นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า SCB EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยเติบโตลงเหลือ 2.5% จากเดิมที่ 2.7% โดยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแต่เป็นการฟื้นตัวที่โตช้า เปราะบาง และไม่แน่นอนมากขึ้น จากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ และความขัดแย้งทางการค้าที่เริ่มกลับมาอย่างชัดเจนขึ้น และปัจจัยความไม่แน่นอนภายในประเทศที่เพิ่มเข้ามาอย่างปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะส่งผลต่อความมั่นใจดังจะเห็นได้จากฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ
"เราปรับประมาณจีดีพีครั้งนี้เป็นรอบที่ 2 จากความไม่นอนที่เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจัยการเมืองเข้าเพิ่มความไม่นอนของเศรษฐกิจไทยเพราะหากรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจะถูกกระทบ ความไม่มั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากเรื่องหนี้ครัวเรือน ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เรากังวลมากเพราะเริ่มกระทบเศรษฐกิจในระยะสั้น และจะกระทบต่อเนื่องถึงระยะยาว โดยจากข้อมูลที่เราเห็นคือ ภาคการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องทำให้การจ้างงาน-รายได้ลดลง ขณะที่ภาคการเงินปล่อยกู้น้อยลงก็กระทบถึงอุปสงค์ในการใช้จ่ายที่ลดลง และจากวัฏจักรเศรษฐกิจภายในประเทศที่เปราะบาง ก็กระทบต่อการลงทุนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเชิงโครงสร้าง ก็จะวนลูปกันไป และทำให้เราไม่สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ และหากกรณีเลวร้าย เช่น เกิดความขัดแย้งทางการที่รุนแรง หรือความขัดแย้งลามไปสู่สงครามที่รุนแรง ก็เป็นไปได้ว่าจีดีพีไทยจะโตในระดับต่ำกว่า 1%"
สำหรับปัจจัยที่ SCB EIC ติดตามใอนาคต ได้แก่ หนึ่ง หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูงและรอวันสุกงามหากยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างได้ผล สองความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะต้องวางสถานะของตนเองอย่างระมัดระวังเพื่อให้กระทบต่อประเทศไทยน้อยที่สุด และหนี้สาธารณะที่มีสัญญาณการปรับเป้าหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเพดานการเพิ่มหนี้ ขณะที่จุดวกกลับถูกลากให้ล่าช้าออกไปกว่าเดิมซึ่งจะเป็นปัญหาในระยะยาวได้
นายสมประวิณ กล่าวอีกว่า SCB EIC มีมุมมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปี 2567 เหลือ 2.25% และปรับลด
อีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปี 2568 จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้าที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น สำหรับค่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่องจากปัจจัยการเมืองในประเทศ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ตลาด ในระยะสั้นคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35.80-36.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจะทยอยแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สำหรับ ณ สิ้นปี 2567 มองเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
"เรามองว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องการการกระตุ้น แล้วต้องการการช่วยเหลือเยียวยาด้วย เพราะจากการสำรวจของเราพบว่า กลุ่มผู้มีรายได้ 40,000 บาทต่อเดือนเริ่มมีสัญญาณรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย รวมไปถึงกลุ่มรายได้ 50,000-60,000 บาทต่อเดือนด้วย จากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก็ยังมีความจำเป็นในประเด็นของการช่วยลดภาระ ไม่ใช่การเพิ่มการก่อหนี้ซึ่งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากอยู่แล้ว"