xs
xsm
sm
md
lg

คลังอัดฉีดเงินเข้าระบบ 1 แสนล้านหนุนจีดีพีโต “ออมสิน “นำทัพแบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐรวม 16 แห่ง ปล่อยกู้ SMEs ดอกเบี้ยต่ำ 3.5% ต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ลงนาม “ออมสิน “นำทัพแบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐรวม 16 แห่ง ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3.5% ต่อปี หนุน SMEs เข้าถึงแหล่งทุน เพิ่มสภาพคล่อง เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ คาดอัดเงินเข้าระบบ 100,000 ล้านบาท สอดรับกับดิจิทัลวอลเล็ต หนุนเศรษฐกิจโตตามเป้า

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นประธาน และสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up สำหรับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้เติบโต สามารถก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคได้อย่างเข้มแข็ง โดยมีนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวม 16 แห่ง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โอกาสนี้ มีนายธีรัชย์ อัตนวานิช ประธานกรรมการธนาคารออมสิน นางวรนุช ภู่อิ่ม และนายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ กรรมการธนาคารออมสินร่วมด้วย

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัจจุบันธุรกิจ SMEs ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งภาระต้นทุนธุรกิจสูง สภาพคล่องที่จำกัด และความต้องการแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล กระทรวงการคลัง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนจากธนาคารออมสิน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ธุรกิจ SMEs ในการรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ SMEs สามารถก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคได้อย่างเข้มแข็ง และจะส่งผลดีต่อการขยายตัวต่อ GDP ของประเทศต่อไป

โครงการดังกล่าวเป็นการอัดฉัดเงินเข้าสู่ระบบ โดยผ่านภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น รวมทั้งสินเชื่อดังกล่าวเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ที่ภาคเอสเอ็มอี จะนำไปเป็นเงินลงทุน เงินหมนุเวียน ทั้งหมดนี้เป็นการนำเงินเข้าไปหมุนในระบบทั้งสิ้น โดยผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งมีการประเมินคร่าวๆ จะมีเอสเอ็มอีมาขอสินเชื่อแล้ว 70,000-80,000 ล้านบาท คาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะหมุนเข้ามาทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวต่อเนื่อง จากโครงการอื่นๆ ที่ดำเนินการมาแล้ว เช่น การแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอล ช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งยังมีเม็ดเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามาอีกทางหนึ่ง ดังนั้นเชื่อว่ามาตรการต่างๆ จะสอดคล้องและหนุนให้เศรษฐกิจมีการเติบโตได้ตามเป้าหมาย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้สั่งการให้ธนาคารออมสินเข้าช่วยเหลือ SMEs ให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ และเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการปล่อยสินเชื่อวงเงิน 100,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ให้แก่สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ที่ไม่ใช่การรีไฟแนนซ์ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายรวมทุกสถาบันการเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ สำหรับลงทุนและเสริมสภาพคล่องในกิจการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up มีสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการ รวม 16 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารยูโอบี ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ธนาคารทิสโก้ และธนาคารไทยเครดิต ทั้งนี้ สามารถติดต่อยื่นขอสินเชื่อได้ที่สถาบันการเงิน ที่เข้าร่วมโครงการ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าจะครบวงเงิน


กำลังโหลดความคิดเห็น