ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2.5 พันล้านบาทและไถ่ถอนภายใน 3 ปี ของ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)(THANI) ที่ระดับ “A-” โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์จะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินงานและชำระคืนหนี้ พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ “bbb+” เพื่อสะท้อนถึงการที่บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “A/Stable” โดยอันดับเครดิตที่ได้รับการยกระดับดังกล่าวสะท้อนถึงสัดส่วนที่เข้มแข็งของฐานทุน ผลกำไร และสินทรัพย์ต่อ TCAP ในขณะที่บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจาก TCAP ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงความเข้มแข็งของสถานะทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์และรถยนต์หรู ตลอดจนฐานทุนที่แข็งแกร่ง และสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่อ่อนแอลงและผลขาดทุนจากรถยึดที่สูงขึ้นซึ่งยังคงมีแนวโน้มที่จะดําเนินต่อไปในระยะปานกลาง นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนที่ลดลงประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นยังสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทอีกด้วย โดยคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาตําแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในสินเชื่อเช่าซื้อสําหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์เอาไว้ได้ต่อไปถึงแม้จะประมาณการว่าสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาทในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งการลดลงนี้สอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรม และเป็นผลมาจากกลยุทธ์การเติบโตแบบระมัดระวังของบริษัทที่มุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ โดยคาดการณ์ว่าสินเชื่อใหม่ของบริษัทจะหดตัว 25% ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และจะเติบโตที่ระดับ 10% ต่อปีในระหว่างปี 2568-2569
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทในปี 2566 เสื่อมถอยลงเป็นผลมาจากความสามารถในการชําระหนี้ที่อ่อนแอลงของลูกหนี้ รวมทั้งจากจํานวนรถบรรทุกถูกยึดคืนที่สูงขึ้น และราคารถบรรทุกมือสองที่ลดลง ซึ่งปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านเครดิตของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและเกิดการขาดทุนจากการขายรถบรรทุกที่ถูกยึดคืนซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ อัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Formation) ต่อสินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.4% ในปี 2566 และอยู่ที่ระดับ 2.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับที่ต่ำกว่า 1.2% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 3.4% ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 จากระดับ 3.2% ณ สิ้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งจะมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ และการเร่งตัดหนี้สูญของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้อยู่ในเป้าหมายที่ระดับ 3.2% หรือต่ำกว่าให้ได้ภายในสิ้นปี 2567 นี้ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2567 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 92%
ทริสเรทติ้งยังคงประเมินให้ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทอยู่ในระดับ “ปานกลาง” แม้ว่ากำไรของบริษัทจะมีแนวโน้มอ่อนแอลง โดยความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA) นั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ระดับ 3.1% ในปี 2566 และ 2.9% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จากระดับ 4.3% ในปี 2565 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แคบลงจากอัตราดอกเบี้ยรับที่ลดลงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ในอนาคตทริสเรทติ้งประเมินว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับ 2.4-2.8% ในช่วงปี 2567-2569 ซึ่งเป็นระดับที่ยังคงรองรับอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในปัจจุบันได้ โดยทริสเรทติ้งมีสมมติฐานว่าบริษัทจะรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3.5% ในขณะที่ควบคุมอัตราค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมให้อยู่ที่ระดับ 17% เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายที่สูงขึ้นซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต และอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยให้อยู่ที่ระดับ 2%