xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าของหุ้นตัวร้าย...จงใจถูก FORCE SELL / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การบังคับขายหุ้น หรือ FORCE SELL กำลังเป็นวิกฤตระรอกใหม่ ซึ่งถล่มหุ้นนับสิบๆ บริษัท ราคาร่วงลงไปกองกับพื้น แต่ตัวการสำคัญที่ก่อชนวน FORCE SELL กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของหุ้นเสียเอง

ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น หรือเจ้าของหุ้นจำนวนมากประสบปัญหาสภาพคล่อง เงินขาดมือ หรือต้องการหาเงินพยุงราคาหุ้นตัวเอง จึงเสนอขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทที่ให้บริการปล่อยเงินกู้ โดยนำหุ้นวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

แม้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะสูง ระดับ 12% ต่อปีหรือมากกว่า แต่เจ้าของหุ้นพร้อมสู้ราคา ยอมนำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยมูลค่าหุ้นอาจถูกประเมินราคาเพียง 20% หรือ 30% จากราคาที่ซื้อขายในกระดาน

ปัญหาการถูก FORCE SELL เกิดจากราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำ ซึ่งมีผลต่อมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ บริษัทหลักทรัพย์ หรือสถาบันการเงินและบริษัทผู้ปล่อยกู้ จึงเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม หรือ CALL MARGIN

ถ้าเจ้าของหุ้นไม่สามารถนำหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกันเพิ่ม ผู้ปล่อยกู้จะป้องกันความเสี่ยงของตัวเองโดยการนำหุ้นออกขาย หรือการบังคับขาย ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาการกู้

เจ้าของหุ้นส่วนหนึ่งไม่ต้องการถูก FORCE SELL ไม่อยากถูกบังคับขาย แต่ตกอยู่ในภาวะจำยอม เพราะไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาวางค้ำประกันเพิ่มได้

แต่เจ้าของหุ้นหลายรายไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ได้ทุกข์ร้อนกับการถูกบังคับขาย และยินยอมพร้อมใจสำหรับการถูก FORCE SELL

เจ้าของหุ้นจำนวนมากนำหุ้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น และนำเงินมาซื้อขายหรือเล่นหุ้นตัวเอง โดยบางรายนำเงินมาร์จิ้นไปใช้ปั่นราคาหุ้น โดยอาจมีนอมินี หรือนักลงทุนขาใหญ่ร่วมขบวนการปั่น

แม้ไม่มีกฎข้อห้าม ไม่ให้ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนเล่นหุ้นหรือซื้อขายหุ้นตัวเอง แต่โดยหลักการแล้ว เจ้าของหุ้นไม่ควรเล่นหุ้นตัวเอง และควรมุ่งมั่นทุ่มเทการบริหารงาน เพื่อสร้างผลประกอบการบริษัทให้เติบโต เพื่อนำผลตอบแทนที่ดีสู่ผู้ถือหุ้น

แต่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนมักอดไม่ได้กับโอกาสในการสร้างความมั่นคั่งจากราคาหุ้น เพราะมีช่องทางที่เปิดกว้าง และมีความได้เปรียบกว่านักลงทุนทั่วไป โดยมีข้อมูลภายในอยู่ในมือ รู้ว่าบริษัทมีกำไรดีหรือไม่ หรืออาจจะสร้างข่าว เช่น การขยายการลงทุน หรือข่าวแนวโน้มการดำเนินงานเพื่อกระตุ้นราคาหุ้น

ในช่วงที่หุ้นมีความคักคัก ราคาถูกลากขึ้นไปสูงๆ ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนจะทยอยเทขายหุ้นโกยกำไรอย่างเงียบ โดยไม่ต้องรายงานการจำหน่ายหุ้น เพราะขายหุ้นจากนอมินีที่ถือหุ้นแทนไว้

เมื่อขายหุ้นในราคาสูง โกยกำไรไปเรียบร้อย ถ้าหุ้นเกิดความผันผวน ราคาหุ้นทรุดฮวบลงมา และถูก CALL MARGIN เจ้าของหุ้นจะไม่นำหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกันเพิ่ม ทั้งที่มีทรัพย์สินที่จะวางเป็นหลักประกันเพิ่มได้ โดยยอมให้ถูก FORCE SELL

แต่ออกมาตีหน้าเศร้า ทำทีเป็นเสียใจหรือเสียดายที่ถูก FORCE SELL โดยอ้างความจำเป็นบีบบังคับ

ไม่อาจระบุได้ว่า มีหุ้นตัวไหนบ้างที่เจ้าของหุ้นยินดีที่ถูก FORCE SELL เพื่อสร้างภาพให้เห็นว่า แม้เจ้าของหุ้นยังได้รับผลกระทบ เสียหายย่อยยับกับราคาหุ้นที่ทรุดฮวบ และถูกซ้ำเติมจากการ FORCE SELL

แต่น่าจะมีหุ้นหลายตัวที่มีการแสดงละครบทเศร้า หลอกนักลงทุนทั้งที่วิกฤต FORCE SELL ตัวการสำคัญที่ก่อชนวนเกิดจากเจ้าของหุ้น ซึ่งเทขายหุ้นโกยกำไรไปก่อนหน้าแล้ว

ในตลาดหุ้นมักมีนวนิยายน้ำเน่าที่ชั่วร้าย สร้างภาพหลอกนักลงทุนรายย่อยตลอด FORCE SELL เป็นนวนิยายน้ำเน่าอีกบท ที่เจ้าของหุ้นเป็นผู้กำกับ และตักตวงเงินจากส่วนต่างราคาหุ้นไปมากมาย

ปล่อยให้นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้รับกรรมจากแรงขาย FORCE SELL








กำลังโหลดความคิดเห็น