xs
xsm
sm
md
lg

YGG...หุ้น "โคม่า" ตัวล่าสุด / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงนี้มีหุ้นรายตัวที่กำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ ถูกบังคับขายหรือ FORCE SELL จนราคาหุ้นทรุดฮวบ สร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 10 ปีกันเป็นว่าเล่น และหุ้นที่อยู่ในอาการน่าเป็นห่วงตัวล่าสุดคือ หุ้นบริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG

หุ้น YGG ถูกถล่มขายอย่างหนักตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนราคาทารุดฮวบต่อเนื่อง จากราคาปิดที่ 6.50 บาท เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ลงมาปิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ 1.73 บาท ลดลง 4.77 บาท หรือลดลง 73.38% และมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับตัวลงอีก

เพราะการซื้อขายในวันที่ 3 กรกฎาคม ระหว่างชั่วโมงซื้อขาย มีการตั้งราคาเสนอขายที่ราคา 1.74 บาทถึงกว่า 200 ล้านหุ้น หรือประมาณ 40% ของทุนจดทะเบียน โดยไม่มีการเสนอราคาซื้อ

และเมื่อปิดการซื้อขายยังมีรายการเสนอขายหุ้นในราคา 1.74 บาท ค้างอยู่กว่า 196 ล้านหุ้น หรือประมาณ 30% ของทุนจดทะเบียน ขณะที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นมีเพียง 13.40 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่าเพียง 23.25 ล้านบาทเท่านั้น

ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน ถึง 3 กรกฎาคม ตลาดหลักทรัพย์ได้สอบถามถึงพัฒนาการใดๆ ของบริษัทที่มีผลต่อราคาหุ้น ซึ่ง YGG ชี้แจงกลับมาว่า บริษัทไม่มีพัฒนาการใดๆ

YGG ดำเนินธุรกิจออกแบบและจัดทำคอมพิวเตอร์กราฟิกเกี่ยวกับงานโฆษณา ภาพยนตร์ และเกม นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 หลังนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนเป็นครั้งแรกในราคาหุ้นละ 5 บาท จากพาร์ 50 สตางค์

เข้าตลาดหุ้นช่วงแรก YGG ทำท่าจะเป็นหุ้นอนาคตดี ราคาปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สามารถจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอหลายปี ขณะที่ผลประกอบการมีกำไร โดยปี 2564 มีกำไรสุทธิ 112.05 ล้านบาท ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 122.13 ล้านบาท

ปี 2566 กำไรลดลงเหลือ 69.47 ล้านบาท และไตรมาสแรกปี 2567 มีกำไรสุทธิ 30.96 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 31.51 ล้านบาท

ผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ไม่ได้แย่เสียทีเดียว และราคาหุ้นในช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกไม่ได้ผันผวนรุนแรง แต่หุ้น YGG เพิ่งร่วงหนักตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับผลประกอบการไตรมาส 2 ที่จะประกาศในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าหรือไม่

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 อาจทรุดลง และเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการเทขายหุ้นล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ดิ่งลงแรง และติดฟลอร์ 30% 2 วันซ้อน น่าจะเกิดจากการ FORCE SELL เช่นเดียวกับหุ้นอีกหลายตัว และหุ้น YGG ที่นำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น หรือมาร์จิ้นมีสัดส่วนที่สูงมาก คือมากกว่า 54% ของทุนจดทะเบียน

หุ้นที่นำไปวางมาร์จิ้น เมื่อถูก Margin Call หรือถูกเรียกวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม เมื่อผู้กู้ไม่สามารถนำหลักทรัพย์วางค้ำประกันเพิ่มได้จะถูกโบรกเกอร์บังคับขายหุ้นทันที

หุ้น YGG ที่ติดฟลอร์ 2 วัน คงเกิดจากการ FORCE SELL มีแนวโน้มว่าการ FORCE SELL จะดำเนินต่อไป ซึ่งหมายถึงหุ้น YGG จะทรุดหนักต่อ

โครงสร้างผู้ถือหุ้น YGG มีนายธนัช จุวิวัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 41.14% ของทุนจดทะเบียน มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 6,844 ราย ถือหุ้นรวมกันสัดส่วน 51.13% ของทุนจดทะเบียน

หุ้นที่นำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมาร์จิ้น ส่วนใหญ่น่าจะเป็นหุ้นของนายธนัช ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการ FORCE SELL แต่ผู้ที่รับเคราะห์จากราคาหุ้นที่ดิ่งลงเหวลึกคือ ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนเกือบ 7 พันราย

แรงขาย FORCE SELL เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ยังค้างอยู่ในกระดานอีกนับร้อยล้านหุ้น และในสถานการณ์หุ้นที่อยู่ในช่วงขาลงเต็มตัว แรงขายดุจกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว คงไม่มีนักลงทุนอยากเข้าไปเสี่ยง ช้อนหุ้นหุ้นสักเท่าไหร่

YGG จึงเป็นหุ้นที่อยู่ในช่วงโคม่า ไม่อาจหยั่งได้ว่า ราคารอบนี้จะลงลึกไปสุดกู่ที่จุดไหน

(พรุ่งนี้อ่าน เบื้องหลังการ FORCE SELL ถล่มราคาหุ้นป่นปี้ เจ้าของ บจ. เต็มใจถูกบังคับขาย)








กำลังโหลดความคิดเห็น