xs
xsm
sm
md
lg

ขุมทองตลาดหลักทรัพย์...ผู้บริหารรวยถ้วนหน้า / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานประจำปีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2565 มีข้อมูลอันน่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับรายได้ของคณะผู้บริหารจำนวน 27 คน ซึ่งมีรายได้รวมกันทั้งสิ้น 287 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 10.6 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 883,333 บาทต่อเดือน

คณะผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ 27 คน ประกอบด้วย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ รองผู้จัดการรวม 8 คน และผู้ช่วยผู้จัดการอีก 18 คน

รายได้เฉลี่ยของคณะผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์คือ 10.6 ล้านบาทต่อปี แต่เบอร์ 1 หรือกรรมการและผู้จัดการคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่โข จนประเมินกันว่า อาจมีรายรับถึงปีละประมาณ 30 ล้านบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย อยู่ในตำแหน่งมากว่า 5 ปี มีรายได้จากตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วประมาณ 150 ล้านบาท ชีวิตหลังเกษียณในปีหน้าคงสุขสบาย ไม่ต้องกังวลปัญหาการเงิน

เทียบฐานรายได้ของคณะผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ 27 คน ต้องถือว่าตลาดหลักทรัพย์เป็นองค์กรที่จ่ายผลตอบแทนสูงเป็นอันดับต้นๆ ขององค์กรทั้งหมดในประเทศไทย ไม่น้อยหน้าบริษัทขนาดใหญ่อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

มาตรฐานรายได้ที่สูงของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ และรวมพนักงานระดับรองลงมา ไม่รู้ว่าถูกกำหนดขึ้นเมื่อไหร่ ใครตั้งฐานรายได้ไว้สูงลิ่ว พิจารณาคุณสมบัติหรือความสามารถกันอย่างไร

วางมาตรฐานความรับผิดชอบการทำงานไว้เข้มข้นขนาดไหน โดยเฉพาะกรรมการและผู้จัดการ

เพราะตลาดหลักทรัพย์ต้องดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน

แต่ตลอด 5 ปีกว่าที่ดำรงตำแหน่ง นายภากรทำงานคุ้มรายได้หรือไม่ ตระหนักในความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้ลงทุนขนาดไหน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจมีระบบการปกครองที่ “เฮี้ยบ” มาก จนกลายเป็นองค์กรที่เงียบมาก ไม่มีเสียงโจมตีการบริหารงานภายในเล็ดลอดออกสู่สังคมภายนอก

ไม่มีเสียงนินทาคณะผู้บริหารจากพนักงานภายในสักแอะ

ภายในองค์กรทุกอย่างดูจะเป็นความลับหมด ไม่ว่ารายได้ของกรรมการและผู้จัดการ โบนัสพนักงาน ซึ่งรู้กันแต่เพียง โบนัสพนักงานตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละปีสูงมาก แต่ไม่สามารถหาคำยืนยันได้ว่า เฉลี่ยคนละกี่เดือน

พนักงานตลาดหลักทรัพย์ทุกรายดูเหมือนจะประเมินได้ว่า อะไรควรพูดหรือไม่ควรพูด ส่วนใหญ่จึงปิดปากเงียบเกี่ยวกับข้อมูลเชิงลบขององค์กรตัวเอง เพราะทุกคนอยู่กันอย่างอิ่มหนำสำราญ

รายได้ดี โบนัสงาม และเป็นองค์กรที่มีความมั่นคงมาก ทำไมจะต้องทุบหม้อข้าวตัวเอง

ปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์มีรายได้ 7,751 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น มีค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน 5,134 บาท มีรายได้สูงกว่ารายจ่ายสุทธิ 1,406 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายรายการใหญ่คือ ค่าใช้จ่ายพนักงาน จำนวน 2,161 ล้านบาท

พนักงานตลาดหลักทรัพย์มีจำนวนทั้งสิ้น 787 คน ถ้าเฉลี่ยจะมีรายได้คนละ 2.74 ล้านบาทต่อปี หรือเดือนละ 2.28 แสนบาท

ตลอดยุคที่นายภากร เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 แทบไม่มีกระแสโจมตีตลาดหลักทรัพย์ ทั้งที่ตลาดหุ้นเกิดปัญหามากมาย ทั้งโปรแกรมเทรด หรือ ROBOT ซึ่งนอกจากมีความได้เปรียบด้านความรวดเร็วในการส่งคำสั่งซื้อขาย และต้นทุนค่านายหน้าที่ต่ำกว่าแล้ว

ยังเล่นนอกกติกา ขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นในมือ หรือ NAKED SHORT

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบนักลงทุน และสร้างธุรกรรมการกู้ยืมบริษัทในเครือ หรือการซื้อทรัพย์สินโดยจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าก้อนโต รวมทั้งการสร้างหนี้เทียม ผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน สร้างความเสียหายให้นักลงทุนนับแสนๆ ราย

แต่แทบไม่มีข่าววิพากษ์การทำงานของนายภากร ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นผลการจัดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์สนับสนุนสื่อหรือไม่ และใช้งบฟาดไปที่สื่อจำนวนเท่าใด จนสื่อที่เกี่ยวกับตลาดหุ้นอาจเกรงใจ ละเว้นหรือเลี่ยงการเสนอข่าวลบของนายภากร

งบปี 2565 ของตลาดหลักทรัพย์มีเพียงการระบุค่าการตลาดจำนวน 167 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายรวม ไม่ได้แยกแยะว่าจ่ายให้สื่อใดไปรายละเท่าไหร่

นายภากร เพิ่งจะถูกสื่อรุมกระหน่ำ วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน โจมตีการบริหารงานที่ล้มเหลว หลังเกิดคดีการแต่งบัญชี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และต่อเนื่องมาถึงปัญหา SHORT SELL NAKED SHORT และ ROBOT

กว่า 5 ปีที่นายภากร ทำงานอย่างสบาย เก็บตัวเงียบ ไม่เป็นข่าวเป็นคราวมากนัก ไม่มีใครรื้อค้นประเมินผลงาน แต่ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เก้าอี้นายภากร ร้อนฉ่า กระแสการโจมตีพุ่งเข้าใส่จนไม่ได้ตั้งตัว จนไม่รู้ว่าจะทนหรือต้านทานกับแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามาทุกด้านได้หรือไม่

แต่การตั้งทีมงานพิเศษตรวจสอบ NAKED SHORT การสอดส่อง ROBOT ที่เข้มข้นขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า นายภากร ได้ปรับทัศนคติและมองมองการทำงานให้แล้ว หลังยืนโต้กระแสทวน ยันไม่มี NAKED SHORT มาประมาณ 3 สัปดาห์

ถ้านายภากร ยินยอมรับฟังเสียงเรียกร้องของนักลงทุนตั้งแต่แรก รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คงไม่ต้องวุ่นวายลงมาไล่เฉ่งตลาดหลักทรัพย์

อีกไม่กี่เดือนจะเกษียณอายุแล้ว ช่วงเวลาสุดท้ายในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ นายภากร ยังมีโอกาสเรียกศรัทธาที่หล่นเรี่ยราดมาตลอด 5 ปีกว่า จนไม่เหลือศรัทธาจากนักลงทุน

การปรับทัศนคติการทำงาน การตระหนักในบทบาทหน้าที่และภาระรับผิดชอบต่อประชาชนผู้ลงทุน จะช่วยการทำงานในวาระสุดท้ายของนายภากร มีความสนุก และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ

เพราะได้ทุ่มเททำงานเพื่อส่วนรวมจริงๆ สมกับเป็นกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ที่มีรายได้สูงลิบเสียที








กำลังโหลดความคิดเห็น