xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.หว่ง NPLพุ่ง-สินเชื่อหด ออกหนังสือเวียนช่วยผู้ประสบอุทกภัย สินเชื่อหมุนเวียน-ผ่อนชำระบัตรขั้นต่ำ 8%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.หว่งเอ็นพีแอลธนาคารพาณิชย์พุ่ง 2.84% จากรายย่อยในพอร์ตที่อยู่อาศัยเอ็นพีแอลพุ่งกว่า 3.71% บัตรเครดิต 3.53% เช่าซื้อ 2.33% สินเชื่อทั้งระบบหดตัวเหลือ 0.3% โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอี-อุปโภคบริโภค แบงก์ชะลอการปล่อยกู้ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น พร้อมติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก รวมทั้งครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff) เตรียมออกหนังสือเวียนให้สถาบันการเงินขอให้ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 1.ช่วยลูกหนี้ที่ต้องการเงินไปใช้หมุนเวียนหรือซ่อมแซมบ้าน 2.ลดผ่อนชำระขั้นต่ำน้อยกว่า 8% 3.สินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อดิจิทัลผ่อนเกณฑ์วงเงินฉุกเฉิน คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีรายละเอียด


น ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และนางอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 2 ปี 2567 ขยายตัวชะลอลง 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน สินเชื่อธุรกิจโดยรวมทรงตัว ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวต่อเนื่อง และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2 ปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 540.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวม 2.84% จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.50% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ได้ตามสัญญา แต่ถูกจัดชั้นเชิงคุณภาพ) และสินเชื่ออุปโภคบริโภค สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2567 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยหลักจากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองปรับเพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจในกลุ่มที่ผลประกอบการอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง รวมทั้งครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งคาดว่าจะยังส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff) โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 1 ปี 2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการก่อหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมปรับดีขึ้นจากภาคการผลิตและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ


ธปท.กำลังส่งหนังสือเวียนไปยังสถาบันการเงิน เพื่อให้ให้ช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วม โดยจะมีเกณฑ์การผ่อนผันคร่าวๆ คือ 1.ช่วยลูกหนี้ที่ต้องการเงินไปใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ หรือเป็นสภาพคล่อง เพื่อให้ผ่านช่วงน้ำท่วมให้ได้ หรือกรณีที่ประชาชนที่รับผลกระทบต้องการเงินเพื่อซ่อมแซมต่อเติมบ้านจากการถูกน้ำท่วม 2.สำหรับลูกค้าบัตรเครดิต เกณฑ์ลดหย่อนผ่อนชำระขั้นต่ำลง จากเดิมที่ชำระขั้นต่ำที่ 8% สามารถลดหย่อนได้น้อยกว่า 8% ส่วนจะเป็นเท่าใดนั้นต้องมีการหารือกันอีกครั้งหนึ่ง 3.สินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อดิจิทัลผ่อนเกณฑ์วงเงินฉุกเฉิน คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีรายละเอียดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น