นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำในปี 2567 และ 2568 ที่ 2.5% และ 2.6% ตามลำดับ โดยภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งหลักที่เหลืออยู่ของเศรษฐกิจไทยด้วยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2568 ที่ 39.4 ล้านคน โดยการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังถูกกดดันจากแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์ ขณะที่การส่งออกไทยปี 2568 ยังเติบโตต่ำกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
ส่วนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่แม้เริ่มทยอยฟื้นตัวตามการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังเผชิญแรงกดดันจากสินค้าคงคลังสูง และอุปสงค์ในประเทศเปราะบาง การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวเล็กน้อยในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า ตามมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ Board of Investment ที่ปรับดีขึ้นมาก แต่การลงทุนจะยังเติบโตได้ไม่มากนัก จากภาคก่อสร้างที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำและการลงทุนยานพาหนะที่ใช้เวลาฟื้นตัวจากภาวะสินเชื่อตึงตัว
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงมากในสินค้าคงทน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มกลับมาหดตัว ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่จะลดลงในปีหน้า ทั้งยังถูกกดดันจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ชะลอลงต่อเนื่องเพราะคุณภาพสินเชื่อด้อยลง ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพิ่มเติมจะมีข้อจำกัดมากขึ้นจากภาระการคลังสูง โดยประเมินว่าขณะที่โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลใช้วงเงินสูง แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่และชั่วคราว ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยอาจมีแนวโน้มชนเพดานในปี 2570
"ปีนี้เรายังคงประมาณการจีดีพีที่ 2.5% แต่ที่สำคัญคือการปรับลดจีดีพีปีหน้ามาที่ 2.6% ลดลงเป็นรอบที่ 2 จากสูงกว่า 3% มาเป็น 2.9% โดยเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพที่น่าจะสูงกว่า 3% และคาดว่าจะไหลลงได้อีก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในอนาคตนอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องวัฏจักรเข้ามาทำให้เศรษฐกิจหมุนวนลงเร็วขึ้น แต่จะ Hard Landing หรือเปล่า ก็จะขึ้นอยู่กับการทำนโยบายต่อไปในอนาคต หากนโยบายการเงิน-การคลังประสานกันได้ดี โอกาสที่จะเกิดก็ลดลง แต่ถ้านโยบายไปคนละทิศละทางก็มีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ Hard Landing ได้"
*คาด กนง.ลดดอกเบี้ย ธ.ค.**
ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น EIC SCB คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนธันวาคม และลดอีก 0.25% ในปีหน้า เนื่องจากภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไม่มีประเด็นให้น่าเป็นห่วง และภาคการเงินมีความตึงตัวขึ้น สถาบันการเงินมีความเข้มงวด สินเชื่อโตยาก ทำให้โมเมนตัมในการขับเคลื่อนขาดหายไปตรงนี้นโยบายการเงินจะช่วยเข้ามาช่วยบรรเทาได้ และมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2567 และ 2568 ในกรอบ 34-34.5 และ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
**เตือนhair cutกระทบวินัยการเงิน**
นายสมประวิณ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงในขณะนี้ ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศแล้ว ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายฝ่ายและเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาซึ่งมองว่าเป็น 10 ปี ก็เหมือนๆ กับการก่อหนี้ที่เริ่มมาเป็น 10 ปีเช่นกัน แต่ก็เป็นปัญหาที่แก้ได้ ด้วยความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ขณะที่การแก้ปัญหาโดยวิธีการตัดลดเงินต้นนั้น มีข้อพึงระวังในเรื่องของวินัยทางการเงิน ซึ่งมองว่าการแก้หนี้ให้ได้ผลต้องสร้างแรงจูงใจหรือยินยอมพร้อมใจให้เกิดทั้ง 2 ฝั่ง
สำหรับมาตรการ Digital Wallet มีเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปโดยจะมีการให้กลุ่มเปราะบางก่อนนั้น ถือว่าเป็นสิ่งทึ่ดีเป็นนโยบายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่ใช่การเหวี่ยงแห ซึ่ง EIC ประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลจะหนุนจีดีพีได้ประมาณ 0.5-0.7% แต่อย่างไรก็ตามมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาวหรือปัญหาเชิงโครงสร้างก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมนั้น ในเบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรในเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ระดับ 2,263 ล้านบาท คิดเป็น 0.01%ของจีดีพี และรอประเมินผลต่อเนื่องในระยะต่อไป
**เศรษฐกิจโลก Soft landing**
ด้านเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หลังจากเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก ภาพรวมทั้งปี 2567 จะขยายตัว 2.7% และมีแนวโน้ม Soft landing ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ 2.8% ในปี 2568 แม้ว่าขณะนี้ตลาดจะเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Hard landing) ได้ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เพราะอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเร็วจนเข้าเกณฑ์ของดัชนีเตือนเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่าโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะ Soft landing ยังมีสูงกว่ามาก หากดูจากแรงส่งที่ดีของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงครึ่งปีแรก และข้อมูลเร็วสะท้อนการขยายตัวในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปทานแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือจากความต้องการจ้างงานที่ลดลง
เศรษฐกิจโลกจะมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ ธนาคารกลางหลักจะทยอยลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้า จากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลง ซึ่งจะช่วยดูแลเศรษฐกิจและลดโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ โดยในช่วงที่เหลือของปี 2567 และ 2568 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 200 BPS และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกรวม 150 BPS หลังจากลดไป 25 BPS ในช่วงเดือนมิถุนายน ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะช่วยให้ความต้องการบริโภคอุปโภคทั้งในและต่างประเทศสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลงและเปราะบางมากขึ้นในระยะปานกลาง ทั้งจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ นำไปสู่การปรับห่วงโซ่อุปทานและการค้าโลก รวมถึงการออกมาตรการกีดกันระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นและขยายมิติ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ไม่กลับไปอยู่ในระดับต่ำเช่นค่าเฉลี่ยในอดีตได้อีก ทั้งนี้การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งทั่วไปปลายปีนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งจะส่งผลให้โลกแบ่งขั้วเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานเร็วขึ้น