xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.01 จับตาแนวรับสำคัญที่ 35.85

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ก.ค.) ที่ระดับ 36.01 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.11 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.15 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา แม้ว่าโดยรวมเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ทว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 36.00-36.19 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ในช่วงแรกผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งของเฟดในปีนี้ลงมาบ้าง

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์กลับแข็งค่าอยู่ได้ไม่นานเริ่มเผชิญแรงขายทำกำไรตามภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่าเฟดมีโอกาสราว 63% ในการลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 2,460-2,470 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้บรรดาผู้เล่นในตลาดได้ทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนหนุนให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 36.00 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมิถุนายน

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.25% เพื่อลดแรงกดดันจากค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียจะชะลอลงต่อเนื่องเข้าใกล้เป้าหมายของ BI แล้วก็ตาม

ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book)

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดให้ความสนใจเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทจนทดสอบโซนแนวรับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น เหนือความคาดหมายพอสมควร เนื่องจากรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อว่าตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่าเฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ (โอกาสจาก CME FedWatch Tool ควรเกิน 60%) เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมี Upside ที่จำกัด หรืออาจปรับตัวขึ้นไม่ได้มาก จนกว่าตลาดจะเลิกเชื่อในมุมมองดังกล่าว ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทจะสามารถแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับสำคัญได้ แต่เรามองว่า การแข็งค่าต่อยังคงเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราประเมินว่า แนวรับถัดไปของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 35.85 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถแข็งค่าหลุดโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งในช่วงระหว่างวัน เรามองว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันบ้างจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมันดิบ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนได้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาทพอสมควรอีกครั้ง นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้ จนกว่าตลาดทุนไทยจะเรียกความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนให้กลับมาได้ ซึ่งอาจต้องรอลุ้นให้ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น