xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไฟแนนซ์-ลิสซิ่ง เทรดคึก-ราคาพุ่งแรง รับประโยชน์ดบ.ขาลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์-ลิสซิ่ง มาแรงแซงโค้งยกแผง HENG-NCAP-SAK-THANI นำทีม รับประโยชน์เทรนด์ดอกเบี้ยขาลง หลังเฟดลดดอกเบี้ย ขณะที่ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจลดลง หลังรัฐบาลแถลงนโยบาย พร้อมเข็นมาตรการกระตุ้น ศก. ช่วยหนุน ด้านโบรกฯ เตือนระวังคุณภาพสินทรัพย์ - NPL ยังน่าห่วง อีกทั้งหุ้นหลายๆ ตัว ขึ้นมาใกล้เป้าหมายแล้ว แนะนำ รอซื้อสะสมเมื่อราคาอ่อนตัว เชียร์ MTC เป็น Top pick

วานนี้ (19 ก.ย.) หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์-ลิสซิ่ง-นอนแบงก์ ซื้อขายคึกคัก โดยราคาปรับตัวขึ้นแรง ตั้งแต่เปิดการซื้อขาย นำโดย HENG เปิดที่ 1.68 บาท ก่อนจะขึ้นไปสูงสุดที่ 1.75 บาท โดยปิดที่ 1.65 บาท เพิ่มขึ้น 0.07 บาท หรือ 4.43% มูลค่าการซื้อขาย 137.73 ล้านบาท

หุ้น NCAP เปิดการซื้อขายคึกคักที่ 2.30 บาท และปรับขึ้นสูงสุดที่ 2.54 บาท ก่อนจะปิดที่ 2.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท หรือ 13.64% มูลค่าการซื้อขาย 174.78 ล้านบาท

หุ้น SAK เปิดซื้อขายที่ 5.60 บาท โดยขึ้นไปสูงสุดที่ 5.85 บาท ก่อนจะปิดตัวลดลงเล็กน้อยที่ 5.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.35 บาท หรือ 6.48% และหุ้น THANI เปิดที่ระดับ 2.14 บาท สูงสุดที่ 2.26 บาท ก่อนจะปิดที่ 2.24 บาท เพิ่มขึ้น 0.18 บาท หรือ 8.74% มูลค่าการซื้อขาย 98 ล้านบาท

ขณะที่ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าว ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 38% สูงกว่าการปรับตัวขึ้นของ SET Index ที่ปรับตัวขึ้นไปแล้ว 12% และยังเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นของบริษัทใน Non-Bank หรือสินเชื่อปรับตัวขึ้น ตั้งแต่ 9.40 - 119.05%

อาทิ บมจ.ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 (SCAP) เป็นบริษัทที่ราคาหุ้นช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในกลุ่มถึง 119.05% รองลงมา คือ บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) ที่ราคาหุ้นช่วงดังกล่าวปรับตัวขึ้นถึง 59.60%

นอกจากนั้น ยังมี 6 บริษัทในกลุ่มที่ราคาปรับตัวขึ้นมากกว่า 40% ประกอบด้วย บมจ.ไมโครลิสซิ่ง (MICRO) ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 56%, บมจ.อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง (AMANAH) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 53.06%, บมจ.เอส 11 กรุ๊ป (S11) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 48.28% บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 46.31%, บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 46.09% และ บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK) ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 41.18%

 พาย มองผลงานปีนี้ยังโตต่อ แต่เตือนระวัง NPL

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.พาย เปิดเผยว่า กำไรสุทธิรวมของหุ้นในกลุ่ม Non-Bank ปี 67 ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากปีก่อนได้ มีปัจจัยหนุนหลักจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อรวมในกลุ่ม ที่มีแนวโน้มเติบโตราว 10 - 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระวังเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ และการตั้งสำรองหนี้สูญด้วยเช่นกัน

" ปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้น Non-Bank ปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คือ แนวโน้มดอกเบี้ยที่เป็นขาลง ประกอบกับ ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่ลดลง ภายหลังรัฐบาลเพิ่งแถลงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อรัฐสภา" นายธนเดช กล่าว

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มดังกล่าว ยังมีเม็ดเงินซื้อกลับ หลังช่วงการรายงานงบการเงินไตรมาส 2/67 ถูกแรงขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงต่อประเด็นหนี้เสีย (NPL) ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ผลการดำเนินงานรวมของกลุ่มในช่วงดังกล่าวจะเติบโตแข็งแกร่งก็ตาม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนต้องเฝ้าระวังต่อหุ้นกลุ่ม Non-Bank ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ คุณภาพสินทรัพย์ และ NPL ที่ยังไม่ได้ปรับตัวลง โดยก่อนหน้านี้ที่ราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวขึ้นมา เพราะตลาดคลายกังวลต่อประเด็นดังกล่าวลงไป แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้หมดไป ดังนั้น หากในระยะถัดไปทิศทาง NPL ยังไม่ปรับตัวลดลง ก็มีแนวโน้มที่จะถูกนักลงทุนขายเพื่อลดความเสี่ยงลงได้เช่นกัน

ทั้งนี้ หุ้นหลายๆ บริษัทในกลุ่ม Non-Bank ปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงจนใกล้จะถึงราคาเป้าหมายแล้ว ทางกลยุทธ์จึงแนะนำนักลงทุนรอซื้อสะสมเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลงจากนี้ โดยเลือกซื้อรายตัว (Selective Buy) หุ้นที่มีแนวโน้มกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง โดยมอง MTC เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่ม

ฟินันเซีย เผย มีมุมมองบวกต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 67-68

ด้าน บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ยังมีมุมมอง "เชิงบวก" ต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่ม Non-Bank ในช่วงปี 67 - 68 เนื่องจากประเมินว่าในช่วงดังกล่าว กำไรสุทธิรวมของกลุ่มสินเชื่อจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง 8.9% และ 13.8% จากปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมองว่า กลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนจะเป็นคีย์หลักในการขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของกลุ่ม จากการคาดหมายว่ากำไรกลุ่มจำนำทะเบียนปี 67 - 68 จะเติบโตแข็งแกร่ง 19.3% และ 19.1% จากปีก่อน ตามลำดับ

ขณะที่ คาดว่า กำไรสุทธิปี 67 - 68 ของกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตจะเติบโตได้เพียงเล็กน้อยราว 3.5% และ 4.8% จากปีก่อน ตามลำดับ แต่กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก มีแนวโน้มว่ากำไรสุทธิปี 67 จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญราว 28.2% ก่อนจะฟื้นกลับมาเติบโตได้ในปี 68 ราว 15.9%

ส่วนมุมมองการลงทุน "น้อยกว่าตลาด" สำหรับกลุ่ม Non-Bank ตามมุมมองลบต่อระดับหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อ และจะกดดันคุณภาพสินทรัพย์ในระยะถัดไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น