ธปท.ยันดำเนินนโยบายการเงินถูกทาง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสม แจงไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายแม้เงินเฟ้อติดลบ ต้องดูแลให้เศรษฐกิจขยายยั่งยืนและมีเสถียรภาพการเงินด้วย รับเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาโครงสร้างตัวเลขส่งออกและภาคการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัว ยันดอกเบี้ยไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก ย้ำดูแล MRR ไม่ให้เป็นภาระกับกลุ่มรายย่อย พร้อมทบทวนและพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินได้ตลอดตามข้อมูลและภาวะเศรษฐกิจ โดยไม่ดันทุรังยึดมั่นถือมั่นตายตัว (Dogmatic)
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและถูกทางแล้ว โดยการดำเนินนโยบายการเงินเน้นรักษาสมดุลให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลักคือ 1) เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน 2) ควบคุมเงินเฟ้อยั่งยืน และ 3) เสถียรภาพเศรษฐกิจ เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมีปัญหาปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งการใช้นโยบายการเงินคงไม่แก้ไขหรือปรับขึ้นลงได้อย่างรวดเร็วได้
ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควรและไม่สมดุล เพราะขาดแรงส่งจากภาคส่งออกและการผลิต แต่เป็นการขยายตัวที่เน้นหนักที่ด้านท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก ทั้งนี้ ยังมีบางจุดที่ยังไม่เป็นไปตามคาด เช่น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและปริมาณนักท่องเที่ยวจีน และภาคการผลิตและภาคการส่งออกไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่เคยประเมินไว้ เพราะอุปสงค์โลกยังเน้นฟื้นตัวที่ภาคบริการเป็นหลัก ยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้าจากทั่วโลก ดังนั้น ปัจจัยเชิงโครงสร้างจึงเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว จนส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าคู่แข่งมาก และการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของไทยเพิ่มเพียงเล็กน้อย ขณะที่หลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า สะท้อนว่าไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไทยไม่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวน้อยลง เพราะขาดการพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐานเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย และเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องและสมดุลมากขึ้น โดยแนวโน้มทิศทางการส่งออกของไทยและทั่วโลกดีขึ้น จากปัจจัยที่วัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกกลับมา แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังทำให้ประโยชน์ที่ควรได้รับไม่มีมากเท่าที่ควร ซึ่ง กนง.ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินภาพเศรษฐกิจในอนาคตในการปรับเปลี่ยนหรือทบทวนการดำเนินนโยบายการเงินอีกครั้ง พร้อมพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินได้ตลอดตามข้อมูลและภาวะเศรษฐกิจ โดยไม่ดันทุรังยึดมั่นถือมั่นตายตัว (Dogmatic)
“การดำเนินนโยบายการเงิน หากเปรียบเทียบกับทีมฟุตบอล ธปท.เป็นเพียงแค่ผู้รักษาประตู กระทรวงคลังเป็นโค้ช รัฐบาลเป็นผู้จัดการทีม ดังนั้นนโยบายการเงินในช่วงนี้ไม่ใช่พระเอกแล้ว”
สำหรับประเด็นที่ กนง.ไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งที่เงินเฟ้อยังติดลบนั้น กนง. ได้คาดการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงตามการนโยบายภาครัฐที่เข้ามาดูแลด้านพลังงาน ทำให้เงินเฟ้อปรับลดลง ขณะที่ราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง และปัจจุบันไม่ใช่ภาวะเงินฝืด หรือกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง แม้จะปรับอัตราดอกเบี้ยลงคงไม่มีผล นโยบายการเงินจะดูแลให้เงินเฟ้อเป็นไปตามกรอบเป้าหมายขณะที่เงินเฟ้อของไทยปรับลดลงเป็นเรื่องที่ดี และคลี่คลายได้เร็วกว่าในหลายๆ ประเทศ เงินเฟ้อติดลบเล็กน้อยนั้นสะท้อนให้เห็นว่าภาระประชาชนลดลง ทั้งราคาน้ำมันที่ลดลง และราคาเนื้อสัตว์ปรับลดลง ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการก่อหนี้เกินตัว รวมทั้งมีผลกระทบวงกว้าง ต้องชั่งน้ำหนักให้รอบด้าน โดย ธปท. จะดำเนินนโยบายการเงิน เน้นการรักษาสมดุล และความยั่งยืนในระยะยาว
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปอย่างระมัดระวัง มองรอบด้าน การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะปัจจุบันยังส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ย MRR มีเพียงแต่ 49% ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น 2% การส่งผ่านมายังดอกเบี้ย MRR ได้ขึ้นเพียง 1% ดังนั้นธปท.จึงให้ความสำคัญเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางอย่างต่อเนื่อง
“การส่งผ่านจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ว่า ของไทยอยู่ที่ 69% สำหรับดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 64% สำหรับ MOR และที่ 49% สำหรับ MRR ซึ่งโดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าหลายประเทศ แม้อาจสูงกว่าเมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย” น.ส.สุวรรณี กล่าว
ส่วนประเด็นที่ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์มีกำไรสูงจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากนั้น ธปท.ได้ติดตามและหารือกับธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด ที่การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปเงินฝากน้อยเกินไป โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังไม่ค่อยตึงตัว ทั้งนี้ หน้าที่ของธปท.ต้องดูแลเรื่องความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ และดูแลเรื่องให้บริการอย่างเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังดูเรื่องต้นทุนการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม