xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.12 รอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (25 ก.ค.) ที่ระดับ 36.12 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.16 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.95-36.20 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 35.92-36.17 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนหลุดโซนแนวรับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วงแรก โดยเงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่โซน 153 เยนต่อดอลลาร์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนปรับลดสถานะ Short JPY ลงบ้าง

นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ดังกล่าวยังช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ทว่า เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงเหนือโซน 36 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นตามภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน เงินบาทถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงกลับสู่โซนแนวรับระยะสั้นในช่วง 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานคาดการณ์ครั้งแรกของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims)

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนกรกฎาคม

และในฝั่งไทย เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่ายอดการส่งออก (Exports) ของไทยในเดือนมิถุนายนจะยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ และอัตราการเติบโตจะเป็นอย่างไร รวมถึงดุลการค้าของไทยจะยังคงเกินดุลได้หรือไม่

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงวันก่อนหน้า จนหลุดโซนแนวรับ 36 บาทต่อดอลลาร์มากกว่าที่เราประเมินไว้ว่าเงินบาทอาจเริ่มชะลอการแข็งค่าแถวโซนเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน (โซน 36.10 บาทต่อดอลลาร์) ได้สะท้อนว่า โมเมนตัมฝั่งแข็งค่าของเงินบาทนั้นยังมีกำลังอยู่พอสมควร และผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง โดยเฉพาะในช่วงบ่ายวันก่อนที่เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากประเด็นการเมืองในประเทศ ทำให้เรามองว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้จะยังไม่ต่างจากช่วงวันก่อนๆ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงบ้างตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินที่ยังหนุนเงินดอลลาร์ รวมถึงกดดันให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายสินทรัพย์ไทยได้บ้าง โดยเฉพาะในส่วนหุ้น ขณะเดียวกัน เงินบาทอาจผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทองคำ ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน รวมถึงผู้เล่นในตลาดเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ถึงจะเห็นการแข็งค่าของเงินบาทที่ต่อเนื่อง และอาจหลุดโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ไปได้

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในคืนนี้ตั้งแต่ช่วงเวลาราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น