xs
xsm
sm
md
lg

SCB EIC มอง GDP ปี 67-68 โตต่ำ ห่วง "ดิจิทัลวอลเล็ต" ใช้งบสูง ดันหนี้สาธารณะชนเพดาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัวต่ำที่ระดับ 2.5% และปี 68 ที่ระดับ 2.6% โดยมองว่าในระยะต่อไป ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งหลักที่เหลืออยู่ของเศรษฐกิจไทย โดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 68 ไว้ที่ 39.4 ล้านคน ซึ่งการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังถูกกดดันจากแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์

ขณะที่การส่งออกไทยปี 68 ยังเติบโตต่ำกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง การผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่แม้เริ่มทยอยฟื้นตัวตามการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังเผชิญแรงกดดันจากสินค้าคงคลังสูง และอุปสงค์ในประเทศเปราะบาง การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวเล็กน้อยในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า ตามมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ Board of Investment ที่ปรับดีขึ้นมาก แต่การลงทุนจะยังเติบโตได้ไม่มากนัก จากภาคก่อสร้างที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำ และการลงทุนยานพาหนะที่ใช้เวลาฟื้นตัวจากภาวะสินเชื่อตึงตัว

สำหรับการบริโภคภาคเอกชน จะแผ่วลงมากในสินค้าคงทน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มกลับมาหดตัว ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่จะลดลงในปีหน้า อีกทั้งยังถูกกดดันจากสินเชื่ออุปโภคบริโภค ที่ชะลอลงต่อเนื่องเพราะคุณภาพสินเชื่อด้อยลง


"ดิจิทัลวอลเล็ต" ใช้งบสูง แต่ช่วยเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่

โดยสถานการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้า จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2567 ที่ยังต่ำ จึงมีแนวโน้มจะลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการไม่จำเป็นมากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพิ่มเติมจะมีข้อจำกัดมากขึ้น จากภาระการคลังสูง โดย SCB EIC ประเมินว่าขณะที่โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลใช้วงเงินสูง แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่และชั่วคราว ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทย อาจมีแนวโน้มชนเพดานในปี 70

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เป็นการสานต่อนโยบาย ครม. ชุดก่อน โดยมีจุดเน้นมากขึ้นที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจกลุ่มเปราะบาง SCB EIC ประเมินชุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะสั้น จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ท่องเที่ยว และภาคเกษตร ขณะที่ธุรกิจที่มีแรงงานขั้นพื้นฐานในสัดส่วนสูง จะได้รับผลกระทบด้านต้นทุน และธุรกิจพลังงานอาจได้รับผลกระทบด้านรายได้ สำหรับนโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมที่สอดรับเทรนด์โลก และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต


สำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อม ยังเป็นทั้งความท้าทาย และโอกาสให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว ภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้างฟันเฟืองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากรอบด้าน โดยเฉพาะ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจสูญเสียกำลังการผลิตในประเทศไปราว 40% หากการปรับตัวของค่ายรถยนต์ไม่เท่าทันกับกระแสนิยมที่กำลังเปลี่ยนไป และ 2. ผู้ประกอบการ SME เผชิญแรงกดดัน จากกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง อีกทั้ง ยังถูกซ้ำเติมจากการตีตลาดจากสินค้านำเข้า กระบวนการผลิตและการตลาดล้าสมัย ดังนั้น การผลักดันให้ภาคธุรกิจเหล่านี้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ควบคู่กับนโยบายยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ตลาดจะเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Hard landing) ได้ โดยเฉพาะในสหรัฐ เพราะอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเร็ว จนเข้าเกณฑ์ของดัชนีเตือนเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ แต่ SCB EIC ประเมินว่าโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะ Soft landing ยังมีสูงกว่ามาก หากดูจากแรงส่งที่ดีของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงครึ่งปีแรก และข้อมูลเร็วสะท้อนการขยายตัวในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ อัตราการว่างงานสหรัฐที่ปรับขึ้นเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปทานแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือจากความต้องการจ้างงานที่ลดลง

มีลุ้น กนง.หั่นดอกเบี้ย รอบประชุมนัดส่งท้ายปี

ด้านทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธ.ค. และต่อเนื่องช่วงต้นปีหน้าไปอยู่ที่ 2% จากสัญญาณอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวนาน

สำหรับค่าเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าเร็ว หลังดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำสูงขึ้น และความกังวลการเมืองไทยที่คลี่คลาย โดยค่าเงินบาทในระยะสั้น อาจอ่อนค่าเล็กน้อยจากปัจจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก่อนกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตาม Easing cycle ของสหรัฐฯ โดย ณ สิ้นปี 67 ประเมินเงินบาทอยู่ในกรอบ 34-34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และ 33-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น