ธปท.เผยระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุนบีไอเอส 20.1% เงินสำรอง 179% และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง 204.4% โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2566 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะธุรกิจ SME เร่งแก้ปัญหาหนุนภาคเอสเอ็มเข้าถึงแหล่งเงินทุนและค้ำประกัน ลดความเสี่ยง ห่วงเอ็นพีแอลหนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มที่ขยับตัวสูง
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน น.ส.อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2566 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อนจากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ กอปรกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อใหม่มีปริมาณเพิ่มขึ้นและกระจายตัวในหลายภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวได้จากสินเชื่อส่วนบุคคล
“สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่หดตัว ธปท.ให้ความกังวลถึงภาคเอสเอ็มอี ซึ่งได้ติดตามอย่างใกล้ชิตพบว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่มเอสเอ็มอียังมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ ที่ธนาคารพาณิชย์ได้พิจารณา โดยส่วนใหญ่เอสเอ็มอีจะไม่ค่อยมีหลักประกัน ธนาคารจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดย ธปท.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้น รวมทั้งอาจจะต้องเข้่ไปดูเรื่องการค้ำประกัน เพื่อลดความเสี่ยง หนุนให้มีเงินลงทุน และเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป”
ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 4 ปี 2566 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 492.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.66% โดยเป็นการลดลงจากสินเชื่อธุรกิจเป็นหลักจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการกลับมาชำระคืนหนี้ ขณะที่ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ต สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 5.86% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิด NPL cliff โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 3 ปี 2566 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ลดลงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการก่อหนี้ที่ชะลอลง ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทยอยปรับดีขึ้น ตามภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์และกลุ่มปิโตรเลียม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแม้ปรับดีขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายต่อทริปยังคงต่ำกว่าคาด