นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ว่า หากรัฐบาลชุดใหม่จะไม่ดำเนินการต่อ อาจต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาทดแทนเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคงต้องมาหารือร่วมกันก่อนว่านายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร โดยต้องหารือกันในระดับนโยบายก่อน รวมทั้งฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ด้วย
"คิดว่าคงต้องมีมาตรการออกมาสักอย่างเพื่อช่วยประชาชนในช่วงนี้ ส่วนจะเป็นมาตรการอย่างไรนั้นคงต้องดูจากทรัพยากรที่มี ดูเครื่องมือที่มี และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ว่าจะใช้มาตรการไหนให้เกิดการทำงานได้เร็วขึ้น" นายดนุชา ระบุ
ส่วนมาตรการดังกล่าวควรจะทำควบคู่ไปพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยหรือไม่นั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องพิจารณาช่วงเวลา และปริมาณที่เหมาะสมภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ซึ่งเชื่อว่าทั้งรัฐบาล กระทรวงการคลัง รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงต้องมาหารือร่วมกันว่าจะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ในช่วงเวลาใด และอย่างไร
* แนะเตรียมวงเงินในงบปี 68 รองรับผลกระทบความผันผวนเศรษฐกิจโลก
ส่วนที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงต้องรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก่อนที่จะมีความชัดเจนเรื่องการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ ซึ่งการลงทุนของภาครัฐในช่วงถัดจากนี้ไปจะถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อจากนี้ ดังนั้นคงต้องมาพิจารณาอีกทีว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจควรต้องดำเนินการในลักษณะใด
"เรื่องการรับฟังความคิดเห็น เชื่อว่าทั้งรัฐบาลที่ผ่านมา และรัฐบาลนี้จะได้ทำอย่างรอบด้าน ต้องดูว่าสุดท้ายแล้วจะมีมาตรการอะไรออกมา ตอนนี้ยังพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะรัฐบาลใหม่ยังไม่ได้แถลงนโยบายเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะทำ หรือไม่ทำ แต่งบประมาณมีการเตรียมการไว้ตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้า ดังนั้น ต้องมาดูว่ารัฐบาลของนายกฯ แพทองธาร จะมีนโยบายอย่างไร คงต้องพูดคุยกันในรายละเอียด" นายดนุชา กล่าว
พร้อมเห็นว่าในงบประมาณรายจ่ายปี 68 ควรต้องมีงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย จากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
"ความขัดแย้งในภูมิภาคที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งสงครามการค้าที่น่าจะรุนแรงมากขึ้นนั้น แน่นอนว่า เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบแน่ เพราะฉะนั้น ในงบประมาณปี 68 ต้องมาดูว่าจะมีวงเงินอะไรเพื่อใช้เตรียมรองรับในส่วนนี้ คงต้องหารือกับนายกฯ และ ครม.ก่อน ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างฟอร์มทีมรัฐบาล เมื่อได้รัฐบาลแล้วต้องมาคุยกันว่าในเรื่องนี้เราจะเตรียมมาตรการอย่างไรบ้างเพื่อรองรับ" นายดนุชา กล่าว
มาตรการแก้หนี้ควรทำแบบพุ่งเป้ามากขึ้น
ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงนั้น นายดนุชา กล่าวว่า เรื่องนี้ ธปท. กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ได้มีการหารือกันมาระดับหนึ่งแล้ว และเห็นว่ามาตรการที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ควรเป็นมาตรการที่พุ่งเป้ามากขึ้น เช่น แก้ปัญหาหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หรือหนี้บัตรเครดิต รวมทั้งต้องดูทรัพยากรที่จะนำมาใช้ด้วย โดยเชื่อว่าอีกไม่นานน่าจะได้เห็นมาตรการออกมา
"เราคุยกันมาระดับหนึ่งแล้ว เห็นว่ามาตรการที่จะแก้ไขเรื่องหนี้จะต้องพุ่งเป้ามากขึ้น และต้องดูทรัพยากรที่จะเอามาใช้ด้วย ขอให้คุยกันให้ชัดเจนก่อน คงไม่นาน น่าจะมีมาตรการออกมา" นายดนุชา ระบุ
ทั้งนี้ เลขาธิการสภาพัฒน์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยกล่าวเพียงว่า ให้เป็นหน้าที่ของ ธปท. โดยจะไม่ขอก้าวล่วง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ ธปท.เป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มดอกเบี้ยโลกที่ทรงตัวในระดับสูง อยู่ที่ ธปท. จะมองว่าอย่างไร