดเดียวกับกองพล 93 (ก๊กมินตั๋ง) ที่อพยพมาอยู่เมืองไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน หมู่บ้านแห่งนี้จึงมีบรรยากาศแบบจีนยูนนาน และมีของขึ้นชื่อในเรื่องของชาและอาหารจีนยูนนาน ไม่ว่าจะเป็นขาหมู-หมั่นโถ หมูพันปี ไก่ตุ๋นยาจีน ฯลฯ

อีกทั้งยังสามารถชมวิถีชีวิตและสีสันบ้านดิน และไม่ควรพลาดชมจุดชมวิวบ้านรักไทยที่มีลักษณะเป็นเนินเหนือทะเลสาบทางเข้าหมู่บ้าน มองลงไปเห็นบ้านเรือนแทรกตัวอยู่ในหุบเขา และอ่างเก็บน้ำที่นี่ในหน้าหนาวช่วงเช้าจะมีหมอกลอยขาวโพลนจนถูกยกให้เป็น “เขื่อนในหมอก” บรรยากาศดีไม่น้อย

สำหรับใครที่ขับรถมาเองหรือเหมารถมาเที่ยว ก็อย่าลืมแวะไปชมสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในเส้นทางด้วย เช่น พระตำหนักปางตอง ซึ่งเป็นเรือนประทับแรมของในหลวงและพระราชินีเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐาน อยู่บนเขาสูง ที่บ้านปางตอง ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงปางตอง มีทิวทัศน์สองข้างทางสวยงาม ศูนย์ไผ่ศึกษาแม่ฮ่องสอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ไผ่ มีชนิดพันธุ์ไผ่หก เป็นชนิดหลัก

วนอุทยานถ้ำปลา ถ้ำกว้างประมาณ 2 เมตร ลึก 1.50 เมตร มีน้ำไหลจากถ้ำใต้ภูเขาตลอดเวลา และมีปลาตัวโตๆ เช่นปลาพลวงมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก น้ำตกผาเสื่อ น้ำตก 6 ชั้น ชั้นที่คนนิยมเที่ยวมากที่สุดคือชั้นผาเสื่อซึ่งมีน้ำตกกระทบแผ่นหินกระเด็นเป็นฝอย สองข้างมีแผ่นหินลักษณะคล้ายเสื่อปูลาดอยู่จำนวนมาก

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) ตั้งอยู่ที่บ้านรวมไทย ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ ประมาณ 44 กม. การเดินทางจาก กทม.ไปยังแม่ฮ่องสอน มีสายการบินพีบีแอร์บินตรงสู่สนามบินเมืองแม่ฮ่องสอน(ช่วงธ.ค.- มี.ค.) สอบถามที่โทร.0-2261-0222 และจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนสามารถนั่งรถสองแถวจากตลาดสายหยุดมายังปางอุ๋งได้ โดยมีรถขาไป 2 รอบ คือ 09.00 น. และ 14.00 น.

ที่พักภายในโครงการพระราชดำริ ปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) มีทั้งบ้านพักและบริการให้เช่ากางเต็นท์ (พื้นที่รับได้วันละ 80 เต็นท์ ควรโทรจองที่กางเต็นท์ก่อน) โทร.0-5369-2056 และรวมไทยเกสต์เฮาส์ มีทั้งบ้านพักราคา 250-500 บาท และมีบริการให้เช่ากางเต็นท์ (นำเต็นท์มาเองเสียค่าสถานที่ 50 บาท) โทร.0-5361-1244

ขอความกรุณานักท่องเที่ยวช่วยกันดูแลและรักษาสถานที่เมื่อมีโอกาสแวะเยี่ยมชมหรือพักแรม


 
ที่พัก               ร้านอาหาร               เทศกาลและงานประเพณี               การเดินทาง

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

สวัสดีเมือง"ปาย"...ทักทายเมืองในฝัน
เสน่ห์ปาย...เมืองใต้สายหมอก
แอ่วปายสัมผัสกลิ่นไอเมืองสามหมอก
สัมผัสสายลมหนาวแห่งเมืองปายที่ "เดอะควอเตอร์"
น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากเศียรพระแห่งวัดน้ำฮู
เยือนขุนเขาพันโค้งไปหยอกเมฆ ที่ “เมืองสามหมอก”
ท่องโลกใต้ดิน อันซีนฯ“ถ้ำแม่ฮ่องสอน
สัมผัส “แม่ฮ่องสอน” ไม่ต้องผ่าน “ทางพันโค้ง” !!!
ขี่จักรยานชมเมืองปายในสายฝน

 
กำลังโหลดความคิดเห็น