xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโปง "ตัวเอ้" บจ. จุดชนวน FORCE SELL / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตการบังคับขายหุ้น หรือ FORCE SELL แม้คลี่คลายลงไปแล้ว แต่ปัญหายังไม่จบเสียทีเดียว เพราะผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนที่นำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น หรือมาร์จิ้นกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนตกอยู่ในความเสี่ยง

หุ้นที่ดิ่งลงเหวตกติดฟลอร์ 30% หลายวันติด จนผู้ถือหุ้นรายย่อยขาดทุนป่นปี้ เกิดจากการ FORCE SELL ของผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน ซึ่งแอบนำหุ้นไปจำนำเพื่อขอมาร์จิ้นมาเล่นหุ้น

เมื่อราคาหุ้นปรับตัวถึงจุดหนึ่ง ถ้าผู้ขอมาร์จิ้นไม่มีหลักทรัพย์วางเพิ่ม หุ้นจะถูกบังคับขาย ฉุดให้ราคาหุ้นทรุดฮวบ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับหุ้นนับสิบๆ บริษัท

การ FORC SELL เกิดขึ้น 2 กรณีคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนไม่มีหลักทรัพย์ที่จะวางค้ำประกันเพิ่มจริงๆ แต่อีกกรณี ผู้ถือหุ้นใหญ่จงใจให้ถูก FORCE SELL โดยไม่ยอมนำหลักทรัพย์ไปวางเพิ่ม แม้จะมีหลักทรัพย์อยู่ก็ตาม

เพราะได้ขายหุ้นในราคาสูงไปก่อนหน้า แต่รอจังหวะซื้อหุ้นคืนในราคาต่ำๆ เมื่อหุ้นถูก FORCE SELL

บริษัทจดทะเบียนที่มีสัดส่วนการนำหุ้นไปค้ำประกันมาร์จิ้นสูงจึงมีความเสี่ยง เพราะถ้าถูก FORCE SELL จะมีหุ้นจำนวนมากที่ถูกบังคับขาย กดให้ราคาหุ้นรูดลงแรงต่อเนื่อง จนติดฟลอร์ 2-3 วัน

นักลงทุนจึงต้องหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีสัดส่วนการขอเปิดบัญชีมาร์จิ้นสูงๆ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มีข้อมูลให้ตรวจสอบได้ว่าหุ้นตัวไหนขอมาร์จิ้นในสัดส่วนเท่าไหร่ โดยรายงานข้อมูลบัญชีมาร์จิ้นหุ้นรายตัวเดือนต่อเดือน เพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

เพียงแต่ข้อมูลบัญชีมาร์จิ้นหุ้นรายตัวที่รายงาน แจ้งเพียงสัดส่วนหุ้นที่ถูกนำไปวางเป็นหลักทรัพย์คำประกัน สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยในบริษัทจดทะเบียน เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบว่า หุ้นที่ถูกนำไปจำนำมีสัดส่วนเท่าไหร่ของทุนจดทะเบียน เมื่อเทียบกับสัดส่วนการถือหุ้นรวมของผู้ถือหุ้นรายย่อย

เพราะถ้าสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยต่อทุนจดทะเบียนต่ำ แต่มีสัดส่วนหุ้นที่นำไปจำนำสูง จะสะท้อนให้เห็นว่าหุ้นที่ถูกนำไปวางค้ำประกันมาร์จิ้น น่าจะเป็นหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์กำลังเตรียมขยายการเปิดเผยข้อมูลการนำหุ้นไปค้ำประกันมาร์จิ้น โดยกำหนดให้ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนต้องรายงานการนำหุ้นไปวางค้ำประกันมาร์จิ้น แจ้งว่านำหุ้นไปจำนำจำนวนเท่าใด สัดส่วนเท่าไหร่ของทุนจดทะเบียน เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาก่อนตัดสินใจการลงทุนหุ้นแต่ละบริษัท

การกำหนดให้ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ แจ้งข้อมูลการนำหุ้นวางค้ำมาร์จิ้น จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนโดยตรง เพราะมีข้อมูลที่ครบถ้วนในการพิจารณาลงทุนหุ้นแต่ละบริษัท ทั้งสัดส่วนหุ้นที่นำไปวางค้ำประกันมาร์จิ้น และตัวบุคคลที่นำหุ้นไปวางค้ำ โดยเฉพาะผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้น

คงไม่มีนักลงทุนคนใดอยากลงทุนหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นบริษัทลงมาเล่นหุ้นแข่งกับนักลงทุนทั่วไป

เพราะผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้นได้เปรียบทุกประตูอยู่แล้ว มีทั้งข้อมูลวงใน มีทั้งการสร้างข่าวกระตุ้นราคาหุ้น และมีสายป่านที่ยาวกว่า ซึ่งนักลงทุนรายย่อยไม่มีวันสู้เจ้ามือได้

ถ้ารู้ว่าหุ้นตัวใดมียอดขอมาร์จิ้นสูง รู้ว่าผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนใดเปิดมาร์จิ้นเล่นหุ้น คงจะเผ่นหนีกันเป็นแถว

FORCE SELL จุดชนวนวิกฤตในหุ้นบริษัทจดทะเบียนหลายสิบแห่ง โดยผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นตัวการ โดยนักลงทุนรายย่อยกลายเป็นผู้รับเคราะห์

ตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดโปงให้หมดว่า ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนแห่งใดนำหุ้นไปวางค้ำมาร์จิ้น

ขอเงินกู้เพื่อเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น แย่งอาชีพนักลงทุนโดยไม่ละอายแก่ใจ








กำลังโหลดความคิดเห็น