ธนาคารแห่งประเทศไทยมองการแก้ไขปัญหา”หนี้ครัวเรือน”แบบครบวงจร ดูฝั่งรายได้ประชาชนที่เติบโตช้า การกำกับดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อแบบมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ผ่านการให้ความรู้ประชาชน “เราพร้อมช่วย ถ้าคุณยังสู้”ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำ 2 ข้อกังวลหลักของลูกหนี้ที่ไม่กล้าเข้าโครงการ นั่นคือหัวใจของโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 ซึ่งธปท.และกระทรวงคลัง นำมาต่อยอดอีกครั้งจากเฟสแรก ปรับปรุงแก้ไข หลักเกณฑ์เงื่อนไข ให้ลูกหนี้เข้าข่าวโครงการเพิ่มมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ พร้อมพา “ลูกหนี้ที่อยู่รอด” ก้าวต่อได้อย่างมั่นคง ลูกหนี้และธนาคารเจ้าหนี้ต้อง”WIN WIN “
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า ธปท.มองการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการดูฝั่งรายได้ที่เติบโตช้า การกำกับดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อแบบมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ผ่านการให้ความรู้ประชาชน รวมทั้ง“โครงการคุณสู้ เราช่วย” ที่เน้นลูกหนี้ที่ยังต้องการสู้อยู่ พยายามเข้าไปประคับประคองให้สู้ต่อและอยู่รอด ในเฟสแรกของโครงการจะสามารถช่วยลูกหนี้ได้รวมประมาณ 50 % ของยอดหนี้ เพราะต้องอาศัย “เจตจำนงของลูกหนี้” ที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้ของตัวเองด้วย จึงใช้ชื่อโครงการว่า”คุณสู้ เราช่วย” ที่ดีไซน์ไว้สำหรับลูกหนี้มีสิทธิเลือกว่าจะสู้หรือไม่ ถ้าสู้แปลว่ายังต้องผ่อนอยู่ แต่โครงการให้ผ่อน 50% ของงวดผ่อนเดิมในช่วงหนึ่งปีแรก แล้วค่อยขยับขึ้นเป็น 70%
ข้อดีของโครงการคุณสู้ เราช่วยคือ ถ้าลูกหนี้ยังสู้อยู่ จะได้รับ “โปรแรง ต้องมาพร้อมกับวินัย” เพราะดอกเบี้ยจะพักไว้ข้างๆ ถ้าทำได้ตามเงื่อนไข คือ ผ่อนได้ครบ และไม่ก่อหนี้ใหม่ในช่วง 12 เดือน ดอกเบี้ยนั้นจะยกให้ทันที กลายเป็นเสมือนคิดดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ส่วนบางคนรายได้น้อยเกินไป ก็ต้องเลือกใช้วิธีอื่นซึ่งมีกระบวนการแก้หนี้แบบอื่นอยู่ แต่โปรอาจไม่แรงขนาดนี้ ส่วนเฟส 2 จะประเมินจากเฟสแรกและการได้เห็นลูกหนี้มาบ้างแล้ว จึงเห็นช่องโหว่ โดยลูกหนี้ 2 ใน 3 ส่งคำขอเข้ามาแต่ไม่เข้าเงื่อนไขโครงการ ดังนั้นเฟส 2 ก็จะพิจารณาช่องโหว่ถี่ถ้วนมากขึ้น เช่น ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 30 วัน
โครงการนี้ไม่ใช่แค่การพักหนี้หรือปรับโครงสร้างชั่วคราว แต่เป็น การแก้หนี้อย่างยั่งยืน สำหรับผู้ที่ยังมีศักยภาพ ยังมีรายได้ และยังไม่ยอมแพ้กับชีวิตและต้องการไปต่อได้ มุ่งเป้าไปที่ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพในการหารายได้ และต้องการความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้จริง โดยเปิดโอกาสให้ร่วมเจรจากับเจ้าหนี้ในรูปแบบที่โปร่งใส เป็นธรรม และมีมาตรฐานร่วมกัน โดยธปท.จะเป็นฝ่ายกำกับดูแลหากการเจรจายังหาข้อสรุปไม่ได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะได้ประโยชน์ทั้งลูกหนี้และธนาคารเจ้าหนี้ที่จะ”WIN WIN“ กันทั้ง 2 ฝ่าย
เป้าหมายสำคัญคือ ไม่ปล่อยให้ลูกหนี้ดี กลายเป็นหนี้เสียเพราะไม่มีทางออก และ ไม่ปล่อยให้คนที่ยังสู้อยู่ ต้องพ่ายแพ้ เพราะแบกรับดอกเบี้ยหรือภาระที่เกินตัว
ความเข้าใจผิด ที่ทำให้ลูกหนี้ไม่กล้าเข้าโครงการ
แม้แบงก์ชาติจะเร่งสื่อสารถึงประโยชน์ของโครงการ แต่พบว่า ยังมีลูกหนี้จำนวนมาก “ไม่กล้าเข้าโครงการ” ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน 2 ประเด็นหลักคือ:
1. กลัวถูกธนาคาร “ปรับลดวงเงิน” หรือ “ปิดบัญชีสินเชื่อ” ทันที
หลายคนคิดว่า หากเปิดเผยตัวว่าเป็นหนี้ หรือขอเจรจา เจ้าหนี้อาจมองว่าไม่มั่นคง และปิดโอกาสทางการเงินในอนาคตทันทีแต่ความจริงแล้ว โครงการนี้คือการป้องกันไม่ให้หนี้บานปลาย การเข้าร่วมแสดงถึงความรับผิดชอบ และช่วยให้ธนาคารสามารถให้ความช่วยเหลือได้ตรงจุด
2. กลัวถูก “เสียประวัติเครดิต”หรือ”ติดเครดิตบูโร
ลูกหนี้หลายคนกังวลว่าหากเข้าโครงการแล้วจะถูกบันทึกว่าเป็นหนี้เสีย ทำให้ขอกู้ในอนาคตไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง การเป็นหนี้เสียหรือขาดการผ่อนชำระก็จะติดเครดิตบูโรอยู่แล้ว แต่การเข้าโครงการนี้หากสามารถปฎิบัติได้ตามเงื่อนไขของโครงการในงวดแรกก็สามารถปลดรหัส NPL ในเครดิตบูโรเป็นรหัสหนี้ปกติได้ และจะมีการบันทึกว่าเข้าร่วมโครงการ ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจจริง”ยังสู้”ในการแก้ไขหนี้ของตัวเอง ถือเป็นลูกหนี้กลุ่มที่รักษาวินัยและจะดีกว่าการติดประวัติหนี้เสียต่อไปโดยไม่แก้ไข
ธปท.เปิดเผยข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่12 ธันวาคม 2567 จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 มีลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.5 ล้านราย ครอบคลุม 2.0 ล้านบัญชี
จากการสำรวจข้อมูลการคัดกรองคุณสมบัติลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2568 พบว่าลูกหนี้ที่ลงทะเบียนมีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ได้ มีจำนวน 6.3 แสนราย (คิดเป็นร้อยละ 32 ของลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 1.9 ล้านราย) เป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 52 ของยอดหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 8.9 แสนล้านบาท) ทั้งนี้สถาบันการเงินจะต้องเร่งติดต่อลูกหนี้เพื่อดำเนินการทำข้อตกลงในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปตามเกณฑ์ และตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการระยะที่ 2 วันที่ 1 - 4 กรกฎาคม 2568 มีลูกหนี้มาลงเบียนเข้าร่วมโครงการทั้งระยะที่ 1 และ 2 แล้ว 50,560 ราย 95,604 บัญชี
ดูรายละเอียดโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ได้ที่: เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อให้ ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เฉพาะกลุ่ม ภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" (โครงการฯ) นั้น
ตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย ครอบคลุม 1.9 ล้านบัญชี และจากการสำรวจข้อมูลการคัดกรองคุณสมบัติลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2568 พบว่าลูกหนี้ที่ลงทะเบียนมีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ได้ มีจำนวน 6.3 แสนราย (คิดเป็นร้อยละ 32 ของลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 1.9 ล้านราย) เป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 52 ของยอดหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 8.9 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องเร่งติดต่อลูกหนี้ เพื่อดำเนินการทำข้อตกลงในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปตามเกณฑ์ ที่กำหนดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่มีปัญหาในการชำระหนี้ และพบว่าลูกหนี้ยังให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง แต่บางส่วนไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด กระทรวงการคลัง สศช. ธปท. ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ จึงเห็นควรขยายระยะเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 1 (จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2568) และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 2 ที่ยังคงยึดหลักการสำคัญเช่นเดียวกับโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้แก่ การช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ เมื่อรายได้ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า หรือให้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น โดยออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่มเป็นการชั่วคราว และมีแนวทางป้องกันมิให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ (moral hazard) ควบคู่ไปด้วย จึงยังคงการพิจารณาคุณสมบัติของลูกหนี้ไว้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เช่นเดียวกับโครงการฯ ระยะที่ 1
โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 2 ได้ปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิม และมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น สำหรับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ดังนี้
มาตรการที่ 1 "จ่ายตรง คงทรัพย์" ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ที่เข้ามาตรการให้ครอบคลุมถึง 1) ลูกหนี้ที่มีวันค้างชำระเกิน 365 วัน และ 2) ลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระน้อยกว่าที่กำหนดในระยะที่ 1 คือ เคยค้างชำระ 1 - 30 วัน และเคยปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้
มาตรการที่ 2 "จ่าย ปิด จบ" ขยายเพดานภาระหนี้ของลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดย
1) สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 10,000 บาทต่อบัญชี
2) สินเชื่อที่มีหลักประกัน (secured loan) ซึ่งได้มีการบังคับหลักประกันแล้ว และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกินกว่าที่กำหนด (วงเงินสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบัญชี สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อบัญชี สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี) ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 30,000 บาทต่อบัญชี เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก "หนี้เสีย" เป็น "ปิดจบหนี้" และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
มาตรการที่ 3 "จ่าย ตัด ต้น" ซึ่งเป็นมาตรการใหม่สำหรับหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี และเป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (term loan) และผ่อนชำระร้อยละ 2 ของเงินต้นคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งจำนวน สำหรับดอกเบี้ยจะพักแขวนไว้ และจะได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในระหว่างมาตรการหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปได้
"ดังนั้นการเข้าโครงการ คุณสู้ เราช่วย คือทางรอด ไม่ใช่ตราบาป" ดีกว่าปล่อยให้หนี้ค้างชำระ กลายเป็นดินพอกหางหมูจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ในระยะยาว ขณะนี้ลูกหนี้สามารถติดต่อธนาคารเจ้าหนี้ของตนโดยตรง หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อดูแนวทางการเข้าร่วมโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ได้โดยง่าย โดยแบงก์ชาติร่วมมือกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เพื่อเปิดช่องทางเฉพาะกิจสำหรับลูกหนี้ที่ต้องการเจรจา ปรับเงื่อนไข ลดดอกเบี้ย หรือขยายเวลาผ่อนชำระให้เหมาะกับรายได้จริง อย่ารอให้หนี้สายเกินไป แบงก์ชาติพร้อมช่วย ถ้าคุณพร้อมเปิดใจ"
ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถศึกษารายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 หรือติดต่อสาขาของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ หรือ BOT contact center ของ ธปท. โทร. 1213