xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 35.92 โมเมนตัมการแข็งค่าเริ่มชะลอลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ก.ค.) ที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.10 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.86-35.98 บาทต่อดอลลาร์) มีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้างตามการปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำ ซึ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงของเงินบาทถูกชะลอลงหลังเงินดอลลาร์ได้ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้แรงหนุนจากการทยอยปิดสถานะ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) ของบรรดาผู้เล่นในตลาด ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนมองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงวันพุธที่ผ่านมาอาจเกิดจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่นได้

นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือนกันยายน และอาจลดดอกเบี้ยราว 2-3 ครั้งในปีนี้ หลังรับรู้ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ Christopher Waller มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง พร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ในการประชุมครั้งนี้ ECB อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า ECB จะส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดๆ ไปหรือไม่ โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยลงอีกราว 2 ครั้งในปีนี้ (การประชุมเดือนกันยายนและเดือนธันวาคม) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดให้ความสนใจเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มชะลอลงแถวโซนแนวรับ 35.85 บาทต่อดอลลาร์ จริงตามที่เราประเมินไว้ โดยเรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) จากผู้เล่นในตลาด ซึ่งคอยช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ นอกจากนี้ เรามองว่าการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบเข้ามาชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มเติมได้ ทำให้เงินบาทอาจยังมีโซนแนวรับหลักแถว 35.85 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในช่วงนี้ จนกว่าจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน เราประเมินว่าฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มเป็นฝั่งขายสุทธิได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มเผชิญความผันผวนและเสี่ยงกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดเช่นกัน โดยเงินบาทอาจยังติดโซนแนวต้านแถว 36.00-36.10 บาทต่อดอลลาร์

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB ซึ่งอาจส่งผลให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนได้พอสมควร โดยเฉพาะหาก ECB ส่งสัญญาณชัดเจนว่าพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้บ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น