บล.บัวหลวงลุ้น บจ.แจ้งผลงานไตรมาสแรกสดใส ดูดนักลงทุนกลับ หนุนตลาดหุ้นดีด ขณะเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มทางเลือกหลากหลายในการลงทุน พร้อมดึงนักลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง หนุนปริมาณลูกค้าหวนคืน หลังหายไปค่อนข้างมาก เหตุดัชนีหุ้นตกทำให้นักลงทุนเมิน เชื่อดัชนีผ่านจุดต่ำสุด
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS เปิดเผยว่า บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ได้รับผลกระทบจากมูลค่าซื้อขายหรือวอลุ่มการเทรดในตลาดหุ้นไทยตกต่ำลงจากก่อนหน้านี้มาก โดยเฉพาะครึ่งหลังปี 66 ที่ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้มูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ย 3-4 พันล้าน
ทั้งนี้ เพราะตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนอย่างมาก แต่คาดไตรมาส 2 หลายปัจจัยกดดันหรือกระทบตลาดหุ้นไทยจะเริ่มเบาบางลง ส่วนหนึ่งเพราะมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่เดือนพฤษภาคมนี้รัฐเริ่มมีการเบิกจ่ายงบประมาณออกมาใช้จ่าย อีกทั้งความชัดเจนของดิจิทัลวอลเล็ต ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ปลายปีนี้
ขณะความผันผวนของตลาดหุ้นส่งผลให้ลูกค้าของ BLS ลดลงมาก จากต้นปี 66 อยู่ที่ 150,000 ราย/เดือน เหลือเพียง 680,000 บัญชีเท่านั้น เพราะตลาดไม่น่าสนใจ ดังนั้น ทาง BLS จึงต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่าง "BLS Top Fund Port" ที่ BLS เป็นตัวแทนเพื่อเลือกลงทุนและบริหารหรือรีบาลานซ์ตามภาวะตลาด ถือว่าตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี ซึ่ง BLS เปิดตั้งแต่ปี 66 ทำให้ขณะนี้มีลูกค้ากลุ่มนี้ 600 คน และมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) เกือบ 700 ล้านบาท
อีกทั้งมีการลงทุนใหม่อย่าง DCA MIX ที่เลือกลงทุน DR ของ BLS ซึ่งมีอยู่ 10 ตัว เป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะ DR นี้อ้างอิงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และใช้เงินลงทุนเดือนละ 5 พันบาท สุดท้ายคือหุ้นกู้อนุพันธ์ ซึ่งเริ่มเมื่อต้นปีที่แล้ว เจาะกลุ่ม High Networth และผลตอบรับดีมากเพราะเติบโตได้ดีมาก เนื่องจากตลาดหุ้นขาลง ทำให้กลุ่มนักลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาให้ความสนใจเพราะให้ผลตอบแทนดีคือปีละ 11%
“ปัจจุบัน เรามีส่วนแบ่งตลาดนี้ 10-15% และคิดว่าเดินหน้าเจาะตลาดลูกค้าที่เคยลงทุนกับเรา ดังนั้น ปีนี้ BLS จะรุกขยายหุ้นกู้อนุพันธ์ เพราะมีฐานลูกค้าที่เคยลงทุนหุ้นกู้ด้วยกันมาแล้ว”
สำหรับดัชนีหุ้นไทยนั้น BLS มองว่าปัจจัยลบน่าจะนิ่งแล้ว ราคาน้ำมันถ้าหากไม่มีความรุนแรงของสงครามก็จะทรงตัว ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลง และคาดว่าปลายไตรมาส 3 จะเห็นภาพของตลาดต่างประเทศ ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านหากไม่รุนแรงเชื่อว่าไม่น่าจะหลุด 1 ,300 จุด ขณะคาดดัชนีไตรมาส 2 แกว่งกรอบ 1,330-1,430 จุด
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะมากดดันต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยคือการประกาศงบการเงินไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มทยอยประกาศออกมาแล้ว ซึ่งกลุ่มแบงก์พาณิชย์ที่แจ้งผลประกอบการออกมา ซึ่ง 5 แบงก์ใหญ่กำไรยังคงเติบโต ส่งผลทั้งกลุ่มมีกำไรไรสุทธิรวม 63,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,230 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.35% เมื่อเทียบกับกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 60,276 ล้านบาท
“ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีหุ้นไทยคืองบประมาณจะเบิกจ่ายเดือนหน้า วอลเล็ตเริ่มมีความชัดเจน และดอกเบี้ยอาจลดลง คาดว่า ส่วนที่จะกดดันดัชนีคือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน เพราะถ้าส่วนใหญ่ลดลง จะดึงฉุดดัชนีให้ต่ำหรือลดลงได้เช่นกัน แต่ถ้าสดใสจะทำให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นจากเดิม”