xs
xsm
sm
md
lg

คดีปั่นหุ้นที่สาบสูญ POLAR EARTH IFEC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การนำตัวผู้กระทำความผิด สร้างความเสียหายร้ายแรงให้ประชาชนในตลาดหุ้น เป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลายาวนาน เพราะกลุ่มผู้กระทำความผิด พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้พ้นจากการถูกลงโทษ แม้กระทั่งการผลักดันคดีเข้าสู่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

ปลายสัปดาห์ก่อน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แถลงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะมาตรา 243 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น และมาตรา 244 ซึ่งเป็นความผิดในการสร้างราคาหุ้น หรือปั่นหุ้น

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่า กฎหมายหลักทรัพย์มีผลบังคับใช้ และผู้ที่กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษ

สาธารณชนทั่วไปคงไม่คาดคิดว่า ความผิดเกี่ยวกับตลาดหุ้นจะถึงขั้นต้องหยิบยกเข้าไปสู่การพิจารณาตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่คนที่กระทำความผิดย่อมดิ้นรนหาทุกช่องทางเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด ไม่ต้องรับโทษ

คดีที่ถูกนำเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ มีอยู่ 2 คดี โดยเป็นความผิดเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง และความผิดการปั่นหุ้นของบริษัททะเบียนอีกแห่งหนึ่ง

ความผิดการใช้ข้อมูลภายในและความผิดปั่นหุ้น มีโทษทั้งทางอาญาและแพ่ง แต่ ก.ล.ต.เลือกใช้มาตรการทางแพ่ง ลงโทษปรับ จำนวนเงินตามความผิดของแต่ละบุคคล ซึ่งผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมจ่าย จึงส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้องบังคับชำระค่าปรับ

สาเหตุที่ ก.ล.ต.เลือกใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง เนื่องจากการกล่าวโทษทางอาญามักประสบปัญหา เนื่องจากคดีที่ส่งไปพนักงานสอบสวนหรือตำรวจ มักจะถูกเป่าทิ้ง โดยความเห็นไม่ฟ้อง

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยุคนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เซ็นคำสั่งไม่ฟ้องคดีปั่นหุ้นในวันเดียว 14 คดีรวด

ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2567 รวมเวลา 7 ปี ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน รวม 156 คดี มีผู้ถูกกล่าวโทษ 558 ราย และดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิด รวม 62 คดี จำนวนผู้กระทำผิด 246 ราย

ผู้กระทำผิดตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) กำหนด แบ่งเป็นค่าปรับทางแพ่ง จำนวน 1,567.70 ล้านบาท และชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด จำนวน 194.32 ล้านบาท ซึ่ง ก.ล.ต. นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

กรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมจ่ายค่าปรับ ก.ล.ต. ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาล 18 คดี ในฐานความผิด เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์ โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และการสร้างราคาหลักทรัพย์ โดยมี 5 คดี ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และอีก 5 คดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาแล้ว ซึ่งทั้ง 10 คดีศาลได้พิพากษาให้ ก.ล.ต. ชนะคดี โดยลงโทษและกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งจำเลยในอัตราสูงสุด

และอีก 8 คดี อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น

คดีที่นำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในความผิดการใช้ข้อมูลภายใน และความผิดการปั่นหุ้นนั้น ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 แห่งนี้ ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษทางอาญาร้ายแรง เพียงแต่คดีเงียบหายไป 5-6 ปีแล้ว หลังจากเรื่องถูกส่งไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ

คดีหุ้นดังที่เงียบหาย มี 3 คดีใหญ่คือ คดีบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC คดี บริษัท เอ็นเนอร์นยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH และคดีบริษัท โพลารีส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR

ผู้บริหาร IFEC ถูก ก.ล.ต.กลาวโทษหลายข้อหา โดยเฉพาะการทุจริตในบริษัท และเป็นต้นเหตุที่ทำให้บริษัทล่มสลายกลายเป็นซาก ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์เปิดให้ซื้อขายหุ้น IFEC ก่อนเพิกถอนการเป็นบริษัทจดทะเบียนในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้

ราคาหุ้น IFEC ซื้อขายกันในราคาเพียง 2-3 สตางค์เท่านั้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 19,837 ราย ทุกคนต้องหมดตัว แต่ตัวการร้ายที่สร้างหายนะให้ประชาชนผู้ลงทุนเกือบ 2 หมื่นชีวิตยังลอยนวลอยู่

ผู้บริหาร EARTH ถูก ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง และถูกร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญา โดยเฉพาะการสร้างหนี้เทียมจำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท หุ้น EARTH ถูกตะเพิดพ้นตลาดหุ้นไปแล้ว ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 1 หมื่นชีวิต ต้องหมดตัวจากการหลงเข้าไปลงทุนหุ้นตัวนี้

แต่คดี EARTH เงียบหายไปในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังไม่มีผู้บริหาร EARTH คนใดต้องรับโทษที่ก่อไว้

POLAR เป็นหุ้นอีกตัวที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใสมากมาย เป็นต้นตำรับหุ้นโกง การผ่องถ่าย ไซฟ่อนทรัพย์สินออกจากบริษัทจดทะเบียน ในรูปแบบการซื้อขายทรัพย์สิน โดยเมื่อซื้อทรัพย์สินมักจะวางเงินมัดจำจำนวนมาก และยอมให้ถูกยึด บางรายการถูกยึดมัดจำถึง 350 ล้านบาท

กรรมการ POLAR 5 คน ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษพร้อมพวกรวม 11 คน ในความผิดสร้างหนี้เทียมจำนวน 3.6 พันล้านบาท และเช่นเดียวกัน คดี POLAR ไม่รู้ถูกซุกไว้ที่ไหนในกรมสอบสวนคดีพิเศษ

คดีปั่นหุ้น คดีโกงบริษัทจดทะเบียนกลับมาปลุกกระแสความสนใจสนใจอีกครั้ง หลังคดีหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE คดีมหาโกง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และตบท้ายการทุจริตใน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA

แต่สังคมไม่ควรลืมว่า ยังมีคดีหุ้นที่สร้างหายนะให้นักลงทุนถูกซุกไว้อยู่ 3 คดีดัง IFEC EARTH และ POLAR

จะมีใครไปตามว่า 3 คดีดังในอดีตถูกหมกไว้ตรงไหน เพื่อขุดขึ้นมาดำเนินคดีอย่างจริงจัง โดยไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล

และช่วยให้นักลงทุนที่ต้องเผชิญเคราะห์กรรม หมดตัวจากหุ้น IFEC EARTH และ POLAR ได้รับการเยียวยาด้านจิตใจบ้าง








กำลังโหลดความคิดเห็น